efinancethai

ESG Story

บางจากฯ มุ่งดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG บนเส้นทางการเติบโตสู่ทศวรรษที่ 5

บางจากฯ มุ่งดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG บนเส้นทางการเติบโตสู่ทศวรรษที่ 5

 

นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ได้มาแบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อโลกยั่งยืน การเป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลธุรกิจที่ดี (ESG) มาตลอด 40 ปี

 

* นิยามของคำว่า ESG ในมุมมองของบางจาก

ESG เป็นหนึ่งในเรื่องของสมดุลที่กลุ่มบางจากให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลมาโดยตลอด เราเริ่มด้วยธุรกิจปิโตรเลียม ในธุรกิจโรงกลั่น ต่อด้วยธุรกิจการตลาด ค้าน้ำมัน วันนี้ เราสร้างสมดุลในธุรกิจของเราด้วยการเพิ่มธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมสีเขียว เป็นนวัตกรรมพลังงานใหม่ๆ ไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับความท้าทายทางพลังงาน 3 ประการ (Energy Trilemma)คือ 

 

เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) อย่างการไปซื้อกิจการเอสโซ่ จากเอ็กซอนโมบิล วันนี้ได้สถานีบริการ (ปั๊ม) ที่เคยเป็นของเอ็กซอนโมบิล ก็กลายเป็นปั๊มบางจากมีเครือข่ายมากกว่า 2,000 กว่าปั้ม มีโรงกลั่นเพิ่ม เป็นโรงกลั่นระดับโลก 2 โรง ที่พระโขนง และศรีราชา 

 

ขณะเดียวกัน ดูแลเรื่องการเข้าถึงพลังงาน (Energy Affordability) การที่มีปั๊มเพิ่มขึ้นทำให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคสามารถเข้าถึงพลังงาน เข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบางจากได้ใกล้ตัวขึ้น ดูแลช่วงตึงราคาไม่ให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนมาก

 

และที่สำคัญ การดูแลความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) เป็นสิ่งที่บางจากทำมาตลอด 40 ปี วันนี้ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 เราให้ความสำคัญเรื่องสมดุล เรื่อง ESG ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และการดูแลกิจการที่ดี เหมือนอยู่ใน DNA ของบางจากมาตั้งแต่ต้น ที่ร่วมพัฒนานวัตกรรมธุรกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

* ESG มีความหมายและความสำคัญต่อบริษัท

ESG มีความสำคัญแน่นอน บางจากมีภาระกิจในการรับผิดชอบดูแลด้านพลังงงานของประเทศ ขณะเดียวกันก็ดูแลปากท้องประชาชน ทำควบคู่ขนานกันมาตลอด ทำให้ ESG ฝังอยู่ในองค์กร พนักงานของเราเป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต้องนึกถึงคนรอบข้าง นึกถึงชุมชน คิดถึงสิ่งแวดล้อมเสมอ เรื่อง CSR อยู่ในจริตอยู่ในสายเลือด และยังอยู่ต่อไปควบคู่กับการทำธุรกิจ

 

* ธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (SAF) โครงการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น

บางจากตั้งเป้าจะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 73 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 93 เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างท้าทายที่จะไปให้ถึง ซึ่งต้องมีวิธีการ ทั้งพยายามลดการปล่อยคาร์บอนจากการทำธุรกิจให้มากที่สุด การปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือการดูแลการดูดซับทางธรรมชาติ

 

โครงการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ ธุรกิจผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน จากน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร (SAF) ช่วยธุรกิจการบินสามารถช่วยลดคาร์บอนได้ ตอนนี้กำลังก่อสร้างอยู่ในหน่วยกลั่นพระโขนง คาดแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.68 ถ้าผลิตได้ก็จะตอบโจทย์ บินอย่างไรให้ยั่งยืนขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน ถือเป็นโครงการที่สำคัญมาก

 

* เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป้าหมายแรกที่ต้องทำ 

เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ถือเป็นเป้าหมายแรก ก่อนที่จะไปถึงเป้า Net Zero เช่น เราปล่อยคาร์บอนออกไปเท่าไร เราจะพยายามชดเชยเพื่อให้เป็นกลางหรือเป็นศูนย์  โดยมีการประเมินว่าคนไทยมีการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 4-5 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อคนต่อปี ในบางจากพยายามรณรงค์ ถ้ารู้ว่าปล่อยคาร์บอนออกไปเท่าไร ก็พยายามลด ตรงไหนจะควบคุม จะลดได้ ที่เหลือค่อยชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต เพื่อให้คาร์บอนเป็นศูนย์ หรือเป็นกลางทางคาร์บอน

 

* ความท้าทายของบางจากในการนำแนวทางปฏิบัติ ESG มาใช้

ในฐานะองค์กรใหญ่ การที่จะไปสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน หรือไปถึงเป้าหมาย Net Zero ต้องมีการนำไปใช้ มีการวางแผน มีแนวทางปฏิบัติให้พนักงาน ต้องสื่อสารให้เข้าใจ ให้ความรู้ เพื่อทุกคนจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางครั้งนี้ เรื่องสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนมีหน้าที่ที่จะนำพาองค์กรไปเป็นสิ่งสำคัญ

 

โดยภายในองค์กร บางจากมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่อง ให้พนักงานมีพฤติกรรมด้านลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการบันทึกพฤติกรรมด้าน Climate Action เช่น การลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง การคัดแยกขยะไปรีไซเคิล การใช้บริการรถสาธารณะ หรือลดการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน คือสร้างความตระหนักรู้ภายในองค์กรก่อน

 

* โครงการหรือแคมเปญที่ประสบความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับ ESG ของบางจาก

บางจากเอา ESG เข้ามาเป็นธุรกิจ สิ่งที่คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ พูดอยู่เสมอ อย่าให้ ESG เป็นเรื่องของการบริจาคเพียงอย่างเดียว พยายามดูว่ามีแง่มุมอะไรของ ESG ที่จะเป็นธุรกิจได้ ถ้าย้อนไป 30 ปีที่แล้ว บางจากเป็นรายแรก มีการตั้งปั๊มชุมชน เริ่มโครงการน้ำมันแลกข้าว เอาน้ำมันบางจากไปแลกผลิตผลข้าวจากสหกรณ์ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นที่มาของการจัดตั้งปั๊มชุมชนหรือปั๊มสหกรณ์ วันนี้มี 600 กว่าปั๊มทั่วประเทศ

 

จนถึง ธุรกิจอากาศยานเชื้อเพลิงยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (SAF) ในปัจจุบัน หรือแพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie แพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า นำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวยกระดับคุณภาพชีวิตวินมอเตอร์ไซค์

 

* แนวโน้มของ ESG ในอนาคต และการเตรียมความพร้อมของบางจาก

การเตรียมความพร้อม เรามีเส้นทางชัดเจนไปสู่ Net Zero เป็นบริษัทค่อนข้างใหญ่ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการบันทึก มีการรับรอง แต่ที่เป็นห่วงการปรับตัวคือ ธุรกิจ SME มากกว่า ซึ่งบทบาทและหน้าที่ของบางจากยินดีเป็นพี่เลี้ยง ช่วยเหลือให้คำแนะนำ

 

โดยมีเครื่องมือสำคัญ Carbon Markets Club ซึ่งดิฉันเป็นประธาน ตั้งมา 3 ปีแล้ว วันนี้มีสมาชิก 1,100 กว่าราย ทั้งประเภทองค์กรและบุคคล ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความรู้เรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เรามองว่าเป็นสะพานที่จะเชื่อมไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

 

สนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เอาคาร์บอนไปขายแล้วนำเงินไปลงทุนในโครงการที่เป็นพลังงานสีเขียว นวัตกรรมพลังงานสีเขียว เพื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้เร็วขึ้น

 

โดยโฟกัสที่ SME การให้ความรู้ SME เป็นสิ่งที่บางจากตั้งใจไว้ เราพอจะดูแลตัวเองได้ประมาณหนึ่ง มีแผนงานชัดเจนที่ต้องดำเนิน วันนี้ช่วยกันดูแลสังคม พาทุกคนไปด้วยกัน

 

* คำแนะนำสำหรับบริษัทไทยอื่นๆ ที่ต้องการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติ ESG

ก่อนอื่นต้องดูตัวเองก่อน วันนี้เราทำอะไรอยู่ ESG ควรจะอยู่ในองค์กร คือการดูแลตั้งแต่สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับกิจการที่ดี การมีซัพพลายเออร์ที่ซื่อตรง มีพนักงานที่มีความสุข อย่างบางจากให้ความสำคัญกับการดููแลพนักงาน เราจะเป็นองค์กรที่ยั่งยืนมากกว่า 100 ปี  ภายใต้กลยุุทธ์ 100XHappiness เพื่อให้พนักงานทุุกคนมีความสุุข 100 เท่า เบื้องต้นถ้าพนักงานมีความสุข คิดดี ทำดี ESG จะมาเอง อยากให้นึกว่า ESG เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติ แต่ละองค์กรต้องยึดมั่น ปฏิบัติอยู่แล้ว ถ้าทุกคนมี ESG จะเป็นรากฐานของความยั่งยืนได้ 

 

* แหล่งข้อมูล สำหรับบริษัทที่กำลังเริ่มต้นเส้นทาง ESG 

บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการอบรม มีข้อมูลอยู่แล้ว สำหรับบางจาก เรามีจะมี Carbon Markets Club  มีเครื่องมือประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ให้สมาชิกได้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทราบถึงปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกจากภารกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร สามารถวางแผนจัดการในการปล่อย ลด และชดเชยเพื่อไปสู่การตั้งเป้า Net Zero ในอนาคต รวมทั้งมีการแบ่งปันข้อมูลผ่านเวที สัมมนา เสวนา ต่างๆ

 

* ESG ดีต่อโลก ดีต่อใจนักลงทุน

วันนี้นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญมากเรื่อง ESG เป็นหลักสำคัญในการทำงาน ต้องดึงออกมาให้เห็นชัด อยู่ที่การสื่อสาร การทำจริง ที่สำคัญก่อนสื่อสารได้ต้องเกิดขึ้นจริงก่อน เพราะวันนี้ทุกคนให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ซึ่งเชื่อมั่นว่าทุกบริษัทมี ESG แต่อาจจะยังไม่ดึงออกมาเป็นหมวดหมู่ เป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความเชื่อถือ ถ้าทุกบริษัทมี ESG เราจะมีบริษัทที่มีน่าเชื่อถืออยู่ใน Ecosystem ด้วยกัน และในภาพรวมประเทศไทยก็จะได้รับความเชื่อถือ ไม่เฉพาะจากนักลงทุนแต่จากสังคมโลกด้วย







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ