สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้การกำกับของ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เห็นว่า การที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว อย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนโยบายของรัฐบาลไทย
ที่ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ สกสว. ในฐานะหน่วยงานกลางของประเทศที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้กำหนดประเด็นด้าน carbon neutrality ขึ้นเป็น 1 ใน 15 แผนงานสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีผ่านการทำงานร่วมกัน
“จากแนวทางดังกล่าว สกสว. จึงได้ร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เกิดเป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย สกสว. จะจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีกลยุทธ์เพื่อจัดการประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงให้ความร่วมมือ ในการจัดทำกรอบวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทั้งมิติการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) มิติการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) และมิติการรับมือกับความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and damage) รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศร่วมกัน”
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สกสว. ยินดีให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการ สนับสนุนข้อมูลงานวิจัยและนักวิจัยเพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และการสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ในการกำหนดท่าทีการเจรจาด้านการค้าการลงทุนและพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญภายใต้ความร่วมมือ คือ การร่วมกันสนับสนุนเป้าหมายและเครือข่ายมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) จากการใช้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ องค์ความรู้ นวัตกรรมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยนำไปสู่กิจกรรมและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แท้จริง (Climate Action) และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแผน ววน ภายใต้ความร่วมมือนี้มีระยะเวลาการดำเนินการร่วมกัน 4 ปี ซึ่งคาดว่า ววน. จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น