บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในเครือเซ็นทรัล กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) วันที่ 20 ก.พ. 63 นับเป็นหุ้นไอพีโอที่มีมูลค่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่ามาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอมากกว่า 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นหุ้น IPO กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่าระดมทุนสูงที่สุดทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2550 อีกด้วย
ทีมข่าว "อีไฟแนนซ์ไทย" เจาะลึก 10 เรื่องน่ารู้ของหุ้น CRC จากข้อมูลในแบบไฟลิ่ง มาเพื่อให้นักลงทุนที่มีความสนใจ ศึกษาข้อมูลเตรียมความพร้อมก่อนเข้าลงทุน
1.ผู้นำธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดในไทย
เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้ามายาวนานถึง 70 ปี โดยใช้เครื่องหมายทางการค้าหลักคือ เซ็นทรัล(Central) ผ่านรูปแบบและช่องทางหลากหลาย (Multi-format and Multi-category) ทั้งในประเทศไทย อิตาลี และเวียดนาม
ปัจจุบันเแบ่งธุรกิจหลักเป็น 3 กลุ่ม และมีสัดส่วนรายได้ ณ สิ้น ก.ย.62 ดังนี้
1.กลุ่มแฟชั่น เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และรีนาเชนเต สัดส่วนรายได้ 33.35%
2.กลุ่มฮาร์ดไลน์ เช่น ไทวัสดุ และเพาเวอร์บาย สัดส่วนรายได้ 24.15%
3.กลุ่มฟู้ด เช่น ท็อปส์ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และบิ๊กซี เวียดนาม สัดส่วนรายได้ 41.87%
ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 กลุ่มบริษัทฯ มีร้านค้าในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ค้าปลีกที่สำคัญ ในประเทศไทยจำนวน 1,922 ร้านค้า ครอบคลุม 51 จังหวัด นับเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
สำหรับภายในประเทศเวียดนามมีร้านค้าปลีกทั้งหมด 133 ร้านค้า ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศเวียดนาม และในประเทศอิตาลี มีห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 9 แห่งถือเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 48.1% จากรายงานของ Euromonitor International
2.ราคาไอพีโอ 42 บ. จากช่วงราคาไอพีโอ 40 - 43 บาท/หุ้น ด้วยวิธี Bookbuilding
CRC กำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ 42 บาทต่อหุ้น โดยหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นครั้งนี้กำหนดผ่านการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Bookbuilding) ซึ่งเป็นวิธีการสอบถามปริมาณความต้องการซื้อหุ้นสามัญของนักลงทุนสถาบันในแต่ละระดับราคาโดยการตั้งช่วงราคา (Price Range) ให้นักลงทุนสถาบันแจ้งราคาและจำนวนหุ้นที่จะจองซื้อมายังผู้จัดการการจัดจำหน่ายอยู่ที่ระหว่างราคา 40 – 43 บาทต่อหุ้น และมีอัตราแลกหุ้นจาก ROBINS เป็น CRC เท่ากับ ROBINS 1 หุ้น ต่อ CRC 1.58 หุ้น
ทั้งนี้หากพิจารณากำไรสุทธิหลังรายการปรับปรุง กำไรของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ไตรมาส 4/61 - ไตรมาส 3/62) เท่ากับ 8,630 ล้านบาท หารด้วยจานวนหุ้นสามัญทั้งหมด 6,031,000,000 หุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวน 1,331,000,000 หุ้น และไม่รวมกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 1.43 บาท/หุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) ประมาณ 28.0 - 30.1 เท่า
โดยหากเปรียบเทียบกับอัตราส่วน P/E ของบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะธุรกิจคล้ายคลึงกัน เป็นดังนี้
บริษัท |
ราคาตลาดเฉลี่ย(บ.)* |
อัตราส่วน P/E เฉลี่ย(เท่า) |
บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) |
82 |
34.5 |
บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) |
16.3 |
35.3 |
บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) |
34.7 |
28.2 |
บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) |
17.2 |
37.8 |
เฉลี่ย |
33.9 |
*เฉลี่ยย้อนหลัง 17 มิ.ย.62 - 16 ธ.ค.62
3.ขายไอพีโอทั้งหมด 1,691,000,000 หุ้น รองรับผู้ลงทุนในประเทศ-ต่างประเทศ และผู้ถือหุ้น ROBINS
CRC กำหนดจำนวนเสนอขายหุ้นไอพีโอทั้งหมด 1,691,000,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 67,640,000,000 บาท(หากเสนอขายที่ราคา 40 บาท/หุ้น) และ 72,713,000,000 บาท(หากเสนอขายที่ราคา 43 บาท/หุ้น)
เข้าจดทะเบียนใน SET หมวดพาณิชย์(Commerce) ด้วยเกณฑ์ Profit Test
มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 1 บาท/หุ้น
มูลค่าทางบัญชีที่ 14.3 บาท/หุ้น (คำนวณ ณ วันที่ 30 ก.ย.62)
ที่ปรึกษาทางการเงิน : บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท หลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
อันเดอร์ไรท์ : บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ผู้ซื้อเบื้องต้นในต่างประเทศ(Initial Purchasers) : Morgan Stanley & Co. International plc., Credit Suisse (Singapore) Limited, UBS AG, Singapore Branch
ผู้จัดการการจัดจำหน่ายร่วมในต่างประเทศ : CIMB Investment Bank Berhad, Mizuho Securities Asia Limited, Nomura Singapore Limited, SMBC Nikko Capital Markets Limited
ในจำนวนหุ้นไอพีโอทั้งหมด 1,691,000,000 หุ้นจะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นของ ROBINS จำนวนไม่เกิน 852,618,087 หุ้น (ไม่รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
สัดส่วนเสนอขายหุ้นที่เหลือเป็นดังนี้

4.หลังไอพีโอรายย่อยถือหุ้น 30%
ในจำนวนหุ้นที่เสนอขายไอพีโอทั้งหมด มีหุ้นที่ "Hawthorn Resources Limited" ผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 2 นำออกมาขายด้วยจำนวน 360,000,000 หุ้น ซึ่งหลังจากการไอพีโอทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มขึ้นเป็น 30% ดังนี้

5.นำเงินระดมทุนชำระหนี้-ขยายสาขา
CRC จะนำเงินที่จะได้รับจากการระดมทุนภายหลังจากหักค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนประมาณ 18,536 – 29,665 ล้านบาท (คำนวณจากราคาเสนอขายที่ 40 - 43 บาทต่อหุ้น รวมถึงกรณีที่มีและไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวนหากไม่มีหุ้นเหลือจากการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ ROBINS)ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ดังนี้
-ใช้ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 63 - 64 เป็นเงินทุนในการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงสาขาต่าง ๆ ได้แก่
1.1ขยายสาขาห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์
1.2ขยายสาขาไทวัสดุ
1.3ขยายสาขาบิ๊กซี ในประเทศเวียดนาม
1.4ปรับปรุงสาขาต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ
-ใช้ 8,536 - 19,665 ล้านบาท ภายในปี 63 เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยจะใช้เงินระดมทุนชำระให้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องชำระมีจำนวนประมาณ 21,882 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2562)อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปีโดยชำระเป็นรายเดือน และมีกำหนดชำระคืนไม่เกิน 6 เดือนของตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ (ไม่เกินไตรมาส 2/63)
ทั้งนี้จำนวนเงินที่จะชำระคืนแก่สถาบันการเงินขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ได้รับจากการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนหลังหักค่าธรรมเนียมการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หักลบด้วยเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ
6.ที่ปรึกษาทางการเงินเป็นบริษัทในเครือเจ้าหนี้
ณ วันที่ 30 กันยายน 62 กลุ่มบริษัทฯ มีสัญญาสนับสนุนทางการเงิน (Facility Agreement) กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมเป็นจำนวนประมาณ 13,922. ล้านบาท 41.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 8.0 ล้านริงกิตมาเลเซีย และได้ใช้เงินกู้ดังกล่าวจำนวนประมาณ 6,814 ล้านบาทและ 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยอดหนี้คงเหลือตามสัญญาสนับสนุนทางการเงินดังกล่าวคิดเป็น 13.5% ของยอดหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินทั้งหมดของกลุ่มบริษัทฯ
นอกจากนี้ ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2562 บริษัทฯ ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวมเป็นจำนวนประมาณ 21,882 ล้านบาท ให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.9 ของบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ ในการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปในครั้งนี้
7. D/E อยู่ที่ 1.7 เท่า หนี้ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน
CRC มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น(D/E)ณ สิ้น ก.ย. 62 อยู่ที่ 1.7 เท่า มีหนี้สินรวม 116,220 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการกู้สถาบันการเงิน
งบแสดงฐานะการเงิน ณ 30 ก.ย. 62 ดังนี้
สินทรัพย์รวม 183,216 ลบ.
หนี้สินรวม 116,220 ลบ.
ส่วนของผู้ถือหุ้น 66,996 ลบ.
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) 1.7 เท่า
อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) 4.3%
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 1.7%
8.รายได้โตต่อเนื่อง...แต่กำไรสุทธิผันผวน
ผลการดำเนินงานปี 59 – 9 เดือนปี 62
(หน่วย : ล้านบาท)
ปี |
รายได้ |
กำไรสุทธิ |
อัตรากำไรสุทธิ(%) |
59 |
176,281 |
5,552 |
4.4 |
60 |
187,998 |
4,988 |
4 |
61 |
193,169 |
10,033 |
5.4 |
9M62 |
152,269 |
5,860 |
3.7 |
กำไรสุทธิที่ผันผวนมีสาเหตุมาจาก 1.การเปลี่ยนแปลงของอัตรากำไรขั้นต้น 2.ต้นทุนที่เกิดขึ้นใหม่จากค่าเช่าที่ต้องชำระให้แก่ผู้ให้เช่าทรัพย์สินที่กลุ่มบริษัทฯจำหน่ายออกไปให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องภายใต้การปรับโครงสร้างธุรกิจ แต่กลุ่มบริษัทฯ ยังคงเช่าทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ ต้นทุนดังกล่าวจะปรากฏในงบการเงินตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป และ3.มีกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ภายใต้การปรับโครงสร้างธุรกิจ
9.สัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ติด Silent Period ทั้งหมด
ในการเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ สัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ติด Silent Period ทั้งหมด
10.นโยบายปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
CRC มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินรวมภายหลังจากหักภาษี และการจัดสรรทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและบริษัทฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี โดยเงินปันผลที่จ่ายจะต้องมีจำนวนไม่เกินกว่ากำไรสะสมจากงบเฉพาะกิจการ