บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ผู้นำธุรกิจบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) 16 ธ.ค.นี้
ทีมข่าว "อีไฟแนนซ์ไทย" เจาะลึก 10 เรื่องน่ารู้ของหุ้น BAM จากข้อมูลในแบบไฟลิ่ง มาเพื่อให้นักลงทุนที่มีความสนใจ ศึกษาข้อมูลเตรียมความพร้อมก่อนเข้าลงทุน
1.ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยพิจารณาจากสินทรัพย์รวม (ตามข้อมูลในรายงานภาวะอุตสาหกรรมซึ่งจัดทำโดยอิปซอสส์) ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 โดยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ถือหุ้นโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 99.9% และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ
- ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ดำเนินธุรกิจโดยการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินอื่นในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ โดยสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทฯ รับซื้อหรือรับโอนมาส่วนใหญ่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้จดทะเบียนจำนองลำดับที่หนึ่งแก่บริษัทฯ ณ สิ้น 30 ก.ย.62 มีสินทรัพย์อยู่ที่ 88,195 ล้านบาท
- ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย โดยการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายซึ่งส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินเปล่า (รวมถึงที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม) โรงแรม อาคารเพื่อการพาณิชย์ และที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และอาคารชุด รวมทั้งสังหาริมทรัพย์และหลักทรัพย์อื่น ๆ โดยได้ทรัพย์สินรอการขายมาโดยวิธีการต่างๆ เช่น การเจรจากับลูกหนี้เพื่อโอนหลักประกันหรือโอนทรัพย์ชำระหนี้ การบังคับทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้ และการซื้อทรัพย์สินรอการขายจากสถาบันการเงินอื่นโดยตรง ณ สิ้น 30 ก.ย.62 มีสินทรัพย์อยู่ที่ 30,546 ล้านบาท
2.เคาะราคาไอพีโอที่ 17.50 บาท สูงสุดจากช่วงราคา 15.50 - 17.50 บาท ด้วยวิธี Bookbuilding
BAM กำหนดราคาเสนอขายสามัญ ด้วยวิธีสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Bookbuilding) จากนักลงทุนสถาบันในแต่ละระดับราคา โดยการตั้งช่วงราคา (Price Range) ให้ผู้ลงทุนสถาบันแจ้งราคาและจำนวนหุ้นที่ประสงค์จะจองซื้อมายังผู้จัดการการจัดจำหน่าย โดยสรุปราคาขายที่ 17.50 บาท จากช่วงราคาที่นำมาใช้ทำการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ที่ 15.50 – 17.50 บาทต่อหุ้น
ซึ่งช่วงราคาเสนอขาย คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (P/BV) ที่ 1.53 - 1.73 เท่า คำนวณภายหลังการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจำนวน 13,000 ล้านบาท จากงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 62 (โดยไม่คำนึงถึงการบันทึกรายการภายหลังงบการเงินงวดดังกล่าว บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 1,535 ล้านหุ้น และไม่รวมกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
ทั้งนี้ P/BV ของบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในและต่างประเทศ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 62 เฉลี่ยประมาณ 1.42 เท่า
3.จัดสรรหุ้นให้นักลงทุนสถาบันถึง 73% ของหุ้นไอพีโอทั้งหมด
BAM ขายหุ้นไอพีโอทั้งหมด 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของหุ้นทั้งหมด และมีเงื่อนไขไม่รับประกันการจำหน่าย
มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินรองรับกรณีมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินอีก 230 ล้านหุ้น
มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 5 บาท/หุ้น
มูลค่าทางบัญชีที่ 14.45 บาท/หุ้น (คำนวณ ณ วันที่ 30 ก.ย.62) ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติภายหลังการจ่ายปันผล 13,000 ล้านบาท จะทำให้มูลค่าทางบัญชีลดลงเหลือ 10.14 บาท/หุ้น
ที่ปรึกษาทางการเงิน : บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
ตัวแทนจำหน่ายหุ้น : ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ผู้จัดจำหน่ายหุ้นในต่างประเทศ : UBS AG Hong Kong Branch
สัดส่วนเสนอขายหุ้นเป็นดังนี้
ประเภทผู้ลงทุน |
จำนวนหุ้นที่เสนอขาย |
สัดส่วนที่เสนอขาย |
บุคคลทั่วไป |
414,500,000 หุ้น |
27% |
ผู้ลงทุนสถาบัน |
1,120,500,000 หุ้น |
73% |
4.หลังไอพีโอ BAM จะเสียสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
BAM มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอดังนี้

ซึ่งหลังจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอ สัดส่วนการถือหุ้นของ "กองทุนฟื้นฟู" จะลดลงเหลือ 49.1% (ในกรณีมีกรีนชู) และ 45.6% (ในกรณีไม่มีกรีนชู) โดยสัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ของ BAM ติด Silent Period ทั้งหมด
ทั้งนี้ที่ผ่านมา BAM ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สำคัญ คือ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เก็บอยู่ในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิทางภาษี ดังนั้นหลังจากสัดส่วนถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูต่ำกว่า 95% ของหุ้นทั้งหมด จะทำให้บริษัทเสียสิทธิประโยชน์จากการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว
5.อาจบันทึกสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี เข้ามาหลังเสียสิทธิยกเว้นภาษี
ภายหลังไอพีโอ BAM อาจบันทึกสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีและหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ที่เกิดจากผลแตกต่างชั่วคราวระหว่างมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์และหนี้สินที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงิน กับฐานภาษีของสินทรัพย์และหนี้สิน
โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทฯ คาดว่าบริษัทฯ อาจบันทึกสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีประมาณจำนวน 5,916.1 ล้านบาท และหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีประมาณจำนวน 7.2 ล้านบาท ทั้งนี้มูลค่าสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีและหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีข้างต้นจะเปลี่ยนไปตามผลแตกต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชีและฐานภาษีของสินทรัพย์หรือหนี้สิน และ BAM จะสามารถบันทึกบัญชีได้ ณ วันที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกต่อไป
6.กำไรสุทธิงวด 9 เดือนปี 62 โตกระโดด จากการเก็บรายได้จากลูกหนี้รายใหญ่
ผลการดำเนินงานปี 59 - สิ้น ก.ย.62
ปี |
รายได้ |
กำไรสุทธิ |
อัตรากำไรสุทธิ |
59 |
8,763 |
4,903 |
55.96% |
60 |
7,626 |
4,500 |
59.02% |
61 |
9,751 |
5,202 |
53.35% |
9M62 |
9,206 |
4,882 |
53.03% |
รายได้และกำไรสุทธิที่เติบโตก้าวกระโดดในงวด 9 เดือน ปี 62 มีสาเหตุมาจากรายได้ส่วนกำไรเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยทำไปได้ถึง 6,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 185.81% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
7.เงินระดมทุน ส่วนใหญ่ใช้ชำระหนี้เงินกู้ จากสถาบันการเงิน
BAM ประมาณการว่าจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนในครั้งนี้ หลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์จำนวน 3,954 – 4,502 ล้านบาท (กรณีไม่มีกรีนชู) โดยบริษัทฯ
มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนี้
1.ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต จำนวนเงิน 394 - 449 ล้านบาท ภายในปี 63
2.นำเงินไปใช้ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่ายเพื่อการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย จำนวนเงิน 3,546 - 4,040 ล้านบาท ภายในปี 63
ทั้งนี้ หากผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ (กรีนชู) ทั้งจำนวน คาดจะได้รับเงินระดมทุน 7,447 – 8,448 ล้านบาท ดังนั้น BAM จะนำเงินส่วนเพิ่มเติม 3,503 - 3,955 ล้านบาทไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทต่อไป
8.มี D/E อยู่ที่ 1.79 เท่า
BAM มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น(D/E)ณ สิ้น ก.ย. 62 อยู่ที่ 1.79 เท่า มีสัดส่วนหนี้สินรวม 78,126 ล้านบาท หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัท ได้แก่ ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมประกอบด้วย (ก) ตั๋วเงินจ่าย (ข) เงินกู้ยืม และ (ค) หุ้นกู้ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญที่บริษัทฯ ใช้ในการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย
งบแสดงฐานะการเงิน ณ 30 ก.ย. 62 ดังนี้
สินทรัพย์รวม 121,701 ลบ.
หนี้สินรวม 78,126 ลบ.
ส่วนของผู้ถือหุ้น 43,575 ลบ.
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) 1.79 เท่า
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 15.24%
9.ที่ปรึกษาทางการเงินมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหนี้
ณ วันที่ 30 กันยายน 62 BAM มีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาวกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รวมจำนวน 6,000 ล้านบาท โดยมีอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน และ/หรือรับรองตั๋วแลกเงินคงค้างรวมจำนวน 1,222.9 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 99.9% ของบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัทฯในครั้งนี้
10.ปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
บริษัทฯ มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ ภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย ทั้งนี้ อัตราการจ่ายเงินปันผลขึ้นอยู่กับแผนการลงทุน เงื่อนไขและข้อจำกัดตามที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินหรือสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง