efinancethai

efin Review

กูรู มองเทรนด์ดบ.อย่างไร หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แรงเกินต้าน

กูรู มองเทรนด์ดบ.อย่างไร หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แรงเกินต้าน

          ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า สูงถึง 9.1% ส่งผลให้บรรดากูรูต่างๆ ออกมาคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบเดือน ก.ค. นี้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อชะลอการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่การดำเนินการดังกล่าว ก็จะมีผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) เร็วขึ้นด้วย


          ***FETCO จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง - คาดกนง.ขึ้นดบ. 3 ครั้ง 2%

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) คาดว่าในวันที่ 26-27 ก.ค.นี้จะเป็นการประชุมนัดสำคัญของเฟด เพราะเดิมมีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยระหว่าง 0.50-0.75% แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาล่าสุดทำให้โอกาสที่จะปรับขึ้นเพียง 0.50% ลดลง นอกจากนี้กรรมการเฟดต้องพิจารณาอย่างหนักว่าหากแรงกดดันของเงินเฟ้อยังไม่จบและอัตราการเร่งตัวของเงินเฟ้อยังมีต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ สะท้อนได้จากข้อมูลเงินเฟ้อที่ประกาศออกมา Headline Inflation เดือนล่าสุดยังโตถึง 1.3% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 12 เดือน และ Core Inflation เพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมองว่าเงินเฟ้อที่ดื้อเฟดก็ต้องใส่ยาที่แรงขึ้น จึงทำให้ตลาดคาดการณ์กันว่าระดับ 0.50% คงไม่เกิดแล้ว คงไปที่ระดับ 0.75% และล่าสุดตัวเลข Fed Funds Futures สัดส่วนกว่า 67% คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับ 1.0% แล้ว ซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดภาวะผันผวน

          อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะบริหารจัดการได้ เพราะคาดเงินเฟ้อสหรัฐฯจะพีคสุดในช่วงไตรมาส 3/65 และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคงไม่ปรับตัวสูงไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ดีมานด์ลดลงและประเทศจีนที่ยังเปิดๆปิดๆบางเมืองอยู่ รวมถึงยังพบว่าปริมาณน้ำมันจากประเทศรัสเซียก็ยังส่งออกไปยังประเทศจีนและอินเดียได้อยู่ จึงคาดปลายปีน่าจะเห็นเงินเฟ้อปรับตัวลดลงและเฟดน่าจะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยที่เบาลงตามไปด้วย

          ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยตอนนี้คนกำลังเริ่มประเมินกันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากการประชุมของกนง.ที่เหลืออีกจำนวน 3 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งทาง FETCO มองว่าหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ประกอบกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปเริ่มฟื้นตัว รวมถึงเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่า ธปท. ก็น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือราว 2% และส่งผลให้ปลายปีดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นมาระดับ 2.50% เพื่อให้ดอกเบี้ยไทยเข้าสู่ภาวะสมดุล

          ขณะที่กลยุทธ์การลงทุนในตอนนี้มองว่าการลงทุนไม่ง่าย เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมได้อย่างไรบ้าง จึงแนะนำสำหรับนักลงทุนที่อยากเข้าลงทุนในช่วงนี้ต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง โดยต้องลงทุนด้วยความรู้สึกว่าเรารักเงินต้นและถนอมเงินของตนเองไว้ เพราะจากสถิติทุกครั้งที่เกิดวิกฤตหรือจบสภาวะตลาดหมีในช่วง 6 เดือน ดัชนีฯมักปรับตัวเพิ่มขึ้น 30% และระยะเวลา 12 เดือนนับจากนั้นมักดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น 50% ซึ่งหากเป็นนักลงทุนมองภาพนี้ในใจว่าช่วงที่ตลาดปรับตัวขึ้นต้องมีเงินให้ได้ เพราะฉะนั้นช่วงนี้ก็อย่าเสียเงินไปทั้งหมดหรือต้องเก็บเงินและถนอมตัวไว้บ้าง เพราะเมื่อผ่านช่วงคับขับไปแล้วมันก็จะไปได้

          ***CIMBT อาจเห็นเฟดขึ้นดบ. 1% ด้านไทยขึ้นรอบนี้ 0.25%

          นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่า ภายใน 1-2 เดือนเงินเฟ้อสหรัฐใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.75% เป็น 1% เพราะเฟดจะต้องอัดยาแรง โดยในระยะสั้นที่กังวล คือ หากนโยบายการเงินทั่วโลกหันมาตึงตัวกันมากขึ้น หันมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอ เพราะการบริโภค การลงทุนจะชะลอลง และ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจะเร็วกว่าที่คาด จากเดิมคาดต้นปี 66 จะเป็นปลายปีนี้ ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกและท่องเที่ยว และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอได้

          สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของไทยนั้น มองว่า ในการประชุมเดือน ส.ค. นี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน แต่จะขึ้นเท่าไหร่นั้น ต้องอัดยาแรงหรือไม่คงต้องติดตาม แต่ในการประมาณการของธนาคาร คาดว่าจะขึ้น 0.25% ในรอบนี้ และ จะขึ้นทุกรอบของการประชุมในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งสิ้นปีจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ประมาณ 1.25% เป็นอย่างต่ำ

          ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% จากการเปิดเมือง ส่วนแนวโน้มครึ่งปีแรกคาดว่าจะขยายตัวได้ 2-3% ส่งผลให้ทั้งปีในประมาณการของธนาคารคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.1% แต่อย่างไรก็ตาม จากการเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง จากการท่องเที่ยว และ การส่งออก คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้ แต่ทั้งนี้ จะมีการทบทวนประมาณการอีกครั้ง หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขในช่วงครึ่งปีแรกก่อนในช่วงเดือนส.ค. นี้


          ***ASP เชื่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านจุดพีคแล้ว

          ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเอเซียพลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP มองว่าเงินเฟ้อสหรัฐเดือนมิ.ย.เป็นจุดสูงสุดแล้ว เห็นได้จากเมื่อคืนนี้จะมีนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับลงไม่มากอย่างที่คาด เพราะมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐเดือนถัดไปน่าจะปรับลง อีกปัจจัยที่จะต้องติดตามคือความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากน้อยแค่ไหน ต้องรอดูความเห็นประธานเฟดเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมรอบปลายเดือนนี้

          สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของไทยนั้น มองว่า ในการประชุมเดือน ส.ค. นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแน่นอน ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไร อยู่ที่กนง.จะให้น้ำหนักฝั่งไหนมากกว่ากันระหว่างอัตราการเติบโตของจีดีพี หรืออัตราดอกเบี้ย


          *** KTB เชื่อเฟดขึ้นดบ.รอบนี้แค่ 0.75%- หวั่นไทยเร่งขึ้นอาจกระทบศก.

          นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มองว่า เงินเฟ้อสหรัฐเดือนมิ.ย. 65 ที่พุ่งแตะ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี และ เกินกว่าที่ตลาดคาด จะส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ โดยการประชุมครั้งถัดไปคาดเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าเงินเฟ้อจะสูงก็ตาม

          “ปลายปีนี้ดอกเบี้ยสหรัฐอาจสูงถึง 3% และอาจมากกว่านี้ ซึ่งถ้าหากสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน และ ตลาดหุ้น ” นายพชรพจน์ กล่าว

          สำหรับดอกเบี้ยของไทยคาดว่าในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในเดือนส.ค. นี้ คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นอย่างน้อย และไปเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ที่ 1.5%-1.75% และ ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 0.5%







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh