หลังจาก “กลุ่มแบงก์” ประกาศงบปี 64 ไปแล้ว เห็นได้ว่าสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจหนีไม่พ้น “แผนธุรกิจปี 65” ท่ามกลางความไม่แน่นอน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ และ การแพร่ระบาดโควิด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของ “กลุ่มแบงก์” อย่างปฏิเสธไม่ได้
วันนี้ “สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” ได้รวบรวมเป้าหมายทางการเงินของธนาคารในปี 65 ในส่วนของธนาคารที่ได้ประกาศแผนธุรกิจแล้ว ดังนี้

*** SCB
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB ระบุว่า จากการที่ประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 65 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% โดยธนาคารมีเป้าหมายในการเติบโตของสินเชื่อประมาณ 3-5% ซึ่งมุ่งเน้นในการเติบโตในสินเชื่อที่มีคุณภาพพร้อมกับมีความเสี่ย และ ผลตอบแทนในระดับที่ยอมรับได้ จากนโยบายนี้ และ ผลกระทบจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin หรือ NIM) คาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.9-3% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (non-interest income) คาดจะเติบโตในที่อัตราตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ โดยที่การขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร และ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโต กำไรจากการลงทุนสามารถคาดหวังได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้
จากแรงกดดันทางด้านรายได้ ธนาคารจะยังมุ่งเน้นในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ในขณะที่กิจกรรมต่าง ๆ เริ่มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ธนาคารตั้งเป้าที่จะรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (expense to income ratio) ที่ระดับ 40% ต้นๆ ถึงกลางๆ ตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุกของธนาคารที่เริ่มในช่วงกลางปี 64 และ การจัดชั้นเชิงคุณภาพเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ดำเนินการไปแล้วในช่วง 6 ไตรมาสที่ผ่านมา
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan หรือ NPL) คาดว่าจะไม่เกินกว่า 4% ณ สิ้นปี 65 จากการที่มีตั้งการผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับ ความคืบหน้าในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ
อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อจะลดลงเป็นไม่เกิน 1.4% ในขณะที่ยังคงรักษาระดับอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ประมาณ 130%
*** TTB
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ระบุว่า ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อ 2% นำโดยสินเชื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ และ สินเชื่อ SME ทรงตัว อัตราส่วน NPL จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% จากลูกหนี้ที่ออกจากโครงการบรรเทาหนี้
NIM อยู่ที่ 3.04% จากสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงเพื่อชดเชยต้นทุนเงินทุนที่สูงขึ้น รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) อยู่ที่ 0.8 0.9% ของสินเชื่อรวม ต้นทุนเครดิตคาดอยู่ที่ 140-160bps
ต้นทุนต่อรายได้ที่ 45-47%
นอกจากนี้ ธนาคารจะใช้เงินลงทุนดิจิทัลสำหรับแพลตฟอร์มสินเชื่อเช่าซื้อ (HP) เพื่อสร้างระบบนิเวศ และ จัดตั้งบริษัทในเครือใหม่ เช่น TTB Consumer ซึ่งตั้งเป้าเป็นผู้เล่น 4 อันดับแรกในธุรกิจบัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคล ประกอบกับ ธนาคารมีแผนจะจัดตั้งบริษัทใหม่หรือร่วมทุนกับ AMC อื่น ๆ เพื่อจัดการหนี้เสีย
*** TISCO
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ระบุว่า สินเชื่อเติบโต 4-5% โดยจะเน้นไปที่กลุ่มสินเชื่อ High Yield อย่างสินเชื่อจำนำทะเบียน , สินเชื่อรถยนต์มือสอง และ รถจักรยานยนต์ วางเป้า NPL ไม่ให้เกิน 3.98%
*** CIMBT
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ CIMBT สินเชื่อเติบโต 5-8% โดยเน้น 3 ธุรกิจแกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจรายย่อย ธุรกิจรายใหญ่ และ ธุรกิจบริหารเงิน และคุม NPL ไม่ให้เกิน 3.7%
ส่วน อัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ (Return On Equity หรือ ROE) ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 5.7-7 กำไรก่อนหักภาษี (Profit before tax หรือ PBT) ตั้งเป้าไว้ที่ 3-3.5 พันล้านบาท
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (COST TO INCOME RATIO หรือ CIR) ตั้งเป้าไว้ที่ 55-57% อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อเฉลี่ย (Credit Cost) ตั้งเป้าไว้ที่ 1.2-1.5%
*** KKP
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ระบุว่า สินเชื่อปีนี้วางเป้าเติบโต 12% และ NIM อยู่ที่ 5.1% ส่วน NPL อยู่ที่ 3.3% ต้นทุนสินเชื่อน้อยกว่า 220 bps อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 13%
*** BBL
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BBL ระบุ สินเชื่อเติบโต 3-4% โดยเน้นไปที่สินเชื่อรายใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอียังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด
อย่างไรก็ตาม นี่เพียงบางส่วนที่มีการประกาศแผนธุรกิจปี 65 ซึ่งยังมีอีก 4 ธนาคารที่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดแผนธุรกิจปี 65 ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTB , ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) หรือ BAY และ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG