ปี 64 ยังคงเป็นปีที่แสนสาหัสสำหรับอุตสาหกรรมการบิน หลังจากต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหญ่ จะรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์จำกัดการเดินทางในช่วงไตรมาส 3/64 ที่ผ่านมา
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สายการบินแห่งชาติของไทย เป็นหนึ่งสายการบินที่เผชิญวิกฤตโควิดจนลามเป็นวิกฤตการเงินมาตั้งแต่ปี 63 จนต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในปีนี้ ซึ่งหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจคือการขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อระดมทุน ซึ่งหลายสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือ แม้แต่เครื่องบิน ก็เริ่มถูกนำออกมาขายบ้างแล้ว
ทาง "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย " จึงนำข้อมูลล่าสุดของการบินไทย ที่แถลงแผนฟื้นฟูไปเมื่อ ต้นเดือนพ.ย.ให้ดูว่า หลังจากเข้าแผนฟื้นฟู สายกาบินแห่งชาติ ขายสินทรัพย์อะไรออกไปเพื่อกู้วิกฤต และมีสินทรัพย์อะไรที่เตรียมรอขายอยู่อีกบ้าง

1 .อสังหาริมทรัพย์
ในปีนี้การบินไทยได้ขายอสังหาริมทรัพย์ออกไป 4 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์ฝึกอบรมการบินที่หลักสี่ กทม. ที่ทาง "เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์” เครือ ปตท. ชนะประมูลไปได้ในราคา 1.8 พันล้าน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการขายเสร็จแล้วอีก 3 แห่งเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมาได้แก่ ที่ดิน-อาคารสำนักงานหลานหลวงกทม. และภูเก็ต รวมถึงที่ดินเปล่าในจังหวัดเชียงใหม่
ส่วนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ยังมีอีก 7 แห่งที่การบินไทยประกาศขาย ได้แก่ ที่ดิน - อาคารสำนักงานสีลม ดอนเมือง เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี และขอนแก่น
ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศที่การบินไทยอยู่ระหว่างดำเนินการขาย มีที่ อังกฤษ 2 แห่ง อิตาลี 1 แห่ง ฟิลิปปินส์ 1 แห่ง ฮ่องกง 2 แห่ง สิงคโปร์ 2 แห่ง และอินโดนีเซีย 1 แห่ง
2.หลักทรัพย์
การบินไทยถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทในตลาดหุ้นที่มีบริษัทลูกและถือหุ้นในหลายบริษัท ซึ่งแผนการขายหุ้นเป็นอีกหนึ่งแนวทางตามแผนฟื้นฟูเช่นกัน โดยปีนี้ การบินไทยได้ขายหุ้น บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS จำนวน 113.98 ล้านหุ้น (17.87%) โดยแบ่งเป็นการขายให้ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH 15.52% และให้ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP สัดส่วน 2.352% รวมถึงการขายหุ้น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK อีกจำนวน 163 ล้านหุ้น หรือ 4.3712%
นอกจากนี้การบินไทยยังรอดำเนินการขายหุ้นอีก 6 บริษัทที่ถืออยู่ไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนที่เหลือของ BAFS และ NOK อย่างละ 7.06% และ 8.91% ตามลำดับ นอกนั้นยังมีอีก 4 บริษัทที่การบินไทยถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (ถือหุ้น 30%) บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด (ถือหุ้น 1.25%) บริษัทดอนเมือง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ตโฮเต็ล จำกัด (ถือหุ้น 40%) บริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (ถือหุ้น 0.000255%) และบริษัท เทรดสยาม จำกัด (ถือหุ้น 3.50%)
3.เครื่องบิน/อุปกรณ์
การบินไทยชี้แจงว่า ได้ปรับแผนฝูงบินตามแผนฟื้นฟู โดยปี 64 ได้ปลดระวางเพื่อรอขายเครื่องบิน จำนวน 45 ลำ โดยจะเป็นการขายขาดจำนวน 41 ลำ และขายเพื่อเช่ากลับมาใช้งานอีก 4 ลำ ซึ่งจะทำให้การบินไทยเหลือเครื่องบินใช้งานในปี 64 จำนวน 58 ลำ นอกจากนี้การบินไทยยังได้ขายเครื่องยนต์เครื่องบินที่ไม่ใช้งานไปอีก 5 เครื่อง
4. ธุรกิจอาหาร
Puff & Pie ร้านเบเกอรี่ที่สร้างชื่อให้การบินไทยมาช้านาน ทางการบินไทยก็ได้ประกาศ หามาสเตอร์แฟรนไชส์ และจับมือเป็นพันธมิตรร่วมดำเนินธุรกิจ ซึ่งมาสเตอร์แฟรนไชส์ ผ่านการประมูลเพื่อรับสิทธิ์ไปเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะปิดซองในวันที่ 18 พ.ย.64 ซึ่งล่าสุดยังไม่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการปรับแผนธุรกิจของครัวการบินไทยเช่นกัน