TU หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้แบรนด์อาหารทะเลชั้นนำในหลายตลาดหลัก และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีมูลค่ากิจการเฉียดแสนล้านบาท ในตลาดหุ้นไทย
ทำไม TU ถึงก้าวไปสู่บริษัทระดับโลกได้ และเส้นทางของ TU ในปีนี้จะเป็นอย่างไร วันนี้ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จะมาเล่าให้ฟัง

*** การบริหารที่ยืดหยุด-การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด
บริษัทอยู่ในธุรกิจผู้ผลิตอาหารทะเลมายาวนานกว่า 45 ปีแล้ว การบริหารจัดการธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น ต้องใกล้ชิดกับตลาด ใกล้ชิดลูกค้า เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการ การผลิต
ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย มองว่ามีมาตลอดช่วง 45 ปีที่ทำธุรกิจมา แต่พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกๆ วิกฤต TU ทำค่อนข้างได้ดี และหวังว่าปีนี้จะอีกปีที่ทดสอบความสามารถในการจัดการของเรา เพราะเชื่อว่าอาหาร ก็คืออาหาร จริง ๆ
ปัจจัยท้าทายในแต่ละปี ในแง่ธุรกิจไม่มีปีไหนที่ง่าย ธุรกิจมีแต่ยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการแข่งขันมีตลอดเวลา และการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกที่ซับซ้อน รวดเร็ว คาดไม่ถึงมากขึ้น เป็นหน้าที่ของการบริหารจัดการที่ต้องมองเรื่องนี้เป็นปกติและพยายามสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถของบุคลากร ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเทรนด์ของผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น ความต้องการที่หลากหลาย การตลาดก็มีดิจิทัล มีโซเชียลมีเดีย ต้องเข้าใจตลาดให้มากขึ้น ซึ่งนำมาสู่เรื่อง innovation ที่บริษัทให้ความสำคัญ เรื่องความสะดวก ความยั่งยืน เหล่านี้รวมเป็นเรื่องเดียวกันหมด
แนวคิดการบริหารนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย ในแง่ผู้บริหารต้องเรียนรู้ตลอดไม่มีที่สิ้นสุด ต้องสร้างพัฒนาบุคลากรให้ทีมงานมีความเข้าใจมีความรู้ความสามารถ ปรับตัว การลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ออโตเมชั่น ไอที ทุกอย่างสำคัญทั้งหมด และเราเป็นบริษัทที่มีธุรกิจทั่วโลก มีพนักงานทั่วโลก การบริหารจัดการคนที่มีชาติ ภาษาที่แตกต่างกัน จะทำอย่างไรให้เกิดเป็นพลังของกลุ่มเรา
"การดำเนินธุรกิจ สิ่งสำคัญ ต้องมี passion ต้องมีความรัก ความหลงใหลในธุรกิจ และเชื่อมั่นว่าธุรกิจนี้มีอนาคต ต้องทำอย่างไรที่จะสร้างให้องค์กรนี้ยั่งยืนต่อไป ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 46 แล้ว จะทำอย่างไรให้อยู่ได้ถึง 100 ปี ในแง่ชีวิตก็มีการบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล เรื่องสุขภาพ การออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นอกจากสุขภาพกายแข็งแรงแล้ว สุขภาพใจมีความสำคัญด้วย"
ในแง่ของพนักงานทุกคน อยากทำงานในองค์กรที่มีโอกาสเติบโต ผู้บริหารก็เหมือนกันต้องมองเห็นอนาคต มีความตื่นเต้น ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ในแง่โอกาสเพราะธุรกิจของเรามีการขยายออกไปค่อนข้างมาก มีโอกาสทั้งในและต่างประเทศ มีธุรกิจใหม่ๆ มีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งออโตเมชั่น ดิจิทัล อินโนเวชั่น ไม่ว่าจะเป็นงานทุกส่วนที่รับผิดชอบ ถ้าอยู่ฝ่ายผลิตโรงงานจะเห็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิต ถ้าอยู่ในการตลาดจะได้เห็นโซเชียลมีเดีย ดิจิทัล ไอที ที่จะมาช่วยให้ความสามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

*** กลับมาทบทวน M&A อีกครั้ง
ในช่วงวิกฤต 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้ให้ความสนใจกระบวนการซื้อกิจการ (M&A) แต่มองว่าขณะนี้เป็นจังหวะที่กลับมาทบทวนเรื่องนี้ โดยดูว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ การลงทุนที่มีผลตอบแทนที่เราพอใจ เนื่องจากมุมมองการลงทุนของ TU ได้เปลี่ยนจากในอดีตที่มอง top line growth (การเติบโตของรายได้) แต่ตอนนี้เน้น bottom line growth (การเติบโตของกำไร) ธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าธุรกิจหลักของบริษัท และปรับรูปแบบมาซื้อกิจการที่จะมาเสริมธุรกิจหลัก หากกิจการนั้นเข้ากับ TU ได้เป็นอย่างดี แต่คงจะไม่เห็นการทุ่มเงินลงทุนขนาดใหญ่ในการซื้อกิจการต่างประเทศ
“ทีม M&A ดูตลาดให้กว้างขึ้น ช่วงสถานการณ์แบบนี้อาจมีโอกาส สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีผู้ประกอบการที่ไม่แข็งแรงมีเกิดขึ้น ตอนนี้มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง เรามีความพร้อม M&A ซึ่งจะไม่ใช้เงินเยอะมาก เราไม่สนใจธุรกิจหลัก เพราะทั้งอาหารทะเลกระป๋องและอาหารทะเลแช่แข็ง เพียงพอแล้ว แต่มองหาธุรกิจอื่นที่มาเสริมกัน เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง อินกรีเดียนท์ แพ็กเกจจิ้ง"
นอกจากธุรกิจอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแช่แข็งแช่เย็น ที่เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) แล้ว บริษัทยังคงพัฒนาธุรกิจเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจส่วนประกอบอาหาร อาหารเสริม และโปรตีนทางเลือก ทำให้สามารถขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เน้นนวัตกรรมและจะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
“สิ่งที่เพิ่มคือธุรกิจ ingredient ซึ่งได้ทำธุรกิจ Tuna Oil (น้ำมันปลาทูน่า) DHA กำลังสร้างโรงงานที่ 2 ให้เสร็จภายในปีนี้ โรงงานที่จะมาผลิตคอลลาเจนเปปไทด์ ซึ่งเราก็จะสู่เข้าธุรกิจที่เป็นสุขภาพ อาหารเสริม ความสวยงามมากขึ้น เชื่อว่าจะมาช่วยให้การเติบโตได้ใน 3 ปีข้างหน้า และที่ให้ความสำคัญคือ ธุรกิจอาหารโปรตีนทางเลือก(อัลเทอร์เนทีฟ โปรตีน) อาจใช้เวลามากหน่อย ซึ่งเทรนด์ของโลกมี เพียงแต่การบริโภคต้องใช้เวลา”
นอกจากนั้น อาหารสัตว์เลี้ยงยังเป็นธุรกิจที่เราคาดหวังการเติบโตค่อนข้างสูง เพราะเทรนด์ของโลกธุรกิจนี้เติบโตดีมาก สอดรับชีวิตความเป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีครอบครัวเล็กลง แต่งงานน้อยลง ต้องการสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อน หรือสังคมสูงวัยที่เริ่มไม่มีใครอยู่ด้วย มีสัตวฺเลี้ยงมาเป็นเพื่อน จึงเชื่อว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงจะมีการเติบโตได้ จากนี้ไปในอนาคต 3-5 ปี ธุรกิจนี้จะเป็นตัวที่ผลักดันการเติบโตได้เช่นกัน โดยคาดหวังภายใน 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงขยับขึ้นใกล้ระดับ 20% จากสิ้นปี 65 รายได้อาหารสัตว์เลี้ยงที่ 14%

*** Red Lobster ค่อยๆฟื้นตัว
ธุรกิจร้านอาหาร Red Lobster คาดปีนี้ตัวเลขขาดทุนจะดีขึ้น 50% จากปี 65 เพราะสาเหตุหลักที่ขาดทุน เนื่องจากไตรมาส 1/65 เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ เจอปัญหาโอไมครอนทำให้ไตรมาสที่ดีที่สุดเสียจังหวะไป เงินเฟ้อสูงขึ้นทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เมื่อต้นทุนสูงขึ้นจึงปรับราคาขึ้นใช้เวลาไปพอควร
ในปีนี้คาดหวังอย่างน้อยการขาดทุนจะลดลงครึ่งหนึ่ง หลังจากมีการปรับราคาขายขึ้นแล้ว จะมีการบริหารจัดการในเรื่องของภายในร้าน คุณภาพอาหารบริการต่างๆ หวังจะเห็นแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้น บริษัทติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ได้นิ่งนอนใจ รอดูแนวโน้มของไตรมาส 1-2
"ต้องยอมรับวันนี้มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายที่คาดไม่ถึง ทั้งสงคราม สภาวะอากาศ หิมะตก พายุเข้า น้ำท่วม ในสหรัฐฯ ทุกอย่างมีผลกระทบต่อการเดินทางออกมาทานข้าวนอกบ้านในสหรัฐ จะทำอย่างไรให้ความสามารถในการจัดการของเรามีความยืดหยุ่นรองรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว"
***วางงบลงทุน 6-6.5 พันลบ.
บริษัทพร้อมเดินหน้าลงทุนมากขึ้น หลังจากฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมั่นใจว่าจะสามารถรองรับกับทุกสภาวะแวดล้อมต่างๆได้ หลังจากปลายปี 65 ได้ Spin-off บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สามารถระดมเงินเข้ามาได้ 2.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ฐานะการเงินในภาพรวมแข็งแกร่งมาก เป็นปัจจัยสำคัญในการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (D/E) ของ TU ให้อยู่ที่ระดับ 0.54 เท่า จากปี 64 ที่อยู่ในระดับ 0.99 เท่า
ทำให้ในปี 66 บริษัทตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 6,000 -6,500 ล้านบาท ไม่นับรวมธุรกิจใหม่และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เน้นการลงทุนธุรกิจอาหารที่มีนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งธุรกิจส่วนประกอบอาหาร (Ingredients) และอาหารเสริม (Supplements)
"ในแง่ธุรกิจที่จะมีการเติบโตค่อนข้างมากที่หวังไว้ คือธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ทำให้ฐานะการเงินวันนี้มีความแข็งแกร่งมาก มีความสบายใจ และมั่นใจว่าจะสามารถรองรับกับทุกสภาวะแวดล้อมต่างๆได้ "
ส่วนยอดขายทั้งกลุ่มในปี 66 วางเป้าหมายเติบโต 5-6% (จากปี 65 ยอดขายทำสถิติสูงสุดที่ 156,000 ล้านบาท) อัตราการทำกำไรยังคงมีมุมมองค่อนข้างดี อัตรากำไรขั้นต้น 18-18.5% ค่อนข้างสูง และกำไรสุทธิ (Net profit) เชื่อมั่นว่าจะโตได้มากกว่าการเติบโตของยอดขาย เนื่องจากปีที่แล้วมีเหตุการณ์พิเศษ 2 รายการ ซึ่งในปีนี้เมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้วน่าจะมาช่วยให้อัตราการทำกำไรดีขึ้น
สาเหตุที่ตั้งเป้ายอดขายต่ำ เพราะมองสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังมีความจำเป็นที่ต้องระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือยุโรปมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจอ่อนแอ เนื่องจากในสหรัฐมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากในปี 65 ทำให้กำลังซื้อถดถอยลงรวมทั้งยุโรปด้วย และปีที่แล้วมีปัญหาการขนส่ง หาตู้คอนเทนเนอร์ยาก ทำให้คู่ค้าส่วนใหญ่ซื้อสินค้าไปในปริมาณมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นในต้นปีนี้เมื่อสถานการณ์ของเรือ ตู้คอนเทนเนอร์เข้าสู่ภาวะดีขึ้น การสั่งซื้อสินค้าก็จะปรับลดสต๊อกให้ลดลง ทำให้ไตรมาส 1 นี้ เป็นช่วงปรับลดสต็อกของลูกค้าทั่วโลก แต่เนื่องจากธุรกิจของเรามีราคาที่ไม่ค่อยแพง ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอ่อนแออย่างไร เรื่องของอาหารยังต้องมีการบริโภคอยู่จึงไม่น่าห่วงมาก
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน มองเงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่า เมื่อเทียบสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง มองว่าถ้าอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ เป็นอัตราที่เหมาะสม สำหรับความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกของไทย แต่ TU เชื่อมั่นว่าทุกๆ อัตราแลกเปลี่ยนเรายังมีความสามารถในการแข่งขันได้ดี ในอดีตเงินบาทเคยแข็งกว่า 30 บาท TU ก็อยู่ได้ค่อนข้างดี และมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงตลอดเวลา ไม่ได้ต้องการเก็งกำไร แต่ป้องกันความเสี่ยง เพราะเราป้องกันความเสี่ยงไม่มากก็น้อย ทุกปีจึงมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนตลอด

***เตรียมส่งธุรกิจอาหารเสริมเข้าตลาดหุ้นใน 3-4 ปีข้างหน้า
บริษัทหันมาเน้นธุรกิจที่ให้อัตรากำไรสูง ได้แก่ ธุรกิจส่วนประกอบอาหาร ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าสร้างความร่วมมือจากธุรกิจสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอาหาร จะนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเสริม (Supplements) ได้แก่ ทูน่าออยล์ แคลเซียม โปรตีนไฮโดรไลเสท คอลลาเจนเปปไทด์ เป็นต้น โดยธุรกิจอาหารเสริม ปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดขาย 400 ล้านบาท คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า จะมีรายได้เพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท และมีแผนทำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นลำดับถัดไป
*** มุ่งการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability) มีความสำคัญต่ออนาคตของธุรกิจ TU เป็นอีกจุดหนึ่งที่คู่ค้าให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เชื่อมั่นว่าฐานลูกค้าที่มี 45 ปี และความสามารถในการแข่งขันน่าจะทำได้ดี เรามีการลงทุนในอินเดีย อาหารกุ้งมีการลงทุนไปอินโดนีเซีย พยายามกระจายความเสี่ยงธุรกิจให้หลากหลายมากขึ้น
ในปี 2565 TU ติดอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดัชนีดาวโจนส์ เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นกลุ่มดัชนีที่ประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนหลายพันแห่ง และเคยได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ ในปี 2561 และปี 2562 ดังนั้นจะเห็นว่าเรานำเรื่อง Sustainability มาเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของเราด้วย