ในปี 66 ตลาดหุ้นโลกและหุ้นไทยต่างได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) วิกฤติธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ล้มในสหรัฐ การผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande ในจีน วิกฤติอสังหาริมทรัพย์เวียดนาม สงครามอิสราเอล-ฮามาส การอ่อนค่าของสกุลเงินหลายประเทศ และการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในไทย
ตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวดำดิ่งลงมาต่ำสุดในรอบ 10 ปี โอกาสการลงทุนในอนาคตอยู่ตรงไหน และนักลงทุนควรปรับมุมมองการลงทุนของตัวเองอย่างไร เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่กระทบมาสู่โลกลงทุนอย่างรวดเร็ว
วันนี้ สำนักข่าว EfinanceThai มีมุมมองจาก "คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด ที่จะมาแบ่งปันให้นักลงทุนเห็นภาพรวมการลงทุนในปี 66 รวมถึงปี 67 และกลยุทธ์ที่เหมาะสม
*** การลงทุนในปี 66 สิ่งที่นักลงทุนเผชิญ
ภาพการลงทุนปีนี้ ตลาดได้รับผลกระทบหลักจากการที่ FED พยายามเร่งกดอัตราเงินเฟ้อที่เคยสูงถึง 9.1% ในมิ.ย.65 ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนอัตราเงินเฟ้อล่าสุด เดือนก.ย.66 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7% และทำให้ดอกเบี้ย FED ปรับขึ้นสู่ระดับ 5.25-5.50% และในเวลานี้ ตลาดยังคงเฝ้าจับจ้องการประชุมของ FED อยู่ทุกครั้งว่าจะคงดอกเบี้ย หรือปรับลดลงเมื่อใด เพราะส่งผลต่อความคาดหวังในตลาดทุกครั้ง
จากการปรับดอกเบี้ยขึ้นสูงของสหรัฐนั้นทำให้ตลาดตราสารหนี้กลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้น โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 2 ปีและ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 4.5-5% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 16 ปีและยังทำให้ค่าเงินของสหรัฐนั้นแข็งขึ้นเมื่อเทียบกันกับค่าเงินประเทศอื่นเนื่องจาก Earning Yield Gap ของสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดตราสารหนี้นั้นต่างกับตลาดทุนเพียง 1-2% ทำให้การลงทุนในพันธบัตรนั้นน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นที่นักลงทุนต้องทำการแบกความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพื่อผลตอบแทนที่อาจมากกว่าตราสารหนี้เพียง 1-2% ส่วนนี้กดดันค่าเงินหลายประเทศและตลาดหุ้นทั่วโลก
แม้ตลาดตราสารหนี้จะกลับมาอยู่ในโฟกัสของนักลงทุน แต่เรายังได้เห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็โดดเด่นไม่ใช่น้อยในปีนี้ ในช่วงต้นปีสหรัฐฯ เผชิญกับวิกฤติ Bank run จากกรณีของธนาคาร SVB ประสบปัญหาสภาพคล่องจนตลาดกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นโดยรวม แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับสร้างผลตอบแทนได้ดี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวสูงขึ้น หลังการเปิดตัว ChatGPT ได้หนุนราคาหุ้นของไมโครซอฟท์และหุ้นเทคฯ ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ตั้งแต่ต้นปีถึงต้นพ.ย.ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.97% ดัชนี Dow Jones 2.79% และดัชนี NASDAQ Composite ปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.76%
ส่วนจีนในช่วงต้นปีเผชิญกับวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ หลังจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง Evergrande ประกาศล้มละลาย ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยสำหรับตราสารหนี้ที่ออกไว้กับนักลงทุนได้ ส่งผลลุกลามมายังภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามไปด้วย
สำหรับตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้งที่ล่าช้าและนโยบายเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการเปลี่ยนกฏเกณฑ์ โดยจะแจกเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการเงินก้อนนั้นจริงๆ แต่รัฐบาลก็ยังประสบกับปัญหาการหาเงินทุนที่จะมาซัพพอร์ตการแจกเงินในครั้งนี้และหากไม่สามารถหาทางออกที่ดีได้ อาจทำให้นักลงทุนมีความกังวลในความสามารถของรัฐบาลและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้
*** จากบทเรียนการลงทุนในปีนี้ ควรใช้กลยุทธ์ใดในการรับมือ
การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ร่วงลงราว -15% ตั้งแต่ช่วงต้นปี เป็นหนึ่งบทเรียนที่ชัดเจนสำหรับนักลงทุนที่จัดพอร์ตลงทุนเน้นหุ้นไทยเป็นหลัก เพราะการลงทุนในตลาดใดตลาดนึงจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับปัจจัยลบที่ไม่อาจคาดเดา และอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อพอร์ตการลงทุนหลักได้เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะในทุกวันนี้ ปัจจัยใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ทั่วโลก มีโอกาสที่จะกระทบกับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งได้ตลอดเวลา ดังนั้นหากเรียนรู้บทเรียนครั้งนี้และยึดหลักการกระจายความเสี่ยงที่ทั่วโลกได้มีการพิสูจน์มาแล้ว จะบรรเทาผลกระทบลงได้ เช่น หากมีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดหุ้นสหรัฐที่ดัชนี S&P500 มีผลตอบแทนตั้งแต่ช่วงต้นปีอยู่ที่ราวๆ 14% จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวมได้
“ตลาดหุ้นมีความผันผวนและความไม่แน่นอนอยู่ตลอด นักลงทุนอาจมองว่า FED จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอีก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พอร์ตลงทุนที่เหมาะสมนั้นจะต้องลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละท่านสามารถรับได้ การกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์อื่นไม่ว่าจะเป็น ทองคำ พันธบัตรรัฐบาล หรือแม้กระทั่ง อสังหาริมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามแผนการลงทุนของแต่ละคนได้”
*** หาหุ้นดีราคาถูก ตามหลัก VI ด้วย Jitta Ranking
นอกจากการกระจายความเสี่ยงแล้ว อีกสิ่งที่นักลงทุนควรยึดมั่นคือหลักการลงทุนระยะยาว ศึกษาพื้นฐานสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่เพื่อคัดกรองหุ้นที่ดีในราคาที่เหมาะสม และหากเชื่อมั่นว่าสินทรัพย์ที่เราลงทุนอยู่เป็นสินทรัพย์ที่ดีอยู่แล้ว ก็อดทนรอ เช่นเดียวกับ Jitta Wealth ที่ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI ให้กองทุนส่วนบุคคลทุกนโยบายของบริษัทสามารถเลือกหุ้นดีราคาเหมาะสมเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้กับนักลงทุน
จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา นโยบาย Jitta Ranking ของ Jitta Wealth สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี โดย Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี +31.53% Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ +22.50% Jitta Ranking หุ้นญี่ปุ่น +3.95% Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม +2.31%
ผลตอบแทนจริงนโยบาย Jitta Wealth ตั้งแต่ต้นปี-3 พ.ย.66
กองทุนส่วนบุคคล
|
ผลตอบแทน
|
Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ |
+31.53% |
Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ |
+22.50% |
Jitta Ranking หุ้นญี่ปุ่น |
+3.95% |
Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม |
+2.31% |
Global-ETF |
+7.45% |
Thematic-DIY |
+3.86% |
Thematic-Optimize |
+4.17% |
แต่หากมองภาพการลงทุนระยะยาวแล้วจะพบว่าตั้งแต่เปิดกองทุนส่วนบุคคลมาตั้งแต่ 1 ม.ค.63 จนถึง 18 ต.ค.66 Jitta Ranking หุ้นเวียดนามสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 82.11% ขณะที่ Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 38.45% และ Jitta Ranking หุ้นไทย สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 15.53% สะท้อนถึงประสิทธิภาพของ AI และการลงทุนระยะยาว
*** ทิศทางการลงทุนปี 67 ความท้าทายที่ต้องเผชิญ โอกาสอยู่ในจุดใดของโลก
ปัจจัยที่ยังอาจส่งผลกระทบต่อตลาดในช่วงสิ้นปีนี้จะมีในส่วนของสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่อาจยืดเยื้อ กระทบต่อสินทรัพย์อย่างราคานํ้ามันและทองคำ และ sentiment ของตลาดที่อาจคงเงินไว้ในสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นระยะเวลานานทำให้สินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นนั้นซบเซานานขึ้น
ขณะเดียวกัน ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ FED ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนโลกในปี 67 ต่อเนื่อง ซึ่งการตัดสินใจของ FED คงอัตราดอกเบี้ยไว้นั้นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ กำลังแสดงสัญญาณของการฟื้นตัว เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่อปีที่ 4.9% ในไตรมาสที่สาม ซึ่งเป็นอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบเกือบสองปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับ FED เนื่องจากอาจนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และเป้าหมายที่จะลดเงินอัตราเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% นั้นอาจจะยืดเยื้อยาวนานขึ้น
แต่ FED ก็ยังติดตามข้อมูลเศรษฐกิจที่จะมีการประกาศออกมาเป็นระยะและจะยังคงดำเนินการนโยบายต่างๆตามความจำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจยังแข็งแกร่งและสามารถเติบโตได้ ซึ่งทิศทางอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้อาจจะส่งผลดีต่อตลาดตราสารหนี้รวมถึงหุ้นสหรัฐฯ ให้ยังมีความน่าสนใจ
ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดหวังว่า FED จะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับ 5.25 - 5.50% นั้นก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมในตอนนี้ ตามข้อมูลของ CME FED watch tool นั้นนักลงทุนคาดการณ์ว่า FED จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมถึง 90%
หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกจะกระทบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก Earning Yield Gap ที่เพิ่มขึ้นระหว่างตลาดหุ้นและตลาดเงิน Earning Yield Gap ของสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดตราสารหนี้นั้นต่างกับตลาดทุนเพียง 1-2% ทำให้การลงทุนในพันธบัตรนั้นน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นที่นักลงทุนต้องทำการแบกความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพื่อผลตอบแทนที่อาจมากกว่าตราสารหนี้เพียง 1-2%
ปัจจัยดังกล่าวยังจะกดดันค่าเงินหลายประเทศและตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลลบต่อตลาดหุ้นโดยรวม ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นยังจะส่งผลให้การประเมินมูลค่าบริษัทต่างๆ นั้นตํ่าลงไปด้วยจากต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
*** แนะมือใหม่รับมือความผันผวน มุ่งสู่อิสรภาพทางการเงิน
คุณตราวุทธิ์ ทิ้งท้ายว่า นับวันโลกการเงินยิ่งผันผวน การลงทุนแบบไม่มีหลักการ อาจจะทำให้คนรุ่นใหม่เสียเวลาลองผิดลองถูก และพอร์ตจะไม่เติบโตให้ทันกับเป้าหมายในการสร้างอิสรภาพทางการเงินได้ ดังนั้นแนวคิดทางการเงินที่นักลงทุนรุ่นใหม่ควรต้องมีเพื่อเป็นรากฐานทางการเงินในอนาคตควรให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุนที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างอิสระทางการเงิน สิ่งที่นักลงทุนรุ่นใหม่ควรทำคือ
1.ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการเงิน : การตั้งเป้าทางการเงินจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นว่าเราทำการออมและลงทุนไปเพื่ออะไรสามารถเป็นแรงผลักดันในการออมได้
2.ทำบันทึกรายได้-รายจ่าย : ส่วนนี้จะช่วยเสริมวินัยในการใช้เงินและรู้ว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มส่วนของการออมและลงทุนได้อย่างไร
3.ลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ : การลงทุนเพื่ออนาคตนั้นไม่ใช่การเก็งกำไร ลงทุนตามความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้จะทำให้การลงทุนนั้นไม่เครียดมากเกินไป
4.คอย DCA เข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง : การ DCA นั้นจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวมได้ และช่วยถัวเฉลี่ยราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนไปในช่วงที่ตลาดนั้นปรับตัวขึ้นและลงได้ตลอดเวลา
5.หากรู้ตัวว่าไม่มีวินัยทางการเงินมากพอ ลองมองหาเครื่องมือที่จะมาเป็นตัวช่วยในการเก็บออมและลงทุน ซึ่งทุกวันนี้มีเทคโนโลยีทางด้านการเงินที่เข้ามาช่วยสร้างวินัยทางการเงินมากมายและสะดวกสบายกับชีวิตนักลงทุน
สุดท้ายก็ควรปรับการออมและลงทุนให้เข้ากับแผนและเป้าหมายการลงทุนตัวเองในทุกๆ 1 ปีหรือ 6 เดือน เนื่องจากความจำเป็นในการใช้เงินของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันการเข้ามาปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมจะทำให้ถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
“การสร้างอิสรภาพทางการเงินได้เราต้องรู้จักออมและลงทุนให้เป็น ด้วยการลงทุนในความรู้และใช้เทคโนโลยีให้เป็นเครื่องมือการลงทุนที่ดีและเหมาะสม หากยิ่งเริ่มเร็วมากเท่าไหร่เงินที่จะสามารถทวีคูณตาม Compouding interest นั้นก็จะมากขึ้นไปด้วย”