บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่นักลงทุนต่างก็เฝ้าจับตาว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ช่วงใด เพราะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ทำให้นักลงทุนต่างก็ติดตามว่าจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของหุ้นบิ๊กแคปตัวนี้ได้เมื่อไหร่
“สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” จะพาไปทำความรู้จักกับ โออาร์ แบบละเอียด ทั้งธุรกิจหลัก ธุรกิจรอง ที่มาที่ไปของบริษัท รวมถึงกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ถึงโอกาสในการเติบโตของหุ้น “OR”
โดยผู้บริหารที่ร่วมให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ คือ “คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ “คุณพิจินต์ อภิวันทนาพร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน และ “คุณสุชาติ ระมาศ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก
***40 ปีในวงการน้ำมัน
"เราไม่ใช่น้องใหม่ ทั้งทางด้านธุรกิจ ทั้งด้านของผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงผู้บริหารและพนักงาน เราอยู่ในแวดวงนี้มากว่า 40 ปี เดิม โออาร์ คือหน่วยธุรกิจน้ำมันของ ปตท. เราก่อกำเนิดมาพร้อม ปตท. หลายท่านอาจจะเกิดไม่ทันสถานีบริการน้ำมันในชื่อแบรนด์สามทหาร จนกลายมาเป็นแบรนด์สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในปัจจุบัน" คุณจิราพร เริ่มต้นเล่าถึงประวัติของ โออาร์
"จาก 40 ปีนั้น เราก็ได้ลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย นอกเหลือไปจากธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักเมื่อตอนที่เราเริ่มเกิดเป็นหน่วยธุรกิจน้ำมันของ ปตท. เรามองว่า ช่องทางที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคคงไม่ได้มีแค่เรื่องน้ำมัน เมื่อเข้ามาที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ผู้บริโภคก็ย่อมต้องการความสะดวกสบาย เราจึงเริ่มลงทุนในธุรกิจทางด้าน Non-Oil เพิ่มขึ้น"

จากโมเดลธุรกิจที่เดิมเน้นด้านน้ำมัน โออาร์ ได้พัฒนามาเป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกเข้าด้วยกัน ซึ่งโมเดลธุรกิจดังกล่าวนี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยปัจจุบัน โออาร์ มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station จำนวนกว่า 1,900 สถานีทั่วประเทศไทย และมีร้าน Café Amazon จำนวนกว่า 3,400 สาขาในประเทศไทยและในต่างประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)
จากความสำเร็จดังกล่าว ปตท. ก็เล็งเห็นว่า การปรับโครงสร้าง ปตท. ให้หน่วยธุรกิจน้ำมันออกมาเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นโอกาสในการที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในเรื่องของการขยายธุรกิจมากขึ้น

***แยก โออาร์ เป็นแกนนำธุรกิจ Oil และ Non-Oil
1 กรกฎาคม 2561 ปตท. จึงปรับโครงสร้างโดยการ "นำหน่วยธุรกิจน้ำมันแยกออกมาเป็นบริษัทใหม่" และใช้ชื่อว่า “บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)” หรือ โออาร์
“บทพิสูจน์ของ โออาร์ ถ้าหากว่าเป็นเรื่องสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เราก็มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 มากว่า 23 ปีต่อเนื่อง ถ้าเป็นก๊าซหุงต้มที่เราจะเห็นตามครัวเรือน ตามบ้านที่เป็น ก๊าซหุงต้ม ปตท. มาร์เก็ตแชร์ของเราเป็นอันดับ 1 มากว่า 26 ปี และน้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants มาร์เก็ตแชร์ก็เป็นที่หนึ่งมากว่า 10 ปี นอกจากความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการแล้ว โมเดลเรื่องการเป็นแพลตฟอร์มที่มีทั้ง Oil และ Non-Oil ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” คุณจิราพร ระบุ
สำหรับร้าน Café Amazon ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3,400 สาขาในประเทศไทยและต่างประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) และมีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 6 ของโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)
ณ สิ้นปี 2562 ยอดขาย Café Amazon ทั้งปีกว่า 263 ล้านแก้วในประเทศไทย ถ้ารวมต่างประเทศเป็นกว่า 285 ล้านแก้ว (Café Amazon มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยและกัมพูชา) โดย 9 เดือนแรกของปี 2563 ยอดขายเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562
***ปัจจุบัน โออาร์ มี 3 กลุ่มธุรกิจ น้ำมัน-ค้าปลีก-ตปท.
1.กลุ่มธุรกิจน้ำมัน (มีสัดส่วน EBITDA (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 68.7% และสัดส่วนรายได้ (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 90.8%) ประกอบไปด้วยการค้าน้ำมันในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ เช่น การขายน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่ง การขายน้ำมันให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การขายน้ำมันหล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยกลุ่มธุรกิจนี้มี EBITDA MARGIN (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 3%
2.กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ หรือธุรกิจ Non-Oil (มีสัดส่วน EBITDA (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 25.1% และสัดส่วนรายได้ (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 3.8%) พระเอกของ โออาร์ ประกอบไปด้วย ร้าน Café Amazon และแบรนด์ร้านค้าปลีกอื่นๆ ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการให้บริการเช่าพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station โดยกลุ่มธุรกิจนี้มี EBITDA MARGIN (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 26%
3.ธุรกิจต่างประเทศ (มีสัดส่วน EBITDA (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 5.8% และสัดส่วนรายได้ (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 เท่ากับ 5.0%) ซึ่งจากความสำเร็จของคุณภาพของสินค้าและบริการ ทำให้ โออาร์ มุ่งขยายธุรกิจไปยังประเทศแถบนี้ ปัจจุบัน โออาร์ ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศรวม 10 ประเทศ โดยกลุ่มธุรกิจนี้มี EBITDA MARGIN (ก่อนหักรายการระหว่างกัน) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 4%

***เติบโตแบบ Inorganic ด้วยโมเดล 80/20
"โออาร์ ไม่ใช่จะเติบโตจากการขยายสาขาตามปกติเท่านั้น แต่เรายังได้ขยายแบบร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์หรือไปแบบ Inorganic อีกด้วย เพราะเรามองว่า 1+1 มากกว่า 2"
ดังนั้นรูปแบบธุรกิจของ โออาร์ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในต่างประเทศ ทั้งสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้าน Café Amazon จะใช้หลักการ "เติบโตไปด้วยกัน" ด้วยโมเดล 80/20 กล่าวคือ โออาร์ จะเป็นเจ้าของและดำเนินการเองประมาณ 20% ส่วนอีกประมาณ 80% จะเน้นให้เป็นการดำเนินการของดีลเลอร์หรือในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยที่ โออาร์ ทำหน้าที่ในการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงช่วยทำการตลาด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมเติบโตไปกับ โออาร์
***เตรียมขาย IPO รอภาวะตลาด และการมีผลบังคับใช้ของหนังสือชี้ชวน
เมื่อปรับโครงสร้างออกมา โออาร์ ก็เข้าสู่กระบวนการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยยื่นไฟลิ่งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 และได้รับการอนุมัติคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่จากสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ส่วนจะเสนอขายหุ้น IPO เมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดและการมีผลบังคับใช้ของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนของ โออาร์
***หลังเข้าตลาดหุ้นยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่แข่งขันได้-คล่องตัวสูง
ปัจจุบัน ปตท. ถือหุ้นใน โออาร์ เกือบ 100% ภายหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ปตท. จะเหลือสัดส่วนหุ้น 75% ดังนั้น โดยหลังการ IPO โออาร์ จะยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งนักลงทุนอาจมองว่า โออาร์ จะมีความสามารถในการแข่งขันและคล่องตัวสู้เอกชนรายอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ หากเทียบกับเอกชนรายอื่น สำหรับธุรกิจน้ำมัน โออาร์ คือผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. การค้าน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เหมือนกับ เชลล์ เอสโซ่ บางจาก คาลเท็กซ์ และพีทีจี ซึ่งในประเทศไทยมี 40 กว่าราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจและการขยายธุรกิจของ โออาร์ แต่อย่างใด
ยกตัวอย่างการขยายธุรกิจใน 2 ปีที่ผ่านมา โออาร์ เข้าลงทุนใน Flash Express โดยถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 10% และล่าสุด โออาร์ ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างครบวงจรในไทย ภายใต้แบรนด์ Pacamara
นอกจากนี้ โออาร์ ยังได้ไปตั้งบริษัทย่อยที่ประเทศจีน เพื่อทำธุรกิจทางด้านน้ำมันหล่อลื่นและร้าน Café Amazon และยังได้ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลคือ CRG เปิดบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจ Café Amazon ที่ประเทศเวียดนาม
“แม้ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ โออาร์ ยังคงขยายธุรกิจได้ตามแผน ทั้งสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ก๊าซหุงต้ม ปตท. และน้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants ยังมีมาเก็ตแชร์อันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็สามารถขยายการลงทุนได้คล่องตัวมากขึ้นจากการที่มี Partner เข้ามาร่วมลงทุน”

***ส่องธุรกิจอนาคต ค้าปลีกคือ Stars - น้ำมันเป็น Cash Cow
ธุรกิจน้ำมัน โออาร์ มีแผนจะขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในไทยปีละประมาณกว่า 100 สาขา ส่วนอัตราค่าการตลาดไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ และมีโอกาสเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจน้ำมันจึงยังเป็น Cash Cow ของกลุ่มที่ยังสามารถทำรายได้ให้กับ โออาร์ ได้อย่างต่อเนื่อง แต่ที่เป็นพระเอกคือธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ
"ธุรกิจน้ำมัน ต้องถือว่าเป็น Cash Cow ของเรา หากมองในเรื่องของอัตรากำไรหรือค่าการตลาด เรามองว่าในอนาคต ค่าการตลาดคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาค่าการตลาดในประเทศไทยก็ค่อนข้างเสถียร แต่สิ่งที่สร้างกำไรให้กับทางด้านธุรกิจ ตัวที่ทำอัตรากำไรให้มากก็คือธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ หรือ Non-Oil"
"จะเห็นได้ว่าในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เรามีร้านค้าสะดวกซื้อ มีร้าน Café Amazon และการให้บริการเช่าพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นรายได้หลักของคนที่ทำสถานีบริการน้ำมัน PTT Station อัตรากำไรจะมาจากธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ มากกว่าสถานีบริการน้ำมัน"
ธุรกิจ Non-Oil ร้าน Café Amazon มีสาขากว่า 3,100 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นในสถานีบริการน้ำมันประมาณ 1,900 สาขา และนอกสถานีบริการน้ำมันประมาณ 1,200 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) จึงมองว่ามีโอกาสขยายได้อีกมาก เพราะพฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนจากกาแฟสำเร็จรูปมานิยมกาแฟสดมากขึ้น
“สถิติพบว่าคนไทยบริโภคกาแฟคนละประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อปี แต่ประเทศเพื่อนบ้านอยู่ประมาณ 1.5 ถึง 2 กิโลกรัมต่อปี ดังนั้น โอกาสให้ทำตลาดกาแฟจึงมีอีกมาก ปัจจุบัน มีผู้สนใจขอรับสิทธิแฟรนไชส์ร้าน Café Amazon เดือนละประมาณ 400 ราย มูลค่าตลาดร้านกาแฟโดยรวมเกือบ ๆ 40,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)” คุณสุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก กล่าวเสริม
***แผนลงทุน 5 ปี (2564-2568) 7.7 หมื่นลบ. รุก Non-Oil - ตปท.
“คุณพิจินต์ อภิวันทนาพร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน เล่าถึงแผนการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้าว่า ตั้งงบไว้กว่า 7.7 หมื่นล้านบาท มีรายละเอียดของสัดส่วนการใช้เงินลงทุน ดังนี้
(1) ธุรกิจน้ำมัน (ใช้เงินลงทุน 34%) มีแผนจะขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ให้เป็นกว่า 2,500 สถานีในประเทศไทยภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1,900 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)
(2) ธุรกิจ Non-Oil (ใช้เงินลงทุน 17%) มีแผนขยายสาขาร้าน Café Amazon ให้เป็นกว่า 5,200 สาขาในประเทศไทย จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 3,100 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)
(3) ธุรกิจต่างประเทศ (ใช้เงินลงทุน 21%) จะขยายสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศจาก 329 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) เป็นกว่า 650 สถานี และขยายสาขาร้าน Café Amazon จาก 272 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) เป็นกว่า 550 สาขาภายในปี 2568
(4) ธุรกิจอื่นๆ (ใช้เงินลงทุน 28%) มีแผนขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New s-curve และทำดีล M&A
จากสัดส่วนการลงทุน จะเห็นได้ว่าเราให้ความสำคัญกับการลงทุนใน Non-Oil กับต่างประเทศมากขึ้น โดยที่ยังเก็บความแข็งแกร่งของธุรกิจน้ำมันไว้อยู่ เราให้เงินลงทุนน้ำมันที่ 34% เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจน้ำมันเป็นแพลตฟอร์มให้ธุรกิจอื่น ๆ เข้าไปเติบโตด้วย เพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจน้ำมัน อัตรากำไรต่ำมาก นั่นเป็นเหตุผลหลักเลยในอดีตที่ทำไมถึงเอาธุรกิจ Non-Oil เข้ามาผสมด้วย เพราะทำให้มันสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น"
โดยเฉพาะธุรกิจกาแฟ ยังไม่อิ่มตัวแน่นอน เพราะจำนวนแก้วที่จำหน่ายได้ของ Café Amazon เติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 20% ระหว่างปี 2560 – 2562 และ 9 เดือนแรกของปี 2563 นี้ก็ยังเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วแม้เจอสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากการเติบโตจากการขายกาแฟแล้ว โออาร์ มองว่ายังมีโอกาสในการขายสินค้าอื่น ๆ ในร้าน Café Amazon ด้วย เช่น "เบเกอรี่" ที่อยู่ระหว่างการลงทุนก่อสร้างโรงงานเบเกอรี่ส่วนกลาง
“การก่อสร้างโรงงานเบเกอรี่ส่วนกลาง หมายความว่า โออาร์ วางแผนจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากเบเกอรี่ที่อยู่ในร้าน Café Amazon อีกทั้งการก่อสร้างโรงงานผงผสมเครื่องดื่มจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรในธุรกิจ Non-Oil ได้ เพราะการที่ลงทุนในธุรกิจต้นน้ำอย่างการสร้างโรงงานผลิตเอง จะทำให้ต้นทุนลดลงและช่วยเพิ่มอัตรากำไรได้มากยิ่งขึ้น”
***เงินลงทุน 28% ลงใน New s-curve
จุดแข็งของ โออาร์ คือการมีมีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ครอบคลุมกว่า 1,900 สถานีทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) ทั้งในชุมชน ตัวเมือง และยังมีร้าน Café Amazon นอกสถานีบริการน้ำมัน อีกประมาณ 1,200 สาขาในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) จากการเก็บข้อมูลพบว่ามียอดผู้เข้าใช้บริการสถานีบริการน้ำมัน PTT Station วันละประมาณ 3 ล้านคน และจากข้อมูลอินไซด์ของผู้บริโภคผ่านสมาชิกบัตร Blue Card ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคแบบรายบุคคล ผ่านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก Big Data Analytic จึงมองว่ามีโอกาสทางธุรกิจในการลงทุนด้วยตัวเองหรือกับพาร์ทเนอร์ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค
***แผนขยายงานในต่างประเทศ
1.กัมพูชา ทั้งสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้าน Café Amazon ผู้บริโภคนิยมมาก ถ้าเป็น ร้าน Café Amazon มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ในกัมพูชาทั้งในแง่ของรายได้และจำนวนแก้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) แล้วก็ยังมีผู้สนใจที่จะเข้ามาเป็นแฟรนไชส์อีก สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ก็เช่นกัน เพราะเศรษฐกิจกัมพูชากำลังเติบโต
2.ลาว จะมีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้าน Café Amazon เป็นตัวหลัก โดยที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจที่เป็นทางด้าน Non-Oil อื่น
3.ฟิลิปปินส์ เร่งขยายธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ส่วน Non-Oil ก็เริ่มที่จะปรับรูปแบบของร้าน Café Amazon ให้เข้ากับวัฒนธรรมของคนที่ฟิลิปปินส์ เพราะว่าในร้านสะดวกซื้อหรือร้านกาแฟที่นิยมให้มีอาหารหนักอยู่ในร้านด้วย
4.จีน มี 2 ธุรกิจ คือ น้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants และร้าน Café Amazon โดยเปิดที่เมืองหนานหนิง 2 สาขา ซึ่งที่ประเทศจีนตอนใต้มีรสนิยมและวัฒนธรรมคล้ายกับคนไทย

***เปิด 5 จุดเด่นของหุ้น โออาร์ แบรนด์อันดับ 1
1.เป็นแบรนด์อันดับ 1 ไม่ว่าจะเป็นสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ร้าน Café Amazon ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น PTT Lubricants และก๊าซหุงต้ม ปตท. มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562)
2.โมเดลธุรกิจมีความแตกต่าง นั่นคือ การมีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station เป็นแพลตฟอร์ม ทำให้เกิดธุรกิจ Non-Oil ซึ่งอัตรากำไรสูงกว่าของธุรกิจน้ำมัน
3.ธุรกิจต่างประเทศ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศเมียนมา จีน เวียดนาม ก็ขยายการลงทุน ดังนั้น ด้วยรูปแบบทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศทั้งผลิตภัณฑ์และคุณภาพการบริการจะทำให้ต่อยอดไปยังต่างประเทศได้อีก
4.ทีมงานมากประสบการณ์ ทั้งระดับบริหารและระดับพนักงาน มีความชำนาญในธุรกิจนี้และผ่านการโมดิฟายธุรกิจให้สำเร็จ การต่อยอดจึงไม่ใช่เรื่องยาก
5.สายสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ทเนอร์มายาวนาน ด้วยความที่เป็นบริษัทแกนนำในกลุ่ม ปตท. ทำธุรกิจพลังงานมา กว่า 40 ปี ทั้งด้านของลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง และมีสายสัมพันธ์กับผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่น่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำสัญญาซื้อระยะยาวกับโรงกลั่นทั้งในกลุ่ม ปตท. และนอกกลุ่ม ปตท. และการเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วในเรื่องความแข็งแกร่งของพลังร่วมในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมครบวงจรและความน่าเชื่อถือทางการเงิน