หากพูดถึงบริษัทที่ทำธุรกิจยางเจ้าใหญ่ในภาคอีสานที่อยู่ในตลาดหุ้น คงหนี้ไม่พ้นบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ซึ่งนับตั้งแต่บริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จนถึงพ.ย.นี้บริษัทครบรอบ 3 ปีแล้ว โดยบริษัทได้นำเงินจากการระดมทุน IPO ไปปรับปรุงเครื่องจักรและสร้างโรงงานแห่งใหม่ และเริ่มมีกำลังการผลิตให้เห็นตั้งแต่ไตรมาส3/63 ส่งผลให้กำไรสุทธิสะสมในช่วง 9 เดือนแรกเติบโตอย่างโดดเด่นแตะระดับ 437.10 ล้านบาท
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ว่าหลังจากนี้จะเดินหน้าธุรกิจต่อไปอย่างไร ให้ได้รับทราบกัน
** Q4/63 เข้าไฮซีซั่น - ลุ้นรับเคลมไฟไหม้ - บุ๊กค่าเงิน 10 ลบ.
ภาพรวมผลการดำเนินงานในส่วนของกำไร 3 เดือน เราแตะ 437.10 ล้านบาท ส่วนทั้งปี62 เราทำได้ 538.88 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส4/63 ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องซึ่งปกติเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจด้วย รวมถึงในไตรมาสนี้คาดว่าจะสามารถสรุปและบันทึกเคลมประกันจากค่าเสียหายกรณีเพลิงไหม้อาคารเก็บสินค้าช่วงก.ย.ที่ผ่านมา อีกทั้งยังสามารถบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสนี้ได้ประมาณ 10 ล้านบาท
** มั่นใจกำไรปี 63 นิวไฮ
ปีนี้มีโอกาสจะทำสถิติกำไนสูงสุดใหม่(New High) ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากช่วงไตรมาส3/63 บริษัทสามารถเดินหน้ากำลังการผลิตโรงงานใหม่ได้แล้ว รวมถึงคำสั่งซื้อยางในช่วงไตรมาส3/63 เพื่อส่งมอบในช่วงไตรมาส4/63 มีราคายางค่อนข้างดีจากระดับ 60 บาท/กิโลกรัม แตะระดับ 80 บาท/กิโลกรัม ส่งผลให้บริษัทสามารถทำกำไรในช่วงการขายยางได้ค่อนข้างดี โดยการส่งมอบราคายางดังกล่าวล่วงหน้าต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้าแล้ว ซึ่งเป้าหมายปีนี้ของบริษัทคือสามารถทำรายได้แตะ 17,000 ล้านบาท ด้านปริมาณการขายแตะ 365,000 ตัน ทั้งนี้ในส่วนของกำไรปกติบริษัทสามารถโตได้เฉลี่ยปีละ 4-5%
** ไม่หวั่นสหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ภาษี GSP
กรณีสหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษภาษี(GSP) สินค้าล้อยางรถเล็กเรเดียลกับไทยซึ่งจะมีผล 30 ธ.ค.63 มองว่ากลุ่มลูกค้าผลิตยางรถยนต์ของบริษัท ที่มีฐานการผลิตในไทยอาจมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ มีจำนวนประมาณ 2 เจ้า แต่บริษัทมองว่ามีผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยลูกค้ารายแรก LLIT (หลินหลง) ส่วนใหญ่ผลิตสินค้าล้อยางรถบรรทุก ซึ่งปกติจะมีคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) กับบริษัทเป็นประเภทระยะยาว (Long Term) เดือนละประมาณ 4,000 ตัน โดยลูกค้าดังกล่าวสามารถส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนได้ ส่วนลูกค้าอีกรายคือ Zhongce rubber (จงเช่อรับเบอร์) ซึ่งผลิตยางรถเล็กบางส่วน เป็นลูกค้าที่ซื้อขายยางกับบริษัทแบบรายวัน (Trader Spot) โดยปกติจะซื้อยางกับบริษัทประมาณ 3% หรือประมาณ 10,000 ตัน/ปี ซึ่งปริมาณดังกล่าวเป็นจำนวนเล็กน้อยจึงไม่มีนัยยะสำคัญ
** มองราคายางปี 64 เฉลี่ย 70 บ./ก.ก.
ปัจจุบันมองว่าราคายางผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพราะสถานะการณ์เศรษฐกิจในโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น จากข่าวเรื่องวัคซีนโควิด-19 , ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มช่วยหนุนสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ให้ทุเลาลง , ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นปกติหนุนราคายางเทียม และราคาน้ำยางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นตามได้ รวมถึงการต้องการใช้ถุงมือยางยังมี ด้านวัคซีนโควิด-19 หากผลิตออกมาสำเร็จมองว่าช่วยหนุนให้การเดินทางการใช้รถกลับมาซึ่งเป็นผลดีโดยตรงกับบริษัท คาดว่าจากปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนให้ราคายางปีหน้าเห็นระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 70 บาท/กิโลกรัม
** ปี 64 ลุ้นเห็นยอดขายทะลุ 2.7-2.8 หมื่นลบ.
แผนงานปีหน้าบริษัทวางเป้าหมายยอดขายแตะ 21,000 ล้านบาท และปริมาณการขายแตะระดับ 410,000 ตัน ภายใต้การประมาณราคายางขั้นต่ำ 50 บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามหากราคายางดีกว่าระดับดังกล่าว มีโอกาสเห็นยอดขายมากกกว่าระดับ 27,000-28,000 ล้านบาท ตามทิศทางความต้องการยางยังมีในตลาด
สำหรับกำลังการผลิตรวมของทั้ง 2 โรงงานตามแผนเดิมจะอยู่ที่ระดับ 460,000 ตัน/ปี แต่บริษัทวางแผนปรับเครื่องจักรให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตอีก 50,000/ปี โดยใช้ทีมวิศวะกรปรับเทคนิคเครื่องจักรโดยใช้งบ 60 ล้านบาท ใช้ซื้อเตาอบ 1 เตามูลค่า 40 ล้านบาท และปรับเปลี่ยนลูกรีดมอเตอร์อีก 20 ล้านบาท ซึ่งวางแผนปรับปรุงช่วงวันหยุดยาวเบื้องต้นคือในช่วงสงกรานต์ปี 64 โดยคาดว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตเต็มที่แตะระดับ 510,000 ตัน/ปี ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง64
** รอปิดดีล "มิชลิน" ต้นปี 64 หนุนยอดขายหมื่นตัน
ในปีหน้าบริษัทยังคำสั่งซื้อเพิ่มจากกลุ่มลูกค้าเดิม และลูกค้ารายใหม่ โดยมีสัดส่วนรายได้ในประเทศปี64 ลดลงเหลือ 40% จากปี63 อยู่ที่50% และที่เหลือจากต่างประเทศเป็น 60% ซึ่งในสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศแบ่งเป็น จีน 40% , สิงคโปร์ 30% และอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย เป็นต้น
ส่วนลูกค้าในกลุ่มยุโรปปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการอนุมัติจากกลุ่ม "มิชลิน" ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขั้นตอนการตรวจโรงงานผ่านเรียบร้อย แต่สินค้ายางที่ส่งไปก่อนหน้านี้ติดปัญหาทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน เนื่องจากสินค้ายางถูกทิ้งไว้นานก่อนตรวจจากผลกระทบช่วงโควิด-19 ทำให้คุณภาพยางลดลง แต่บริษัทได้ส่งสินค้าล็อตใหม่ไปแล้ว คาดว่าช่วงต้นปี64 จะทราบผลสรุป และหากได้รับการอนุมัติบริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายยางประเภทแผ่นรมควันปีละประมาณ 10,000 ตัน
ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนลูกค้ายางแท่ง STR ประมาณ 340,000/ปี , ยางแผ่นรมควันอัดก้อน 60,000 ตัน/ปี , ยางแผ่นรมควันคอมปาวด์ 60,000 ตัน/ปี
** เล็งขายหุ้น PP จำนวน 2-3 ราย ไม่เกิน 154 ล้านหุ้น
ก่อนหน้านี้ครอบครัวได้ขายหุ้นบิ๊กล็อตให้กับ Daiwa Fund Consulting Co.Ltd. นักลงทุนสถาบันจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากนี้คงไม่มีการขายจากกลุ่มครอบครัวผู้ถือหุ้นโดยตรงแล้ว แต่หากเป็นกรณีขายหุ้นประเภทหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) บริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุย 2-3 ราย เป็นกลุ่มลูกค้าจีนที่เป็นเทรดเดอร์โดยตรงของ NER จำนวน 2 ราย และลูกค้าของกลุ่ม Daiwa จำนวน 1 ราย ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีข้อสรุปเมื่อไหร่ แต่ต้องมีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท ทั้งนี้หากคิดจำนวนหุ้นที่ต้องการขายจะต้องไม่เกิน 154 ล้านหุ้น
** จ่อขอ Working Cap แบงก์อีก 2 พันลบ. หนุนเงินสดปึ้ก
ปัจจุบันบริษัทมีเงินสด (Clash Flow) ในการซื้อของได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวรองรับการซื้อยางได้ประมาณ 2 เดือน แต่อย่างไรก็ตามอาจไม่เพียงพอในช่วงราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ขออนุมัติวงเงินออกหุ้นกู้ 2,000 ล้านบาท และออกหุ้นกู้ไปแล้วจำนวน 700 ล้านบาท และพิจารณาจะขอเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) จากธนาคารอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นตัวเลือกพิจารณาด้านดอกเบี้ยเพิ่มเติม
** ปี 64-68 โตเฉลี่ย 10-15% ส่ง "แผ่นปูนอนวัว" ลุยตลาด
แผนการเติบโตของรายได้ช่วง 5 ปี (ปี 64-68) คาดหวังการเติบโตปีละ 10-15% โดยสินค้าต้นน้ำประเภทยางดิบเมื่อขยายกำลังการผลิตแตะระดับ 510,000 ตัน/ปีได้แล้วในปี 64 คิดว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งบริษัทจะเริ่มหันมารุกธุรกิจปลายน้ำ หรือการแปรรูปเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีอัตราการทำกำไรสูงประมาณ 20%
โดยปี64 จะเห็นการจำหน่ายแผ่นปูนอนวัว ซึ่งปัจจุบันติดขั้นตอนการจดลิขสิทธิ์รูปลักษณ์ภายนอก คาดว่าจะสำเร็จในช่วงกลางปี64 ส่วนลิขสิทธิ์สูตรบริษัทจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับยังอยู่ระหว่างรอการติดตั้งเครื่องจักรจากไต้หวันงบประมาณ 200-220 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มมียอดขายเข้ามาบ้างในช่วงไตรมาส4/64 และคาดหวังรายได้เต็มปี 65 แตะระดับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศ และลูกค้ากลุ่มออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ซึ่งบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ในประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ในอนาคตจะเห็นการผลิตธุรกิจปลายน้ำอื่นๆ เพิ่ม ซึ่งกลางปี 64 คาดว่าจะเห็นข้อสรุปการทำสินค้าประเภทสุขภาพอีก 2 ชนิด