เศรษฐกิจไทยปี 2025 : จำเลข “สาม” ไว้ให้ดี
กรรณ์ หทัยศรัทธา
นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน
สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
ต้องยอมรับว่าปี 2024 ถือเป็นปีที่เกิดเรื่องราวขึ้นมากมายสำหรับประเทศไทยทั้งการเปลี่ยนผ่านนายกฯ อุทกภัยที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในภาคเหนือ รวมถึง ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูง
ปี 2025 สิ่งที่ผมอยากจะมาเน้นย้ำ และ จำเป็นกิมมิคง่ายๆ คือ เลข “สาม”
สามแรก : ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสู่ระดับ 3.0% ในปี 2025 จากแรงสนับสนุนของ 1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเรือธงอย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 2) เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติชั้นนำที่ตบเท้าเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Data centre, Cloud และ 3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น (ผมคาดว่านักท่องเที่ยวขาเข้าของไทยจะอยู่ที่ 38 ล้านคน)
การมาของดิจิทัลวอลเล็ตเฟสสองรวมถึงเฟสต่อไปๆ ในปี 2025 ชัดเจนว่ามุ้งเน้นไปที่การกระตุ้นเครื่องยนต์การบริโภคภาคเอกชน (คิดเป็นกว่า 56% ของ GDP ไทย) อ้างอิงจากการสำรวจของ CGS International ผมพบว่าเงินที่แจกให้กับประชาชนราวครึ่งหนึ่งถูกนำไปใช้บริโภคสินค้าและบริการ อีกส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้หนี้ ดังนั้น จากการประเมินเชิงปริมาณและการสำรวจ ผมคาดว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจราว 0.3% หรือ 30bp
มากไปกว่านั้น พัฒนาการณ์ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สมาคมธนาคารไทย ได้ออกมาตรการแก้หนี้ หรือ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อจัดการกับหนี้ครัวเรือนที่สูง ณ ปัจจุบัน (ณ ระดับ 89.6% หนี้ครัวเรือน ต่อ GDP) ครอบคลุมหนี้ราว 8.9แสนล้านบาท (5.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด)
มุมมองของผมต่อมาตรการนี้เป็นบวกเนื่องจากถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมาช้านานและแม้ว่าจะอาจจะลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไม่ได้ 5.5%ในทันที แต่การพักดอกเบี้ย 3 ปี และ จ่ายค่างวดในส่วนเฉพาะของเงินต้น ถือว่าฟังดูเข้าท่าและเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้เป็นหนี้ไม่มากก็น้อย
ปัจจัยลบที่ผมมองเห็นต่อเศรษฐกิจไทย คือ การเข้ามารับตำแหน่งอีกครั้งของ ปธน.ทรัมป์ และ นโยบายกีดกันทางการค้าที่จะมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าซึ่งอาจกระทบต่อการเติบโตภาคส่งออกที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อน GDP หลักของไทย
สามต่อมา : ผมคาดว่าเงินเฟ้อของไทยในปีหน้ามีแนวโน้มค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรง 0.3% หรือ (30bp) ซึ่งผมเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเติบโตเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.5% โดย ธปท. ประเมินว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุก 1% จะส่งผ่านไปยังภาคเอกชน (กระทบค่าจ้าง และ ราคาขายของสินค้าและบริการ) ประมาณหนึ่งในสาม หมายความว่าค่าแรงที่สูงขึ้นจะถูกส่งมาที่ราคาสินค้าและบริการราว 0.3%
สามสุดท้าย : ผมคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า ดังนั้น ในส่วนของนโยบายดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ผมเชื่อว่า ธปท. จะระมัดระวังกับการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ มองว่าธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียงแค่ 1 ครั้ง ลงมาที่ระดับ 2.00% ในปี 2025 เพื่อรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ รวมถึง รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน THB/US$ ซึ่งผมมองอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 34.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี
“หมายเลข “สาม” จึงมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยปีหน้าชัดเจนและรอบด้านทั้งในแง่ของ การเติบโต (Growth Stability) ราคา (Price Stability) และ เสถียรภาพ (Financial Stability)”
ถ้าจะให้ผู้อ่านและนักลงทุนจำง่ายๆ เป็นดั่งคำขวัญปีใหม่ 2568 ก็คงต้องบอกว่า
“เศรษฐกิจไทยโต 3% มาตรการภาครัฐฯผลักดันเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ 0.3% และ เฟดฯมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง”
สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ