efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน แบงก์ชาติไหน... มีโอกาสลดดอกเบี้ยสูงสุด? (2) โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

แบงก์ชาติไหน... มีโอกาสลดดอกเบี้ยสูงสุด? (2)

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

แบงก์ชาติไหน... มีโอกาสลดดอกเบี้ยสูงสุด? (2)

 

มาถึงตรงนี้ คงยากที่จะปฏิเสธว่าเรากำลังอยู่ในบรรยากาศที่แบงก์ชาติหลักทั่วโลกส่วนใหญ่กำลังอยู่ในโหมดใกล้ที่จะลดดอกเบี้ยกันเป็นส่วนใหญ่ บทความนี้ จะขอไล่เรียงถึงบรรดาแบงก์ชาติหลัก รวมถึงในแถบอาเซียน ว่าประเทศใดมีโอกาสลดดอกเบี้ยมากน้อยกว่ากันต่อจากบทความครั้งก่อนในปีนี้

 

ตัวเต็งอันดับ 2 ธนาคารกลางยุโรป

ก่อนอื่นคงต้องบอกว่าหากพิจารณาภาพใหญ่ของเศรษฐกิจยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ การอ่อนตัวลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ล้วนจะชี้ไปในทิศทางการลดดอกเบี้ย แม้ว่าอาจต้องพิจารณาระดับค่าจ้างว่ายังจะลดลงแบบที่เป็นไปในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่

 

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีสมาชิกบางท่านของธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีจะกังวลว่าการลดลงของอัตราเงินเฟ้อจากระดับ 2.9% สู่ 2% จะมีความยากลำบากกว่าการลดลงของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาที่ลดมาตามปัจจัยอุปทานที่สภาวะได้ผ่อนคลายลงเองตามลำดับ เนื่องจากเงินเฟ้อในส่วนที่เหลือโดยหลักน่าจะมาจากด้านอุปสงค์แล้วก็ตาม ซึ่งตรงนี้ ทำให้ผมมองอีซีบีว่าน่าจะเป็นเต็ง 2 ที่น่าจะลดดอกเบี้ยในปีนี้

 

ส่วนธนาคารกลางสหรัฐนั้น ผมให้เป็นเต็ง 1 เนื่องจากทางฝั่งสหรัฐ ไม่มีใครในคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐที่มีความเห็นแตกต่างว่าควรต้องรอเวลาให้เนิ่นนานไปถึงสิ้นปีนี้หรือปีหน้าจึงค่อยลดดอกเบี้ยเหมือนกับอีซีบี เนื่องจากมีความกังวลต่อความยากลำบากของการลดลงของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐในส่วนที่เหลือโดยสมาชิกอีซีบีสายกังวลเงินเฟ้อได้ชี้ว่ามีสัญญาณบางอย่างที่สามารถทำให้ประเมินได้ว่าปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของยุโรปที่ในตอนนี้ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ว่ามาจากฝั่งอุปสงค์ในประเทศมากกว่าฝั่งอุปทาน ดังนี้

 

เริ่มจากจะเห็นได้ว่าภาคบริการส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผม ร้านทำฟัน ร้านอาหารนอกบ้าน หรือกิจกรรมกีฬาต่างๆ โดยราคาของบริการเหล่านี้ล้วนขึ้นอย่างค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะบอกเราได้ว่าอุปสงค์โดยรวมของประเทศสูงกว่าอุปทานโดยรวม ส่งผลให้ระดับราคาภาคบริการสูงขึ้น โดยสัดส่วนหลักของต้นทุนของบริการเหล่านี้ คือค่าแรงของคนทำงาน ซึ่งโดยภาพรวม ก็สูงขึ้นในแทบทุกประเทศใน DM โดยที่ราคาของสินค้านำเข้าเริ่มจะลดลงเป็นลำดับ

 

นอกจากนี้ ความต่อเนื่องของกำลังการผลิตสำรองที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ซึ่งปรากฏชัดว่าจากการที่ใช้กำลังการผลิตของแรงงานโดยมีอัตราสูงขึ้น โดยที่มีผลการศึกษาทางวิชาการในอดีต ที่ระบุว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อภาคบริการและกำลังการผลิตสำรอง (Spare Capacity) มีลักษณะที่ผกผันกัน โดยในขณะนี้ สถานการณ์คือเหลือกำลังการผลิตสำรองอยู่ไม่มาก จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อภาคบริการสูงขึ้น โดยที่ลูกจ้างสามารถเรียกร้องค่าแรงเพิ่มได้ง่ายกว่าปกติ เนื่องจากมีกำลังแรงงานสำรองอยู่ในตลาดไม่มาก โดยการที่จะลดอัตราเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปสงค์นั้น ต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเท่านั้น

 

ท้ายสุด อัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงจากฝั่งอุปสงค์ในช่วงนี้ น่าจะจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวในการดึงให้เงินเฟ้อลงมา อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศ DM กำลังใกล้จะถึงจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายใน Cycle นี้ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในจังหวะช่วงถัดไป มีความเป็นได้ที่จะลดลงได้ยากขึ้นและใช้ระยะเวลานานขึ้นมาก

 

ตัวเต็งอันดับ 1 ธนาคารกลางสหรัฐ

ผมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด น่าจะเป็นเต็งหนึ่งสำหรับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2024 โดยไม่มีใครในคณะกรรมการเฟดที่เห็นต่างจากแนวคิดที่ว่าควรลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้ แม้แต่สมาชิกที่เน้นอัตราเงินเฟ้อมากที่สุด อย่าง มิเชล โบว์แมนก็ตาม

 

โดยแม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ เดือนมกราคม 2024 จะออกมาล่าสุด แบบไม่ลดลงจากเดือนก่อนซึ่ง Core และ Headline CPI Inflation ที่ 3.9% และ 3.1% ตามลำดับ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อ Core CPI ยังขึ้นสูงจากเดือนก่อนที่ 0.4% หรือหากพิจารณาจากทั้งตัวเลขเงินเฟ้อแบบไม่รวมส่วนที่ขึ้นหรือลงแรงสุดจากเฟดสาขาคลิฟแลนด์ และ ตัวเลขเงินเฟ้อแบบเน้นองค์ประกอบสินค้าและบริการที่ระดับราคาขึ้นหรือลงยากของเฟดสาขาแอตแลนต้า จะพบว่ามีระดับสูงขึ้น ที่สำคัญการขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อส่วนหลักในช่วงนี้ ยังมาจากภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการปรับตัวลงมา

 

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับกันว่าเงินเฟ้อ CPI ในส่วนค่าเช่าบ้านนั้น จะค่อยๆ ลดลง รวมถึงในส่วนค่าธรรมเนียมด้านการเงินที่ขึ้นมาพร้อมกับความร้อนแรงของตลาดหุ้นสหรัฐ ก็น่าจะลดลงเป็นลำดับในจังหวะเวลาถัดไป น่าจะช่วยลดความกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนถัดๆ ไปได้

 

ที่สำคัญ ตัวเลข US Retail Sales เดือนมกราคม 2024 ที่ออกมาชะลอลง -0.8% จากปีก่อน รวมถึงภาวะตลาดแรงงานสหรัฐที่ดูยังคงเข้มแข็งในระดับหนึ่งเหมือนจะบ่งบอกว่าเหมือนปริมาณเงินออมของชาวอเมริกัน (US Saving) น่าจะเหลือน้อยลงมากไปแบบพอประมาณแล้ว จากที่เคยได้รับจากรัฐบาลสหรัฐในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะชะลอตัวลงในจังหวะถัดไป ซึ่งน่าจะเข้าทางเฟดที่พร้อมจะลดดอกเบี้ยเพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจสหรัฐให้ผ่านวัฏจักรในรอบนี้ไปให้ได้

แบบสอบถามความพึงพอใจ






บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh