efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน จีนกับสหรัฐ กรณีไต้หวัน: สู้กันแบบไหนและจบไหม? โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

จีนกับสหรัฐ กรณีไต้หวัน: สู้กันแบบไหนและจบไหม?

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

FB: MacroView


 

จีนกับสหรัฐ กรณีไต้หวัน: สู้กันแบบไหนและจบไหม?

 

     หลังจากที่ข่าว แนนซี เพโรซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมาเยือนไต้หวัน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นที่ฮือฮาไปพักหนึ่ง ล่าสุด โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐก็ออกโรงมาว่าจะขายอาวุธทางทหารมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ ให้ไต้หวันเพื่อปกป้องตนเอง

 

     บทความนี้ จะขอตอบคำถามว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ กรณีไต้หวัน จะสู้กันแบบไหน ผลกระทบต่อบ้านเราและลงเอยอย่างไร

 

     ขอเริ่มจากสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐในอนาคตจะมีเรื่องใดบ้าง? จะขอแบ่งการแข่งขันสงครามของทั้งคู่ออกเป็น 4 สนาม ดังนี้

1.สนามสงครามการค้าและเศรษฐกิจ

     สงครามการค้าถูกแบ่งออกเป็นโลกของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วของสหรัฐ และ ประเทศ Frontier Market ของจีน โดยที่สหรัฐมี Digital Dollar ส่วนจีนมี Digital Yuan และกำลังพัฒนาค่อยๆ เข้าสู่ยุคที่บริหารโครงสร้างเศรษฐกิจผ่าน Inflation Targeting

 

2.สนามสงครามเทคโนโลยี

     ในปี 2022 โจ ไบเดน ได้หันมาโฟกัสสนามเทคโนโลยี War มากขึ้นโดยออกกฎหมาย Chip and Science มูลค่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์ และ กฎหมาย Inflation-Reduction มูลค่า 4.4 แสนล้านดอลลาร์ ให้เงินทุนสนับสนุนการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ พลังงานสีเขียว และ Healthcare เพื่อมาคานกับกลยุทธ์ Dual Circulation ของจีน ที่ให้เงินทุนสนับสนุนกลุ่มเซมิคอนดัคเตอร์และอุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงจัดตั้งกองทุนในการสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าว

 

     โดยสหรัฐจะพยายามไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ตนเองได้เปรียบให้กับจีน เพื่อชะลอการขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีจีนได้เจริญก้าวหน้า ไปไกลกว่าที่สหรัฐจะฉุดรั้งการพุ่งทะยานเป็นผู้นำโลกได้ คาดหมายกันว่าในอีก 5-10 ปี จีนจะเป็นเจ้าแห่งโลกเทคโนโลยีอย่างชัดเจนมากกว่านี้

 

3.สนามสงครามตลาดทุน

     ในสนามนี้ ถือเป็นสนามเดียวที่จีนยอมถอยให้กับสหรัฐ โดยล่าสุด ได้ยินยอมให้ ก.ล.ต.สหรัฐ สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลบัญชีการเงินของบริษัทจีนที่ไปจดทะเบียนเข้าเทรดในตลาดหุ้นสหรัฐ

 

4.สนามการทหาร และ ภูมิรัฐศาสตร์

     โดยทั้งคู่ใช้เครือข่ายของตนเองในการแผ่ขยายอิทธิพล โดยสหรัฐจับกับขั้วอำนาจเก่าอย่างยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนจีนจับขั้วกับกลุ่มประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลางหลายประเทศ ในขณะที่สงครามภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐปกป้องประเทศที่ให้ประโยชน์ต่างๆ กับตนเอง ส่วนจีนให้ความสำคัญกับพันธมิตรเป็น 3 ระดับ คือ ชั้นหนึ่ง คือ ทิเบต ไต้หวัน และฮ่องกง ชั้นสอง คือ พื้นที่ในแถบทะเลจีนใต้ ส่วนชั้นสาม ได้แก่ ประเทศที่ตนเองให้ความช่วยเหลือทางการเงิน อย่างประเทศในแอฟริกา

 

สำหรับประเด็นเผชิญหน้าดังกล่าว มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางใดนั้น

     ทิศทางที่จีนได้เปรียบขึ้นเรื่อยๆ จนได้เปรียบสหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า ยกเว้นในสนามตลาดทุนที่จีนยังเสียเปรียบสหรัฐ อย่างไรก็ดี ความสำคัญของดอลลาร์จะถูกลดลงเรื่อยๆ จากความไม่เป็นกลางของ นโยบายรัฐบาลสหรัฐในการใช้ดอลลาร์เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งนี้ คงจะไม่มีเงินสกุลใดจะมาแทนที่ดอลลาร์ในเร็ววันนี้

 

หันมาพิจารณาผลกระทบด้านเศรษฐกิจการค้า และ Supply Chain ของไทยจากเรื่องดังกล่าวกันบ้าง

     ในมิติผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการค้าต่อไทยนั้น จีนและสหรัฐไม่ได้มีความแตกต่างสำหรับการส่งผลกระทบต่อบ้านเรามากนัก โดยผลกระทบต่อจีดีพีราว 3-4% ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกราว 6-7% ด้าน Supply Chain จีนมีความสำคัญต่อไทยมากกว่าสหรัฐมาก โดยการนำเข้าของไทยจะได้รับผลกระทบจากจีนมากกว่าเยอะ

 

ต่อคำถามที่ว่ากรณีวิกฤตไต้หวัน จะคลี่คลายหรือไม่ อย่างไรนั้น?

     คำตอบ คือคลี่คลายที่จะไม่เกิดสงครามในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาว คาดหมายกันว่าจีนโดยผู้นำ สี จิ้น ผิง จะทำการยึดไต้หวัน อย่างเร็วสุดในปี 2027 และช้าที่สุดภายในปี 2049

 

     ในประเด็นความขัดแย้งของไต้หวันระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น ต่างคนรู้ว่าหมากต่อไปจะทำอะไรต่อ โดยทางการจีนมองไว้อยู่แล้วว่า “การต่อสู้กับสหรัฐ” อย่างไรเสีย วันนั้นคงจะต้องมาถึง

 

โดยกลยุทธ์ของทั้งคู่เกี่ยวกับไต้หวันและประเด็นหลักอื่นๆ มีดังนี้

     สำหรับสหรัฐ จะเน้นการลงทุนในด้านไฮเทคและพลังงานสีเขียว เพื่อไล่ตามจีนให้ทัน จากนั้นจะทำการหาพวกพ้องกับชาติที่ตนเองเป็นพันธมิตรและที่มีแนวโน้มว่าอยากจะเป็นพันธมิตรด้วย อาทิ กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) หรือกลุ่ม Quad (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ การสนทนาจตุรภาคีว่าด้วยความมั่นคง ประกอบด้วยสี่ชาติ คือ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, อินเดีย และญี่ปุ่น จากนั้นทำการแข่งขันกับคู่แข่ง ด้วยการปิดกั้นเข้าถึงเทคโนโลยี อาทิ การปิดกั้นข้อมูลของสหรัฐจากแอปพลิเคชัน Tiktok

 

     ด้านจีนก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผู้นำจีนมองว่าขณะนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจชาติตะวันตก กำลังย่ำแย่ ถือเป็นโอกาสของเรา โดยมองว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสแห่งประวัติศาสตร์ หรือที่ต้องฉกฉวยเพื่อให้ได้มาซึ่งการครองเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2049 โดยยิ่งเวลาเนิ่นนานไป จีนก็จะได้เปรียบสหรัฐ มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

 

     อย่างไรก็ดี ภาพในระยะสั้นจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ทางการจีนต้องพยายามทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศมีเสถียรภาพมากที่สุดผ่านนโยบายต่างๆ เพื่อต้อนรับการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ซึ่งจะมีวาระต่ออายุการเป็นผู้นำของสี จิ้น ผิง เป็นวาระที่ 3 ดังนั้น ภาพการลงทุนของตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้ ดูแล้วค่อนข้างน่าสนใจระดับหนึ่งเลยทีเดียว

 

     แล้วก็อย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการลงทุน







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh