มาละเหวยมาละวา มาซื้อหรือมาขายตาละลา
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตกลงมาต่ำมากที่ 1,291 จุด และเป็นการตกลงมาจากต้นปีถึง 8.8% ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นตลาดหุ้นที่ “แย่ที่สุดในโลก” ในขณะนั้น แต่หลังจากนั้น ดัชนีตลาดก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 4 กันยายน ดัชนีอยู่ที่ 1,365 จุด วันที่ 5 กันยายน ดัชนีปรับตัวขึ้นไปถึง 39 จุด และวันที่ 6 กันยายน ปรับตัวขึ้นต่ออีก 23 จุด เป็น1,428 จุด ทำให้ตั้งแต่ต้นปี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวขึ้นเป็นบวกแล้วประมาณเกือบ 1% และเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวขึ้นมาถึง 11% กลายเป็นตลาดหุ้นที่แสดงผลงานได้ “ดีที่สุดในโลก” ในช่วง 1 เดือนผ่านมา เพราะตลาดหุ้นโลก “ปรับตัวลงกันทั่วหน้า”
เหตุผลที่ชัดเจนก็คือ ประเทศไทยกำลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่คนเดิมที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง คือคุณแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และก็ไม่เคยมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมาก่อน อย่างไรก็ตาม เธอเป็นลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยมีผลงานโดดเด่นในการบริหารประเทศในช่วงปี 2544 จนถึงปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากความตกต่ำอย่างแรงต่อเนื่องจากวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540
คุณทักษิณได้แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าจะเข้ามาช่วยกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารประเทศทางด้านเศรษฐกิจที่จะฟื้นฟูประเทศไทยจากการ “ถดถอยหรือแน่นิ่ง” มานานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงจากระดับประมาณ 4-5% ต่อปีเหลือเพียงประมาณ 2% ต่อปีในช่วงหลัง ๆ
การแสดงออกของคุณทักษิณโดยการแสดง “วิสัยทัศน์” เมื่อ 3-4 วันก่อนหน้านี้ ได้ “จุดประกาย” ให้นักธุรกิจและนักลงทุนในตลาดหุ้น “เกิดความเชื่อมั่น” ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเริ่มก้าวเดินไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะต้องดีขึ้นและตลาดหุ้นจะต้องดีขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยตกต่ำนั้น มันอยู่ที่จุดต่ำสุดแล้ว ทุกปัจจัยที่ดีที่ทุกคนต่างก็รอคอยว่าจะมา ถึงตอนนี้ มันกำลังจะมาอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลใหม่นี้พร้อมที่จะทำแล้ว
เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะแจกคนละหมื่นบาทกับคนค่อนประเทศที่คนจำนวนมากไม่แน่ใจว่าจะทำได้และทำเมื่อไรเพราะถูก “ต่อต้าน” นั้น บัดนี้ดูเหมือนว่ามันจะเริ่มเกิดขึ้นภายในเวลา “ไม่ถึงเดือน” และเงินนี้ยังไงก็คงทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะจำนวนเงินหลายแสนล้านบาทที่จะถูกฉีดเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องหลายเดือนนั้น ยังไงก็คงส่งเสริมให้ภาคการบริโภคเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน อย่างน้อยในช่วงปลายปีนี้และอาจจะส่งผลต่อไปอีกในช่วงต้นปีหน้า
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของประเทศไทย ซึ่งนักธุรกิจและประชาชนต่างก็“รอ” มานาน ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าการรอน่าจะใกล้สิ้นสุดเต็มที โดยเฉพาะเมื่อมีสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า สหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการประชุมคราวหน้าอีกไม่กี่วันที่จะถึง ซึ่งจะทำให้แบงก์ชาติไม่มีเหตุผลอีกต่อไปที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม และถ้าดอกเบี้ยลดลง การลงทุนและการบริโภคก็จะดีขึ้น ค่าผ่อนชำระเงินกู้ก็จะต่ำลง เงินที่จะใช้เพื่อการบริโภคก็จะมากขึ้น
เศรษฐกิจโดยรวมของไทยเองนั้น ดูเหมือนว่ากำลังจะดีขึ้นจากภาวะที่ซบเซาก่อนหน้านี้ ตัวเลขการส่งออกดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ การท่องเที่ยวก็เช่นกันที่กำลังดีขึ้นและจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ว่าที่จริง จำนวนคนที่เดินในซอยรางน้ำที่ผมอยู่นั้น ดูเหมือนจะคึกคักเกือบเท่าสมัยก่อนโควิด-19 แล้วซึ่งก็ทำให้ร้านค้าปลอดภาษีและร้านสะดวกซื้อมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไม่ไปไหนมานานก็คือ เม็ดเงินที่มาจากสถาบันที่เข้าสู่ตลาดหุ้น ซึ่งประกอบไปด้วยกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนประหยัดภาษีของคนที่มีรายได้สูงเช่น LTF นั้นหายไปนานแล้ว และกองทุนที่จะมาแทนนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพพอในการดึงเงินเข้าสู่ตลาดหุ้น หรือไม่ก็เป็นกองทุนที่กำลังคิดหรือกำลังเตรียมการแต่ก็ไม่ออกมาเสียที สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ รัฐบาลยังมีอาการ “ไม่มั่นคง” เนื่องจากประเด็นทางการเมือง
แต่เมื่อถึงวันนี้ ดูเหมือนว่ากองทุนที่มี “ประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด” คือ “กองทุนวายุภักษ์” ก็ปรากฏตัวขึ้นมา และบอกว่าจะเริ่มดำเนินการระดมเงิน 1 แสนหรือ 1.5 แสนล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่ดี ๆ และราคาถูกในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่จะเป็นกองทุนที่รับประกันกับนักลงทุนว่าจะได้ผลตอบแทนอย่างน้อย 3% ต่อปี ในขณะที่ถ้าหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีก็อาจจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นไปสูงสุดถึง 8% ต่อปี ทั้งหมดนี้จะเปิดขายในเร็ววันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำใน “ไตรมาสหน้า” อีกต่อไป
ในส่วนของอายุหรือความมั่นคงของรัฐบาลที่เป็นประเด็นทำให้หลาย ๆ เรื่องต้องชะลอหรืออาจจะไม่เกิดนั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้จะมั่นคงขึ้น มีความรู้สึกว่าทุกอย่างกำลังลงตัว ผู้มีอำนาจ “ตัวจริง” ต่างก็“ลงมาเล่น” กันหมด แน่นอนว่าจะมีคนเถียงว่ามีการใช้ “นอมินี” หรือตัวแทนกันมากที่สุดเพราะ“ตัวจริง” ขาดคุณสมบัติ แต่ผมมองว่าอาจจะใช่ แต่ตัวจริงนั้นก็“เปิดตัว” ให้รู้กันชัดเจน เพียงแต่กฎหมายที่ “ไม่เป็นธรรม” อาจจะไม่สามารถเอาผิดได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ “อำนาจนอกระบบ” กับ “อำนาจในระบบ” ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกันมากขึ้น และนี่ก็คือความมั่นคงทางการเมืองแบบ “ไทยๆ”
สรุปก็คือ “Timing” หรือจังหวะเวลาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สิ่งดี ๆ ต่อตลาดหุ้นทั้งหลายต่างก็เวียนมาบรรจบกันพอดีแล้วก็ถูก “จุดชนวน” โดยคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็ทำให้หุ้น “ระเบิด” ราวกับติดจรวด ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปแรงมากพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายต่อวันสูงถึงแสนล้านบาท ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เราไม่ได้เห็นมานาน
ประเด็นสำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือ หุ้นจะขึ้นต่อไปและจะสูงไปถึงแค่ไหน นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “VI” ที่ไม่เล่นหุ้นเก็งกำไรควรจะซื้อหรือควรจะขาย? แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ผมอยากจะหวนย้อนกลับไปดูดัชนีตลาดหุ้นยุคที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาเกือบ 6 ปี
ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ที่คุณทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 330 จุด ดัชนีก็ทรง ๆ อยู่เท่าเดิมเป็นเวลาถึงประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะเริ่มวิ่งขึ้นไปแรงมากในช่วงปีที่ 3 คือปี 2546 โดยที่เมื่อสิ้นปี 2546 ดัชนีก็วิ่งขึ้นไปถึง 772 จุด เฉพาะปี 2546 ปีเดียว ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 117% ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยหลังปีวิกฤติ 2540 อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่และ “สูงที่สุด” ถึง 7.2% สถานะทางการเงินของไทยสูงสุดจากการประกาศคืนเงินที่ต้องกู้ยืมจาก IMF ก่อนกำหนดของคุณทักษิณในช่วงกลางปี 2546
หลังจากการขึ้นสู่ “จุดสูงสุด” รัฐบาลที่นำโดยคุณทักษิณก็ประสบปัญหามากมายจากการประท้วงของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 โดยที่การเติบโตของ GDP ลดลงเหลือเพียงปีละ 4-5% และดัชนีตลาดหุ้นในช่วง 3 ปีหลังของคุณทักษิณไม่สามารถขึ้นไปเกินจุดสูงสุดที่ 772 จุดอีกเลย
รอบใหม่ที่คุณทักษิณกลับมา “หลังจาก 17 ปี” นี้ ดูเหมือนว่าหุ้นจะต้อนรับ “ตั้งแต่วันแรก” เพราะคนอาจจะคิดถึงอดีตที่หอมหวาน คำถามอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงสร้างของประชากรที่แก่ตัวได้ไหม เช่นเดียวกับปัญหาในการบริหารประเทศในระยะยาว ถ้าทำได้ หุ้นก็อาจจะโตต่อไปได้อีกยาวนาน แต่ถ้าหากว่าทำไม่ได้ หุ้นก็คงขึ้นไปได้อีกไม่นาน และถ้าเป็นอย่างนั้น นี่ก็คือโอกาสที่ควรจะขาย เพราะมันอาจจะเป็น “ก๊อกสุดท้าย” ที่เราจะขายหุ้นได้ในราคาที่ดี