efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน นับถอยหลังเอเปค กับก้าวต่อไปที่ท้าทายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดย PWC .

โดย
PWC .

:PWC
.

นับถอยหลังเอเปค กับก้าวต่อไปที่ท้าทายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ 
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย

    นับถอยหลังอีกไม่ถึง 1 เดือน การประชุม APEC CEO Summit 2022 ก็จะเริ่มขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยในระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปคในครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการพบปะ อภิปราย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของผู้นำเศรษฐกิจ และผู้นำชุมชนธุรกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วนต่อการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดย PwC ยังได้รับเกียรติให้เป็น ‘พันธมิตรด้านองค์ความรู้’ หรือ ‘Knowledge Partner’ ติดต่อกันเป็นปีที่ 13 แล้ว

 

    สำหรับบทบาทในฐานะพันธมิตรด้านองค์ความรู้ เราจะได้มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นสำคัญและความท้าทายที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญอยู่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19  ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของภูมิภาค

    ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นขุมพลังสำคัญของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก เพราะมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโลก และมีการคาดการณ์ว่า 60% ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมาจากภูมิภาคนี้อีกด้วย

    หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ที่การประชุม APEC CEO Summit มีขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปีนั้น PwC ได้จัดทำรายงาน ‘Asia Pacific’s Time’ เพื่อศึกษาถึงการเจริญเติบโตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของภูมิภาคมีความแข็งแกร่งจากการขยายตัวของตลาดผู้บริโภค การเติบโตอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลาง และการเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น

    ทั้งนี้ ปัจจัยเชิงบวกเหล่านี้ ยังมีส่วนช่วยให้ภูมิภาคสามารถรับมือกับความท้าทาย และก้าวข้ามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานในหลาย ๆ ประเทศให้ผ่านพ้นไปได้ 

 

    อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่ยาวนานและต่อเนื่องของสถานการณ์โควิด-19 ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้เป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานรูปแบบใหม่ การปรับใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

     5 เสาหลักขับเคลื่อนการเติบโต-ฟันฝ่ากระแสโลก

    ด้วยเหตุนี้ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยการเจริญเติบโตในอดีตได้เพียงอย่างเดียว หากต้องการที่จะก้าวข้ามความท้าทายและฟันฝ่ากระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ซึ่งรายงานของ PwC ได้ระบุถึง 5 เสาหลัก (Growth pillars for success) ที่จะเป็นรากฐานของความสำเร็จให้กับภูมิภาค ประกอบไปด้วย

    -พัฒนาความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
    -ปลดล็อกศักยภาพธุรกิจในภูมิภาคให้เติบโต
    - ปรับสมดุลห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมนวัตกรรม
    - ขยายและยกระดับทักษะแรงงานไม่ให้ล้าสมัย 
    - สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่อนาคตของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero future)

 

    แม้ว่าพิษของสถานการณ์โควิดจะยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภาพกว้าง แต่ผลจากการสำรวจ 25th Asia Pacific CEO Survey ฉบับล่าสุดของ PwC ระบุว่า ซีอีโอในภูมิภาคนี้ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยในขณะที่แต่ละประเทศต่างกำลังฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเอง แต่ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสาธารณสุข และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) มากขึ้น

    นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจยังหันมาใส่ใจในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าและบริการในระดับภูมิภาค (Localisation) มากขึ้นเช่นกัน โดยการสร้างความเชื่อมั่น (Trust) กลายเป็นปัจจัยอันดับแรกที่ผู้นำธุรกิจให้ความสำคัญ

    จากที่ผมกล่าวไปข้างต้นว่า ในระยะต่อไปภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะไม่สามารถพึ่งพาการเติบโตแบบ passive growth หรือแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ ดังนั้น ผู้นำทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจควรต้องปรับนโยบายและกลยุทธ์ให้เป็นไปในแบบเชิงรุก หากต้องการก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างมั่นคง ซึ่งในปีนี้ PwC จะได้ทำการศึกษาถึง 5 เสาหลักนี้ในเชิงลึก และจะได้นำข้อมูลมาเปิดเผยในการประชุม APEC CEO Summit ต่อไป 

 

    ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลที่ PwC จะได้นำมาแลกเปลี่ยน จะเป็นเสมือนเข็มทิศที่ช่วยจุดประกายทางความคิด และช่วยประกอบการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ของทั้งผู้นำภาครัฐและเอกชน เพราะเป้าประสงค์ (Purpose) ในการดำเนินธุรกิจของเรา มุ่งเน้นไปที่การสร้างความไว้วางใจ และการช่วยแก้ปัญหาที่มีความสำคัญและมีความซับซ้อนให้กับธุรกิจ ชุมชน และโลกใบนี้ของเราครับ
 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh