ตลาดยุโรป : Underdog ที่ดูน่าสนใจ
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ตลาดยุโรป : Underdog ที่ดูน่าสนใจ
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิดบ้านสามารถแบ่งแต้มจากทีมจ่าฝูงอย่างหงส์แดง ลิเวอร์พูล แบบที่เกือบจะเอาชนะได้ด้วยซ้ำ สาเหตุหนึ่งซึ่งอาจจะถือว่าเป็นจุดหลักคือการที่ได้รับการคาดหมายจากแฟนบอลแบบค่อนข้างต่ำกว่าทุกครั้งว่าจะสามารถทำผลงานได้ดี จากฟอร์มในช่วงที่ผ่านมาที่ไม่ค่อยมีความแน่นอน ซึ่งถือว่ามีความคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นยุโรปในขณะนี้และในปีนี้ ดังนี้
โดยหากพิจารณาแบบภาพรวม เรามักจะตัดสินเศรษฐกิจยุโรปว่าดีหรือไม่ ผ่านทรงของประเทศหลักอย่างเยอรมันและฝรั่งเศส โดย ณ ตรงนี้ เศรษฐกิจเยอรมันซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ จากทั้งราคาพลังงานที่สูงขึ้นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่พยายามจะออกจากระบบเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาด ซึ่งถือเป็นกุญแจหลักของการเติบโตเศรษฐกิจเยอรมัน สำหรับในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจเยอรมันจะยังไม่เกิด Re-cession ในปีนี้ ทว่าภาพรวมของเศรษฐกิจยังค่อนข้างเปราะบางมาก
ด้านเศรษฐกิจฝรั่งเศส ด้วยการขาดดุลด้านการคลังภาครัฐที่ 5.5% ของจีดีพีในปี 2023 ที่เกิดขึ้นท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงทั่วโลกที่ยังสูง ส่งผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสไม่มีทางเลือก นอกจากการทำให้นโยบายการคลังตึงตัวขึ้น ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจอิตาลีก็ยังดูแล้วไม่รู้ว่าจะออกหมู่หรือจ่า ที่แม้ว่าระดับผลิตภาพจะลดลงกับหนี้ภาครัฐที่พุ่งสูงขึ้น ทว่าเศรษฐกิจอิตาลีก็ดูจะเติบโตได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ความหวังของเศรษฐกิจยุโรปดูแล้วก็จะยังพอดูสดใสจากยุโรปกลางกับตะวันออก โดยจากตัวเลขของ Eurostat เศรษฐกิจโปแลนด์สามารถพุ่งทะยานจนมีอัตราส่วนจีดีพีต่อประชากรที่มีขนาดสูงกว่ากรีซและโปรตุเกส รวมถึงเศรษฐกิจโรมาเนียก็น่าจะสามารถทำได้เช่นเดียวกัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้แต่ฮังการีที่มีผู้นำสาย Strong Man อย่างวิคเตอร์ ออร์บาน ยังคาดว่าจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้ในปีนี้และปีหน้า
ที่สำคัญ ยุโรปใต้สามารถมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่ายุโรปเหนือ โดยอดีตเหล่าบรรดาประเทศ PIGS ที่เคยเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจยุโรปอย่างโปรตุเกส สเปน และกรีซ ในปัจจุบัน จีดีพีของประเทศเหล่านี้สามารถเติบโตได้แรงกว่าเศรษฐกิจเยอรมัน หากวัดกันนับตั้งแต่จากปี 2020 จากภาคการท่องเที่ยวและการที่ไม่ได้พึ่งพาภาคการผลิตอุตสาหกรรมมากนัก
นอกจากนี้ โอกาสการถ่ายโอนอำนาจของผู้นำยุโรปยุคปัจจุบันไปสู่รุ่นถัดไปเริ่มใกล้เข้ามาแล้ว เริ่มจากผู้นำฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง ซึ่งฝรั่งเศสประสบกับภาวะเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ รวมถึงท่าทีซึ่งดูเป็นมิตรต่อผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ด้านโอลาฟ โชลทซ์ ของเยอรมัน ก็ประสบการณ์คะแนนนิยมที่ตกต่ำอย่างหนักที่สุดนับตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้นำมา โดยการเลือกตั้งใหญ่เยอรมันปี 2025 คาดว่าจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง รวมถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษ รึซิ ซูนัค ที่มีโอกาสจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้าต่อพรรคแรงงาน
หากพิจารณาในมิติเสถียรภาพด้านการเมืองระหว่างยุโรปกับสหรัฐเมื่อมองไปข้างหน้าในปีนี้ จะพบว่าการผนึกกำลังของภูมิภาคยุโรปต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงของรัสเซียต่อภูมิภาคยุโรป ได้เร่งให้เกิดการสร้างความร่วมมือด้านการคลัง (Fiscal Integra-tion) ในทวีปยุโรปให้เกิดจริงได้เร็วขึ้น ในขณะที่การเลือกตั้งใหญ่ผู้นำสหรัฐช่วงปลายปีนี้ ไม่น่าจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ของการเมืองสหรัฐให้ดีขึ้นกว่านี้ ไม่ว่าไบเดนหรือทรัมป์จะชนะก็ตามที
นอกจากนี้ ในช่วงปีนี้ หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อยุโรปจะพบว่าลดลงมาเร็วกว่าของสหรัฐอย่างชัดเจนขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจยุโรปก็ถือว่าชะลอตัวลงมาเร็วกว่าของสหรัฐค่อนข้างมาก ทำให้เริ่มเห็นสมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐออกมาเชียร์ให้ลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น เพราะกังวลถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจ หากว่ายังคงตรึงดอกเบี้ยไว้แบบที่สูงเป็นประวัติการณ์ และมีโอกาสลดดอกเบี้ยในปีนี้ เร็วกว่าธนาคารกลางสหรัฐ
ทำให้มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อยที่ ตลาดหุ้นยุโรปซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าคาดในปีที่แล้ว จะสามารถสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับชาวโลกได้เห็นอีกหนึ่งปี จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น ซึ่งตลาดยังไม่ได้มองและให้น้ำหนักในจุดดังกล่าวมากเท่าไรนัก นี่ยังไม่นับรวมถึงอัตราส่วน Price Earnings (P/E) ของตลาดหุ้นยุโรปที่ในขณะนี้อยู่ที่ราว 14.7 เท่า เทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งอยู่ที่ราวกว่า 21 เท่า