efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน แฮร์ริส vs. ทรัมป์: มุมเศรษฐกิจและการลงทุน โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

แฮร์ริส vs. ทรัมป์: มุมเศรษฐกิจและการลงทุน

 

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

ถึงนาทีนี้ ต้องยอมรับว่าการแข่งขันชิงชัยการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ ระหว่างกมลา แฮร์ริส กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในอีกไม่ถึง 3 สัปดาห์ข้างหน้าถือว่ามีความเข้มข้นมาก แม้ ณ นาทีนี้ ในความเห็นของผม ประเมินว่าทรัมป์จะดูได้เปรียบแฮร์ริสอยู่เล็กน้อย ทว่าท้ายสุดแล้ว เกมนี้ยังสามารถพลิกได้ตลอด

 

บทความนี้ จะขอพูดถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสินทรัพย์การลงทุนทั้งในต่างประเทศและไทยของทั้งคู่ ดังนี้

 

หากเปรียบเทียบระหว่างนโยบายของกมลา แฮร์ริส กับ โดนัลด์ ทรัมป์ จะพบว่ามีความแตกต่างกันในมิติต่างๆ ดังนี้

 

1.เศรษฐกิจ: แฮร์ริสเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินต่อครอบครัวชาวสหรัฐที่มีบุตรใหม่ ผู้ซื้อบ้านเป็นครั้งแรก และผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน รวมถึงหนุนนโยบายพลังงานสีเขียวอย่างเต็มที่ โดยใช้แหล่งเงินหลักจากการเก็บภาษีผู้มีความมั่งคั่งสูงและบริษัทนิติบุคคลเพิ่มขึ้น

 

ส่วนทรัมป์เน้นการลดภาษีนิติบุคคลเพื่อให้กลไกการตลาดช่วยทำงานให้เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น  ทำให้มีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงนำภาษีที่เก็บจากสินค้านำเข้ามาในสหรัฐ (Tariff) เพื่อไปใช้จ่ายในโครงการเมกาโปรเจคต์ต่างๆ

 

2.ด้านเทคโนโลยีและการค้ากับจีน: คาดว่าแฮร์ริสจะยังคงนโยบายด้านเทคโนโลยีและการค้ากับจีนจากสมัยโจ ไบเดน ที่มีการห้ามขายผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีให้จีน รวมถึงห้ามนำเข้าสินค้าที่มีเทคโนโลยีจีนเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ แฮร์ริสยังวางแผนจะตั้งกำแพงภาษีในสินค้าบางรายการต่อจีน สำหรับด้านทรัมป์มีแผนจะตั้งกำแพงภาษีขั้นต่ำกับสินค้านำเข้าสหรัฐของทุกชาติ โดยมีการตั้งกำแพงภาษีเพิ่มเติมต่อจีนเพิ่มเติมอีกด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่า Tech War กับจีนน่าจะน้อยกว่าหากเดโมแครตเป็นรัฐบาล เพราะต้องเกรงใจ อิลอน มัสก์ ซึ่งถือเป็นหัวคะแนนใหญ่ของทรัมป์ในรอบนี้ ที่ Tesla ของมัสก์มีตลาดใหญ่มากในจีน

 

3.ด้านการต่างประเทศ: โดยเริ่มจากประเด็นอิสราเอล แฮร์ริสมีท่าทีที่จะสนับสนุนอิสราเอลต่อเนื่องจากนโยบายสมัยไบเดน ด้านทรัมป์ดูจะสงวนท่าทีต่อนโยบายต่ออิสราเอล แต่คาดว่าจะสนับสนุนอิสราเอลไม่น้อยกว่ายุคของไบเดน สำหรับประเด็นยูเครนนั้น แฮร์ริสมีท่าทีค่อนข้างชัดเจนว่าจะยังคงใช้นโยบายต่อเนื่องจากสมัยไบเดน ด้านทรัมป์ฟันธงเลยว่าเขาจะยุติสงครามในยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำได้จริงหรือไม่ ค่อยต้องรอดูกันต่อไป

 

4.ด้าน Healthcare: แฮร์ริสมีท่าทีชัดเจนว่าจะยังคงใช้นโยบายต่อเนื่องจากสมัยโอบามา Affordable Care Act ด้านทรัมป์มีแนวโน้มจะใช้นโยบายแนวเน้นกลไกตลาดมากกว่าเล็กน้อย

 

หันมาพิจารณาสินทรัพย์โลก ที่ได้ประโยชน์จากทรัมป์กับแฮร์ริสกันบ้าง ดังนี้

 

หากว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะขึ้นราว 4-5% รับข่าวนี้ โดยจะขอแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

 

กรณีแรก เฟดลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 100 bp ในปี 2024 ประเมินว่าหุ้นกลุ่มแบงก์สหรัฐน่าจะได้ประโยชน์

 

กรณีที่สอง หากเฟดลดดอกเบี้ยมากกว่าหรือเท่ากับ 100 bp ในปี 2024 นั้น มองว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี สินทรัพย์เงินสกุลคริปโตและตลาดหุ้นจีนน่าจะได้ประโยชน์

 

ในทางกลับกัน หากว่าแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะลดลงราว 2-3% รับข่าวนี้ โดยจะขอแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

 

กรณีแรก เฟดลดดอกเบี้ยน้อยกว่า 100 bp ในปี 2024 ประเมินว่าตลาดหุ้นยุโรป ค่าเงินดอลลาร์ และหุ้นกลุ่มสินค้าบริโภคที่จำเป็นของตลาดสหรัฐ น่าจะได้ประโยชน์

 

กรณีที่สอง หากเฟดลดดอกเบี้ยมากกว่าหรือเท่ากับ 100 bp ในปี 2024 นั้น ประเมินว่าตราสารหนี้สหรัฐ, กองอสังหาริมทรัพย์ REIT หุ้นกลุ่มพลังงานสีเขียว ทองคำ และหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) น่าจะได้ประโยชน์

 

หันมาพิจารณาผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยกันบ้าง

 

หากว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าจากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะคึกคักในช่วงสั้นนั้น น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยเล็กน้อย

 

รวมถึงน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นจีนมากกว่าหากแฮร์ริสเป็นผู้นำ เนื่องจากผลกระทบต่อ Tech War น่าจะน้อยกว่าหากพรรคเดโมแครตได้เป็นผู้นำ เพราะทรัมป์ต้องเกรงใจ อิลอน มัสก์ ซึ่ง Tesla มีตลาดผู้ขับขี่รถไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่มากในจีน ซึ่งนั่นจะส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในทางอ้อมด้วย

 

ในทางกลับกัน ผลกระทบเชิงลบหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง  จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในบางจังหวะและมีความผันผวนมากกว่ายุคแฮร์ริส จากการที่ทรัมป์ประกาศว่าต้องการให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า นั่นคือหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง จะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าและมีความผันผวนมากกว่าในกรณีแฮร์ริสเป็นผู้นำสหรัฐ

       

นอกจากนี้ มีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะไม่มีความเป็นอิสระ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนมากขึ้น รวมถึงมาตรการทางการค้าของทรัมป์ น่าจะส่งผลกระทบการส่งออกไทยที่ส่งไปสหรัฐ

 

หากว่าแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง คาดว่าเฟดน่าจะมีอิสระในการทำงาน จึงน่าจะทำให้สามารถคาดการณ์นโยบายการเงินสหรัฐได้ง่ายกว่าหากทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์น่าจะมีโอกาสแกว่งตัวน้อยกว่ายุคทรัมป์

 

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะชะลอตัวลง หากว่าแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง ซึ่งนั่นจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยในทางอ้อม

 

ทั้งนี้ ในยุคของแฮร์ริส ผมประเมินว่า Tech War ของสหรัฐกับจีนในระยะยาวน่าจะหนักกว่าหากทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐ ซึ่งนั่นน่าจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาวด้วย







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh