ว่าที่ทีม ครม. ทรัมป์.. เหมือนรวมดาวกระจุย
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
หลังจากที่เราทราบผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐมาได้ราว 1 สัปดาห์ ก็เริ่มได้เห็นหน้าตาของทีมคณะรัฐมนตรีของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ Trump 2.0 (ซึ่งผมตั้งใจรอให้เห็นภาพก่อน จึงค่อยเริ่มเขียนบทความนี้) ทั้งในสายความมั่นคงกับยุติธรรมในประเทศและสายการทหาร รวมถึงเริ่มเห็นการทาบทามของทรัมป์ต่อรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจกันบ้างแล้ว
ผมขอเริ่มจากสายความมั่นคงและยุติธรรมในประเทศและสายการทหารก่อน เนื่องจากมีความคืบหน้าไปมากพอสมควรแล้ว โดยรายชื่อว่าที่รัฐมนตรี (ต้องรอการรับรองจากสภาคองเกรสก่อนการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ) ที่ทรัมป์ประกาศออกมา ถือว่าไม่ได้ผิดไปจากคาดมากนัก โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ถือว่ามีความจงรักภักดีต่อทรัมป์ ดังนี้
เริ่มจากท่านที่ถือว่าได้รับเสียงยี้มากที่สุดกันก่อน คือ แมทท์ กาเอทซ์ ในตำแหน่งอัยการสูงสุด หรือผู้ที่มีบทบาทหมายเลขหนึ่งของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งผู้สันทัดกรณีแทบจะทุกคนต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไม่เหมาะสม’ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในแวดวงดังกล่าว รวมถึงถือเป็นนักการเมืองหน้าค่อนข้างใหม่ที่เพิ่งมารับงานการเมืองสืบทอดต่อจากบิดาที่ฟลอริดาได้ไม่นาน หนำซ้ำ ยังมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับสัมพันธภาพกับผู้หญิงในทางไม่เหมาะสม และยังเข้าข้างทรัมป์ในกรณีการสร้างความวุ่นวายในเดือนมกราคม 2021 หลังการเลือกตั้งครั้งก่อน
โดยหลายฝ่ายมองว่าทรัมป์แต่งตั้งกาเอทซ์เข้ามา เพื่อที่จะตามคิดบัญชีต่อฝั่งตรงข้ามทางการเมืองของทรัมป์ในทางคดีความตามกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ ซึ่งกาเอทซ์ถือเป็นเต็งหนึ่งที่จะไม่ผ่านการโหวตรับรองจากสภาคองเกรส
ท่านที่สอง ได้แก่ พีท เฮคเซท ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยเป็นพิธีกรช่อง Fox News ถือว่าเอียงเข้าข้างมาทางทรัมป์ในทุกมิติ รวมถึงเคยเป็นทหารสหรัฐที่ส่งไปทำงานในอัฟกานิสถาน ในภาพรวม เฮคเซทถือว่ามีความใกล้ชิดกับกลุ่ม Maga ของทรัมป์ทางด้านสายบู๊ โดยมีความเป็นไปได้ว่าเขาจะนำเอาความคิดแนว Conservative ของทรัมป์มาใช้ในกองทัพของสหรัฐ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะถอนเอาแนวทาง Transgender ซึ่งเป็นที่ยอมรับในกองทัพสหรัฐออกมา รวมถึงจะพยายามแต่งตั้งผู้นำทางทหารที่เป็นเด็กของทรัมป์เข้าไปแทนผู้นำยุคปัจจุบัน
ท่านที่สาม ได้แก่ มาร์โค รูบิโอ ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งรูบิโอถือว่ามีความเห็นในเชิงลบต่อจีนและอิหร่านเป็นอย่างมาก โดยถือว่าเขาเคยเป็นคนที่รัฐบาลจีนจับตาเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี ผมมองว่ารูบิโอถือว่าเป็นคนที่ทรัมป์สามารถที่จะคุมให้มีมาตรการด้านการค้าต่อจีนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่จะก่อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ รูบิโอดูแล้วน่าจะไม่ค่อยมีเกมทางการเมืองแบบซึมลึกเหมือนยุคโจ ไบเดน ทำให้ผมมองว่าเป็นทางเลือกของทรัมป์ที่ผู้นำจีน สี จิ้น ผิง น่าจะมองว่าไม่หนักหนาจนเกินไปเท่าไรนัก
ท่านที่สี่ ได้แก่ เอลิเซ่ สเตฟานิค ในตำแหน่ง ผู้แทนของสหรัฐใน UN นักการเมืองสายลุยของพรรครีพับลิกันซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวเต็งในการเป็นคู่หูรองประธานาธิบดีของทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยผลงานชิ้นโบแดงของเธอคือการแนะนำให้ประธานของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดลาออกจากข้อหาการเหยียดชาวยิวกลางสภาซึ่งต่างกำลังทำการตอบข้อซักถามอยู่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นจริงในเวลาต่อมา
สำหรับ 2 ท่านสุดท้ายในสายในประเทศ ได้แก่ อิลอน มัสก์ และ วิเวก รามาสวามี ในตำแหน่งผู้นำของ Department of Government Efficiency (DOGE) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะขจัด Fat หรือส่วนเกินของระบบราชการของรัฐบาลสหรัฐ โดยวางเป้าหมายไว้ที่จะลดค่าใช้จ่ายเป็นหลักล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าน่าจับตาในส่วนของการที่ทรัมป์จะออกนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทของมัสก์หรือไม่อย่างไร
คราวนี้ หันมาพิจารณาในสายเศรษฐกิจกันบ้าง หลังจากที่จอห์น พอลสัน ตัวเต็งอันดับหนึ่งในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง เกิดติดข้อจำกัดที่สินทรัพย์ของบริษัทตนเองอยู่ในตลาดเยอะมาก ทำให้เขาไม่สะดวกที่จะมานั่งในตำแหน่ง รมว.คลัง ส่งผลให้สก็อต เบสเสนท์ อดีตลูกน้องผู้ดูแลด้านบริหารพอร์ตโฟลิโอของจอร์จ โซรอส ส้มหล่นจ่อที่จะนั่งในตำแหน่งขุนคลังสหรัฐ โดยมีโฮวาร์ด ลัตนิคส์ มานั่งเป็นผู้ช่วยของเบสเสนท์ ซึ่งต้องบอกว่าตำแหน่งนี้ยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ได้
ท้ายสุด ตำแหน่งรัฐมนตรีการค้าที่จะทำหน้าที่เจรจากับทางการจีน มีโอกาสจะเป็นโรเบิร์ต ไลต์ไฮน์เซอร์ ค่อนข้างสูง โดยถือว่าเป็นคนที่ค่อนข้างเข้มกับจีนตั้งแต่สมัย Trump 1.0 ทว่าก็ถือว่าไม่ได้เลวร้ายขนาดที่ทางสี จิ้น ผิง จะกังวลมากมายนัก ทำให้แม้ยังมองว่าทรัมป์จะจัดเต็มกับจีนในรอบนี้แน่ แต่ก็ยังประเมินว่าไม่ได้เลวร้ายมากจนเกินไปที่จะทำให้ทางการจีนหนักอกหนักใจแบบสุดๆ