เฟด อีซีบี & บีโออี : ใคร Dove กว่ากัน?
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
สถานการณ์ของธนาคารกลางหลักของโลก อันประกอบด้วย ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด, ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี และธนาคารกลางอังกฤษหรือบีโออี กำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในขณะนี้ บทความนี้จะเปรียบเทียบฟอร์ม 3 แบงก์ชาติหลักดังกล่าว
ในมิติแห่งช่วงเวลาของการดำเนินนโยบายการเงิน ณ ขณะนี้ หากจะให้ประเมินในภาพรวม จะพบว่า แบงก์ชาติของ 3 ภูมิภาคหลักดังกล่าว กำลังอยู่ในระยะเวลาคาบเกี่ยวของ 2 เฟส นั่นคือ ช่วงเวลาแห่งการคงดอกเบี้ยหลังจากขึ้นมาค่อนข้างเยอะอย่างรวดเร็ว และ ช่วงแห่งการผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือลดดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้จากทั้ง 3 แบงก์ชาติหลัก ดังนี้
เริ่มจากเฟสแรก
ได้แก่ ช่วงเวลาแห่งการคงดอกเบี้ย โดยทั้ง 3 แบงก์ชาติหลัก ได้คงดอกเบี้ยมาประมาณ 8-10 เดือนแล้ว หลังจากขึ้นดอกเบี้ยมาค่อนข้างเยอะและอย่างค่อนข้างรวดเร็วในระหว่างปี 2022 จนถึงกลางปี 2023 เพื่อรอดูระดับอัตราเงินเฟ้อให้เกิดความชัดเจนว่าได้ลดลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายอย่างยั่งยืนหรือยัง
ซึ่งในขณะนี้ ทั้ง 3 ภูมิภาคดังกล่าว ต่างมีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 3 โดยคาดว่าจะลดลงเหลือราวร้อยละ 2.5 ในปี 2024 ก่อนที่จะทำการลดดอกเบี้ยลง เพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นมาใหม่ หากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับระดับเป้าหมาย โดยภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ มีความคล้ายคลึงกัน เป็นดังนี้
หนึ่ง การคาดการณ์ของอัตราเงินเฟ้อหนึ่งไตรมาสล่วงหน้าในปี 2023 ของทีมงานวิจัยทั้ง 3 แบงก์ชาติหลัก มีความผิดพลาดลดลงแบบมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับปี 2022
สอง อัตราเงินเฟ้อแบบ Headline ของทั้งแบงก์ชาติ 3 แห่ง คาดการณ์ว่าจะเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
สาม อัตราเงินเฟ้อแบบ Core คาดการณ์ว่าจะสามารถเข้าสู่ระดับเป้าหมายในระยะเวลาปานกลางได้แบบยั่งยืน แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน อาจจะส่งผลเชิงลบต่อการเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ดี มีจุดที่เฟดดูค่อนข้างมั่นใจกว่าทางอีซีบีและบีโออี นั่นคือ ส่วนอัตราเงินเฟ้อภาคบริการ โดยโมเมนตัมของอัตราเงินเฟ้อในส่วนนี้ของอีซีบีและบีโออี ดูจะยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจากตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ จากภาคท่องเที่ยวที่ร้อนแรงขึ้น รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ดูจะยังคึกคักขึ้น
ในขณะที่สำหรับเฟด ตัวเลขเงินเฟ้อในส่วนนี้ กลับมีแนวโน้มที่ไม่สูงขึ้นในเดือนล่าสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของที่อยู่อาศัยที่ดูแล้วน่าจะลดลงแบบเป็นระบบในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ ค่าจ้างในตลาดแรงงานของทั้ง 3 ตลาด ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงสภาวะตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ภายใต้สถานการณ์ที่เพิ่งผ่านระดับอัตราเงินเฟ้อระดับสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี
ในขณะเดียวกัน จะต้องมั่นใจว่าไม่ให้การคงดอกเบี้ยในระดับที่สูงขนาดนี้ดำเนินไปด้วยระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป โดยนั่นจะไปกระเทือนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมา ซึ่งจะไปกระทบตลาดแรงงานที่ค่อนข้างคึกคักในตอนนี้ จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก ในเศรษฐกิจทั้ง 3 ภูมิภาค
เฟสที่สอง
ช่วงเวลาแห่งความมั่นใจว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้น จะไม่ไปกระเทือนต่อทรงของเศรษฐกิจโดยรวม โดยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักที่ต้องจับตา ได้แก่
หนึ่ง อัตราการเติบโตของค่าจ้าง หากว่าค่าจ้างยิ่งเติบโตสูงกว่าระดับ 3-4% ในปัจจุบัน มากขึ้นเท่าไร น่าจะมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อในอนาคตจะยิ่งสูงขึ้น ซึ่ง ณ ระดับอัตราการว่างงานที่ค่อนข้างต่ำของทั้ง 3 ภูมิภาค ทำให้การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ น่าจะทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
สอง การเพิ่มขึ้นของระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจ โดยจากการศึกษาของนักวิชาการ พบว่าภายใต้สถานการณ์กรณีฐาน ระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ในขณะที่เศรษฐกิจอังกฤษน่าจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยเศรษฐกิจอังกฤษถือว่าดูแล้วมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกมากกว่าอีก 2 ภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ในภาพรวม น่าจะประเมินได้ว่า ในมิติการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 ภูมิภาคจากภาคส่วนนี้ น่าจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีในช่วงถัดไปมีระดับสูงขึ้น ภายใต้ระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากจุดนี้ด้วยขนาดที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
ในมุมของความมั่นใจโดยส่วนตัวของประธานธนาคารกลางทั้งสามนั้น ดูแล้วมีความแตกต่างกัน ณ ตรงนี้ หากให้ประเมินความเชื่อมั่นต่อเส้นทางต่อไปสำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ผมมองว่าเจย์ พาวเวล ประธานเฟด แม้จะดูมีความมั่นใจในจุดนี้ไม่ได้มากที่สุดในกลุ่ม ทว่าดูน่าจะสามารถโน้มน้าวใจบรรดาสมาชิกเฟดให้ลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้ได้มากที่สุด
ในขณะที่คริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี แม้จะมั่นใจว่าอีซีบีพร้อมใกล้จะผ่อนคลายนโยบายการเงินแล้ว ทว่าในบรรดาเหล่าสมาชิกอีซีบีด้วยกันเอง ยังมีความแตกแยกทางความคิดว่าอัตราเงินเฟ้อยุโรปจะสามารถลดลงต่ออีกด้วยความยากง่ายที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก
ส่วนแอนดริว ไบร์ลีย์ ผู้ว่าการบีโออี ดูออกจะมั่นใจมากว่าจะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้มากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่กลางปีนี้ แม้จะมีสมาชิกบีโออีหลายท่านดูแล้วค่อนข้างจะยังไม่ได้มีความเห็นตรงกับแนวคิดดังกล่าวอย่างชัดเจนก็ตามที