Struggle - ต่อสู้ ดิ้นรน ฝ่าฟัน แข่งขัน ตะเกียกตะกาย
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Struggle
นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจำนวนมากในช่วงนี้ถ้าถูกถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง” ผมอยากจะตอบเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำๆเดียวคือ กำลัง “Struggle” ซึ่งดิกชันนารีของไทยแปลออกมาว่า “ต่อสู้ ดิ้นรน ฝ่าฟัน แข่งขัน ตะเกียกตะกาย” และความหมายในภาษาอังกฤษที่อธิบายคำๆนี้ ก็มักจะพูดถึงการต่อสู้ทางการเมือง การทหาร การปฏิวัติ ที่สิ้นหวัง ขมขื่น ยากลำบากและยาวนาน โดยไม่รู้ว่าจะเอาตัวรอดได้ไหม เป็นต้น ซึ่งผมเองคิดว่าคนที่ลงทุนในหุ้นไทยอยู่ในช่วงนี้ก็คงมีอาการคล้าย ๆ กัน คือกำลัง Struggle
เริ่มจากนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ ๆ ซึ่งมักจะได้ฉายาว่าเป็น “เซียนหุ้น” ทั้งเก่าและใหม่ที่หุ้นตกรอบนี้ ซึ่งโดยภาพรวมนั้นก็ไม่ถึงกับเป็นภาวะตลาดหุ้นวิกฤติที่หุ้นมักจะตกลงมาแรงในระดับ 30-50% แต่กลุ่มหุ้นที่เคยมีการ “เก็งกำไรร้อนแรง” ทั้งหุ้นดีแนว ซูเปอร์สต๊อกหรือหุ้นเติบโต แนวหุ้นปั่นหรือหุ้นที่ถูกคอร์เนอร์ หรือหุ้นที่เป็นทุกอย่างที่กล่าว ต่างก็ตกลงมาอย่างหนัก ในระดับ “หายนะ” 30-50% เช่นกัน ซึ่งทำให้ขาใหญ่หรือเซียนหุ้นที่มักจะถือหรือเล่นหุ้นเหล่านั้น เจ็บตัวอย่างที่แทบไม่เคยประสบมาก่อนในรอบสิบปีหรือมากกว่านั้น
พอร์ตหุ้นที่เคยใหญ่โต ช่วงหนึ่งบางคนเคยสูงหลายพันล้านบาทจนคนเริ่มจะเรียกว่า “เซียนหุ้นหมื่นล้าน” ตอนนี้ก็อาจจะตกลงมาเหลือ “ระดับพันล้าน” และบางทีเจ้าตัวก็อาจจะกำลัง Struggle ว่ามันจะลงไปอีกแค่ไหน คนที่มีพอร์ตพันล้านบาทเองก็อาจจะรู้สึกร้อน ๆ หนาวว่าเดี๋ยวนี้เหลือหลักร้อยแล้ว ไม่รู้ว่ามันจะตกลงไปอีกแค่ไหน
ที่สำคัญก็คือ หุ้นที่ถืออยู่ก็อาจจะขายไม่ได้ เพราะปริมาณการซื้อขายลดลงไปมาก บางทีก็อาจจะเพราะเกิดอาการ “คอร์เนอร์แตก” นักลงทุนรายย่อยหยุดเล่นและหายไปมาก ขายไปก็ไม่มีคนรับและยิ่งทำให้หุ้นตกหนักลงไปอีก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ หุ้นที่ถืออยู่อาจจะติด “มาร์จิน” ซึ่งอันตรายมากถ้าหุ้นจะตกลงไปอีกและถูกบังคับขาย นั่นก็จะเป็นหายนะที่แท้จริงที่อาจจะทำให้กลายเป็น “เซียนหุ้นเยสเตอร์เดย์” ได้
นักลงทุนรายเล็ก ๆ เองนั้น ก่อนหน้านี้ถึงแม้หุ้นโดยรวมอาจจะตกมากอยู่แล้ว แต่พวกเขาจำนวนมากก็ยังมีความหวังและความสนุกจากการเล่นหุ้นรายวันได้ เพราะหุ้นเก็งกำไรจำนวนไม่น้อยก็ยังแสดง “อภินิหาร” รายวัน อย่างน้อยวันละ 4-5 ตัว การเล่นยังมีกำไรและขาดทุน ยังมีคำพูดประเภท “เล่นหุ้น XXXX วันนี้วันเดียวได้มา 200,000 บาท ควรเลิกทำงานหันมาเล่นหุ้นเป็นอาชีพดีไหม?” แต่ในช่วงหลัง ๆ นี้ ดูเหมือนว่าจะมีแต่คำก่นด่าคนที่มีหน้าที่ดูแลตลาดหุ้นว่าไม่ทำอะไรในยามที่หุ้นตกลงทุกวัน
แม้แต่หุ้น IPO ที่เคยเป็น “ของตาย” ที่จะต้องขึ้นและมักจะขึ้นแรงระดับบางที ขึ้นเป็นร้อยๆเปอร์เซ็นต์ในวันแรกที่เข้าตลาด ในตอนหลังก็ขาดทุน บ่อยครั้งหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยเจอมาก่อนตั้งแต่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ตลาด IPO ที่เคยร้อนแรงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “วาย” ไปแล้ว ดังนั้น ในช่วงนี้ นักลงทุนรายย่อยก็คงกำลัง Struggle กันเป็นแถว
นักลงทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศเองที่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนักในด้านผลตอบแทน เพราะตลาดหุ้นต่างประเทศที่คนไทยนิยมไปลงทุนนั้น มีทั้งที่ดีและแย่ปะปนกันไป โดยตลาดหุ้นที่ไปลงทุนกันมากคืออเมริกานั้น ค่อนข้างจะดีมาก ขณะที่ตลาด ฮ่องกงที่คนไปลงทุนน้อยนั้นค่อนข้างแย่ แต่คนที่ไปก็ยังมีความหวังในอนาคตเพราะบริษัทมีกำไรพอใช้และราคาหุ้นถูกมาก ในขณะที่หุ้นเวียดนามนั้น ถึงแม้ว่าช่วงเร็ว ๆ นี้หุ้นจะตกมาก แต่ถ้านับจากต้นปีก็ยังบวกถึงประมาณ 10% และคนที่ลงทุนในเวียดนามก็ยังมีความหวังเต็มเปี่ยมและไม่หนีไปไหน
อย่างไรก็ตาม การประกาศเก็บภาษีการลงทุนหุ้นต่างประเทศอย่างหนักโดยแทบไม่ให้มีเวลาปรับตัว ก็ทำให้นักลงทุนต่างก็ต้อง Struggle ว่าจะต้อง “ดิ้น” อย่างไรที่จะไม่ให้เสียภาษีย้อนหลัง และอนาคตจะทำอย่างไรกับการลงทุนในต่างประเทศที่พวกเขาคิดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพราะหลังจากที่ทางการยอมยกเว้นให้กำไรจากการลงทุนที่ทำก่อนปี 2567 ไม่ต้องเสียภาษีถ้านำเงินเข้าไทยในปี 2567 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 นักลงทุนในหุ้นต่างประเทศก็ต้องรีบ “เคลียร์หุ้น” ภายในเวลาเพียงเดือนครึ่งที่เหลืออยู่ นอกจากนั้น ดูเหมือนว่าในระยะเวลาต่อไป อาจจะอีกซัก 1-2 ปี ก็อาจจะมีการแก้กฎหมายให้การลงทุนในต่างประเทศต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุนไม่ว่าจะนำเงินกลับเข้าไทยหรือไม่ นี่ก็ทำให้เกิดความ “ว้าวุ่น” กันไปทั่ว
ในด้านของผู้คุมกฎและดูแลตลาดหุ้น เฉพาะอย่างยิ่งก็คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกลต. นั้น ตลาดหุ้นที่ตกลงมาแรงรอบนี้ได้ทำให้เกิดกระแสร้องเรียนและกล่าวโทษว่าเป็นเพราะตลาดอนุญาตให้มีการทำ Naked short sale คือให้พวกนักลงทุนรายใหญ่เฉพาะอย่างยิ่งจากต่างประเทศ ขายหุ้นที่ไม่ได้มีอยู่ในมือเพื่อทำให้ราคาหุ้นตกลงมาแรงและกลับเข้าไปซื้อหุ้นในราคาถูก ทำกำไรแบบ “จับเสือมือเปล่า” ได้อย่างง่ายดายโดยที่รายย่อยขาดทุนอย่างย่อยยับ
เช่นเดียวกัน นักลงทุนรายใหญ่โดยเฉพาะจากต่างประเทศ อาศัยการซื้อขายหุ้นโดยใช้หุ่นยนต์เทรดหุ้นจำนวนมากด้วยความเร็วสูงและจ่ายค่าคอมมิชชั่นต่ำมาก เป็นการเอาเปรียบนักลงทุนไทย ซึ่งทำให้นักลงทุนไทยรวมถึงนักลงทุนรายใหญ่เสียเปรียบและขาดทุนจนแทบจะต้องเลิกเล่น ข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้น ทำให้ผู้คุมกฎต้องออกมาแถลงแก้และหาทางปรับปรุงจุดอ่อนถ้ามี และด้วยพลังของการสื่อสารในยุคสมัยนี้ก็อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกถูกกดดันอย่างแรง พูดง่าย ๆ ก็คือ Struggle ที่จะ “เอาตัวรอด” จากกระแสการโจมตีในช่วงนี้
ในมุมของนักลงทุนระยะยาวมาก ๆ อย่างตัวผมเอง ก็รู้สึกว่าช่วงนี้เป็นช่วงของความยากลำบาก เป็นเรื่องที่รู้สึกว่ากำลัง Struggle ไม่ใช่เพราะเหตุการณ์หุ้นตกแรงในปีนี้ซึ่งโดยปกติเราจะไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะเรื่องหุ้นตกแรงบางปีนั้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอใกล้ถึงสิ้นปีนี้ เรื่องแรกที่ต้องดิ้นรนก็คือ พอร์ตมีโอกาสขาดทุนสูง จะรอดไหม? เพราะปรัชญาหลักของผมก็คือ ลงทุนต้องพยายามไม่ให้ขาดทุน
Struggle อีกเรื่องหนึ่งก็คือ อนาคตระยะยาวของการลงทุนของเราจะไปต่ออย่างไร หลายปีมานี้การลงทุนในตลาดหุ้นก็แทบไม่ได้ผลตอบแทนเลย ความคิดก็คือ จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลักต่อไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่าผลตอบแทนของตลาดจะดีขึ้น หรือเลือกหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนดี ๆ เหนือตลาดมาก ๆ ในระยะยาวจะยังทำได้แค่ไหน? ในขณะที่การลงทุนในต่างประเทศก็อาจจะมีอุปสรรคมากขึ้นเรื่อย ๆ จากกฎเกณฑ์เรื่องภาษีจนอาจจะไม่คุ้มที่จะไป
ดูเหมือนว่าสิ่งที่เคยทำมาตลอดเกือบ 30 ปี สำหรับผม อาจจะต้องถึงเวลาเปลี่ยนไป การลงทุนช่วง 7 ปีแรกที่ผมยังทำงานเป็นพนักงานประจำกินเงินเดือนนั้น ผมทำคนเดียวและใช้เวลาน้อยมากแค่หลังงานเลิก ต่อมาเมื่อมีอิสรภาพทางการเงินกลายเป็นนักลงทุนอาชีพที่อายุเกิน 50 ปีแล้ว ผมก็ยังทำงานลงทุนคนเดียวพร้อม ๆ กับการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน โดยแทบไม่เคยต้อง Struggle และทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดีและมีความสุข ผลตอบแทนที่ได้ก็ดีมากและสม่ำเสมอ ส่วนสำคัญก็เพราะตลาดหุ้นเอื้ออำนวยและกฎเกณฑ์ของประเทศโดยเฉพาะทางด้านภาษีนั้น ดีและคาดการณ์ได้ เช่นเดียวกับกิจการบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งและเติบโต
ทั้งหมดนั้นอาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงไป และอาจจะทำให้การทำแบบเดิมและประสบความสำเร็จแบบเดิมเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป และก็จะต้อง Struggle ไปเรื่อย ๆ แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าแนวทางใหม่นั้นจะเป็นอย่างไร อนาคตนั้นไม่มีใครรู้ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นนิรันดร์ หน้าที่ของเราก็คือ พยายามไหลไปกับการเปลี่ยนแปลงและเอาตัวให้รอดให้ได้