กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน บัญญัติ 10 ประการของเฟดปลายปี 2022 โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

บัญญัติ 10 ประการของเฟดปลายปี 2022

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

FB: MacroView

 

บัญญัติ 10 ประการของเฟดปลายปี 2022

 

     สัปดาห์นี้ ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดมีการประชุมนโยบายการเงินนัดสำคัญ บทความนี้ จะขอแชร์ความเห็นว่ามีอะไรบ้าง ที่น่าจะสามารถเป็นข้อสรุปของท่าทีและมุมมองจากเฟดต่อกลยุทธ์การลงทุน ณ ตรงนี้

 

     1. อาจจะต้องเลิกหวังว่าเฟดจะผ่อนการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้: หลังจากการประชุมเฟดเดือนกันยายนนี้ ในปีนี้ จะมีการประชุมเฟดเหลืออีก 2 ครั้ง มีแนวโน้มว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งที่เหลือ และน่าจะขึ้นอีกทั้งหมดประมาณร้อยละ 0.75-1.25 ดังนั้น หากใครที่หวังว่าเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ก็อาจต้องเลิกความคิดนี้ไปเสียก่อน นอกจากนี้ หากใครคิดว่าเฟดจะกลับทิศมาลดดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า ก็อาจต้องลดความหวังดังกล่าวลงให้เหลือน้อยลงเข้าไว้

 

     2. เหมือนต้องทำใจว่าอาจจะต้องเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐสำหรับช่วงต่อจากนี้ในที่สุด: จากตัวเลขเงินเฟ้อ CPI สหรัฐที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้น่าจะประเมินได้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังไม่เข้าสู่จุดสูงสุดในตอนนี้ ดังนั้น การที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกสักพักใหญ่เพียงอย่างเดียว น่าจะไม่เพียงพอที่จะกดเงินเฟ้อให้ลดลงกลับมาที่ร้อยละ 2 ดังนั้น อาจมีความจำเป็นที่เฟดต้องไม่ยั้งมือในการขึ้นดอกเบี้ยแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมาจนใกล้จะเกิดหรือว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ จึงจะเพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาที่ร้อยละ 2 ตามเป้าหมายได้

 

     3. อัตราการว่างงานน่าจะกลับมาสูงถึงร้อยละ 5 ค่อนข้างแน่ในรอบนี้: การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยไปอีกค่อนข้างเยอะจนกระทั่งอาจเกิดหรือเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ สิ่งหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นผลกระทบแบบเลี่ยงไม่ได้ คืออัตราการว่างงานจะขึ้นไปจนน่าจะสูงเกินร้อยละ 5 ในที่สุด สำหรับรอบนี้

 

     4. แม้สถานการณ์อุปทานติดขัด หรือ Supply Chain Disruption จะเริ่มซาลง และมีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากสินค้าจะลดลงอย่างค่อนข้างรวดเร็ว ทว่าก็ยังมีอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากภาคบริการ หลังจากสหรัฐเปิดเมืองแบบเต็มตัว ที่จะยังขึ้นมาอย่างรวดเร็วและแรง ชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากจำนวนสินค้าที่ลดลง

 

     5. เจย์ พาวเวล ประธานเฟด จะสวมบทบาทพอล โวลก์เกอร์ อดีตประธานเฟดในยุค 80s ในการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ถือว่าสูงมากในประวัติศาสตร์ สำหรับวัฏจักรเศรษฐกิจในรอบนี้ โดยพาวเวลพูดชื่นชมความกล้าหาญในการต่อสู้กับเงินเฟ้อของโวลก์เกอร์ ในการกล่าวเปิดประชุมที่แจ็คสันโฮลครั้งที่ผ่านมา โดยเขาถือโวลก์เกอร์เป็นต้นแบบของการทำหน้าที่ประธานเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อในครั้งนี้

 

     6. อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดของสหรัฐหรือ Terminal Rate ในรอบนี้ น่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 มาถึงตรงนี้ แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปชุดใหญ่และอัตราดอกเบี้ยก็ขึ้นมาที่ประมาณระดับร้อยละ 3 แล้วหลังการประชุมเฟดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทว่าอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีท่าทีเข้าสู่จุดสูงสุดเสียที ดังนั้น Terminal Rate ที่ว่ากันว่าจะไม่เกินร้อยละ 4 น่าจะต้องขยับให้สูงขึ้นมาเป็นที่ร้อยละ 4.5 เป็นอย่างน้อย

 

    7. ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐไม่น่าจะไม่ได้แตะระดับต่ำที่สุด ณ ตรงจุดนี้ หากพิจารณาค่า P/E ณ ตรงนี้ ซึ่งอยู่ในระดับเท่ากับช่วงเดือนมกราคม 2020 หรือก่อนโควิด ประกอบกับภาพกำไรสุทธิของบริษัททั้งหมดในตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งผลสำรวจส่วนใหญ่มีมุมมองที่ค่อนข้างไม่สดใส คงยากที่จะปฏิเสธว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ ณ ตรงจุดนี้ น่าจะยังไม่ได้แตะระดับต่ำที่สุดของรอบนี้

 

     8. ควรอาจจะต้องห่างๆ หุ้น Growth Stock หรือ หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐไปก่อนในตอนนี้: ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังมีอยู่ต่อไป จึงมีความเป็นไปได้ว่าดัชนีหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ ณ ตรงนี้ น่าจะไม่ใช่อยู่ในระดับจุดต่ำที่สุดเช่นกัน

 

     9. ถ้าคิดว่าจะลงทุนในระยะยาวๆ ในความเห็นส่วนตัว มีมุมมองว่าเอาไว้ปลายปีนี้หรือปีหน้า ถึงจะค่อยๆ ทยอยสะสมซื้อหุ้นสหรัฐโดยคิดว่าน่าจะดีกว่าทุ่มซื้อแบบหมดน่าตักในช่วงเวลานี้

 

     10. ยังมีมุมมองว่าการต่อสู้หรือสงครามกับเงินเฟ้อของเฟดในรอบนี้ น่าจะเจ็บแต่จบ ทว่าคำถามคือจะต้องเจ็บมากน้อยแค่ไหนกันแน่







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh