3 Body Problem แห่ง ธนาคารกลางโลก
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
3 Body Problem แห่ง ธนาคารกลางโลก
แล้วก็ใกล้ถึงกลางปี 2024 ที่นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกำลังจะเข้าสู่เส้นทางที่แตกต่างกันคนละขั้วแยกออกเป็น 3 แนวทางเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี ธนาคารกลางอังกฤษหรือบีโออี และธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ
โดยบทสรุปว่าด้วยช็อตถัดไปของแบงก์ชาติหลัก ณ กลางปี 2024 คาดการณ์ว่าจะเป็นในแบบที่เฟดกำลังน่าจะคงดอกเบี้ยต่อไป อีซีบีน่าจะกำลังลดดอกเบี้ย บีโออีกำลังน่าจะเป็นแบบคงดอกเบี้ย ทว่าผู้ว่าการบีโออีส่งสัญญาณล่วงหน้าว่าจะลดดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ และบีโอเจกำลังน่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อจากการขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี เมื่อราว 2 เดือนก่อนหน้านี้
เริ่มจากเฟด โดยเศรษฐกิจในยุคหลังโควิดที่รัฐบาลและธนาคารกลางต่างพากันกระตุ้นเศรษฐกิจจนอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงตัวเลขสองหลักในหลายภูมิภาคของโลกไม่เว้นแม้แต่ในสหรัฐ จนทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ของโลกพากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จนกระทั่งอัตราเงินเฟ้อได้ลดลงมาจากจุดสูงสุด โดยส่วนใหญ่จะลดลงมาถึงประมาณครึ่งหนึ่งของระดับสูงสุด โดยอยู่ระดับประมาณ 3-4% แล้วมาถึงจุดที่เริ่มจะลดลงต่อได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราการเติบโตของจีดีพีเมื่อปีที่แล้วสูงกว่าคาด แม้ว่าจีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ เริ่มชะลอลงเล็กน้อย ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงถือว่าร้อนแรงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ซึ่งต้องถือว่าการลดลงของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐในช่วงปีที่แล้ว โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังเป็นไปได้ด้วยดีแทบจะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จนทำให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดต่างพากันคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้ แม้ทางสมาชิกเฟดจะให้จำนวนครั้งของการลดดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 1-2 ครั้งก็ตาม
อย่างไรก็ดี นับจากต้นปีนี้ ค่อยๆ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐในช่วงไตรมาสแรกไม่ได้ลดลงต่อจากปีก่อนอย่างที่ควรจะเป็น จึงทำให้การคาดการณ์ช่วงเวลาที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรก ค่อยๆ เลื่อนจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นการประชุมเดือนมีนาคม มาเป็นเดือนมิถุนายน และล่าสุด ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเฟดน่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยอย่างเร็วสุดในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งต้องยอมรับว่ายังคงมีความไม่แน่นอนสำหรับการที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยจริงๆ ว่าจะเป็นเมื่อไหร่กันแน่ หรือก็เป็นไปได้เหมือนกันในระดับแม้จะไม่มากว่าเฟดอาจจะคงดอกเบี้ยไปจนถึงขั้นขึ้นดอกเบี้ยในช่วงถัดไป
หันมาพิจารณาสถานการณ์ของอีซีบีกันบ้าง หากนับจนถึงขณะนี้ วลี ‘ต้นร้าย ปลายดี’ ถือว่าไม่เกินเลยไปนักสำหรับสถานการณ์ของเศรษฐกิจยุโรปนับตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา
โดยนับจากที่รัสเซียบุกยูเครนในช่วงต้นปี 2022 ซึ่งหลายคนคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปน่าจะเสียหายหนักจากการที่จะขาดอุปทานพลังงานจากรัสเซีย รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจยุโรปเองก็ยังไม่ได้กระเตื้องกลับมาได้อย่างสมบูรณ์จากโรคระบาดโควิด มิหนำซ้ำอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยังดูเป็นรองสหรัฐและประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่หลายประเทศด้วย ทว่าการปรับตัวของยุโรปต่อสงครามในยูเครนก็สามารถทำได้ดีกว่าคาดมาก โดยแม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าสหรัฐอยู่ ทว่าช่องว่างดูจะลดลงเรื่อยๆ จากใน 2 ปีก่อนอยู่ระดับหนึ่ง
ที่สำคัญ ณ เวลานี้ อัตราเงินเฟ้อยุโรปสามารถลดลงได้เร็วกว่าสหรัฐอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่ต้นปีนี้ แม้ระดับอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบนี้ของยุโรปจะสูงกว่าของสหรัฐก็ตามที โดย ณ ตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อยุโรปลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 2 กว่าๆ แล้ว โดยสาเหตุหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยุโรปที่เพิ่มขึ้นส่วนหลักมาจากปัจจัยฝั่งอุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในปี 2022 ถึงกลางปี 2023 และลดลงมาเยอะในระดับหนึ่งนับตั้งแต่กลางปี 2023 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอีซีบีจะเริ่มลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้น น่าจะลดดอกเบี้ยต่ออย่างน้อยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้
สำหรับฝั่งบีโออี เหมือนจะมีความก้ำกึ่งระหว่างเฟดกับอีซีบีอยู่พอสมควร เข้าทำนอง ‘หุ่นไม่ให้... แต่ใจรัก’ โดยหากพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อ คงต้องบอกว่าลดลงไม่ได้เยอะเท่ากับฝั่งยุโรป ซึ่งตรงนี้ ทำให้ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าบีโออีน่าจะยังไม่ทำการลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการบีโออี แอนดริว ไบร์ลีย์ กลับแสดงความมั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอังกฤษน่าจะลดลงเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้ออังกฤษจะสามารถลดลงอย่างค่อนข้างรวดเร็วกว่าเดิม นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ซึ่งหลายฝ่ายมองไปที่การเลือกตั้งใหญ่อังกฤษที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไบร์ลีย์ให้ความเห็นเป็นเช่นนั้น
ท้ายสุด สำหรับบีโอเจ หลังจากผู้ว่าการบีโอเจ คาซึโอะ อูเอดะ ได้เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับติดลบมาสู่ในระดับที่เป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี เมื่อราว 2 เดือนก่อน ถึงตรงนี้ ตัวเขาเองก็เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการประเมินผลกระทบข้างเคียงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญดังกล่าว โดยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการอ่อนลงของค่าเงินเยนที่ ณ ตอนนี้ เกือบจะเข้าสู่ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ไปทุกขณะแล้ว ทำให้อูเอดะเริ่มส่งสัญญาณว่าบีโอเจอาจจะทำการขึ้นดอกเบี้ยในอีกไม่นานนี้ เพื่อจะช่วยทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นกว่าระดับตรงนี้ ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าบีโอเจมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อจริง ทว่าช่วงเวลาที่จะขึ้นนั้นน่าจะไม่ได้รวดเร็วมากอย่างที่ทางผู้ว่าฯอูเอดะได้ส่งสัญญาณไว้ในช่วงนี้