‘ซีดีโอ’ ตำแหน่งสำคัญที่ทุกองค์กรต้องมีในยุคที่ข้อมูลขับเคลื่อนธุรกิจ
โดย พันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร
หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง
บริษัท PwC ประเทศไทย
ในโลกที่สินค้า บริการ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ถูกแปลงเป็นข้อมูล (Data) ธุรกิจทั่วทุกกลุ่มอุตสาหกรรมถูกกดดันให้ต้องดึงประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดกระแสของการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่ง ‘ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายข้อมูล (Chief Data Officer: CDO)’ ขององค์กรต่าง ๆ มากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสนับสนุนให้มีการกำกับดูแลข้อมูลที่ดี (Good Data governance) การนำข้อมูลที่วิเคราะห์ไปเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ (Data monetisation) ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวิเคราะห์ปัญหา และลดความเสี่ยงของปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้อ่านบทความในหัวข้อ ‘Value-creating chief data officers: Cementing a seat at the top table’ ของ PwC Strategy& ที่ศึกษาถึงความสำคัญของซีดีโอในยุคดิจิทัลไว้ได้อย่างน่าสนใจ ผมจึงอยากนำมาแบ่งปันกับคุณผู้อ่านทุกท่าน
บทความชิ้นนี้ระบุว่า 27% ของ 2,500 บริษัทชั้นนำทั่วโลกในปัจจุบัน มีตำแหน่งซีดีโอภายในองค์กร เพิ่มขึ้นจาก 21% ในปี 2564 โดยพบว่า ซีดีโอมีความสัมพันธ์กับผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพราะช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มคุณค่าผ่านการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างนวัตกรรม และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
ด้วยปริมาณของ Big Data และบริษัทจำนวนมากที่ได้เริ่มมีการแต่งตั้งซีดีโอในระดับผู้บริหาร บทความชี้ว่า สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของโลกที่มีซีดีโอนั้น เพิ่มขึ้น 28.5% โดยยุโรป (42%) เป็นภูมิภาคที่ธุรกิจมีการแต่งตั้งซีดีโอมากที่สุด ตามความสำคัญของการกำกับดูแลความเป็นส่วนตัวข้อมูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงกรณีค่าปรับที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation: GDPR) ตามมาด้วย อเมริกาเหนือ (38%) และตะวันออกกลางและแอฟริกา (33%) ในขณะที่เอเชียแปซิฟิกยังอยู่ในระดับต่ำที่สุด (10%)
หากพิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรม บทความระบุว่า มีการแต่งตั้งซีดีโอเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน ที่ถูกหน่วยงานกำกับดูแลควบคุมการใช้ข้อมูลในการรายงานและการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด ซึ่งมากกว่าครึ่งของทั้งธุรกิจธนาคารและประกันภัยปัจจุบันมีซีดีโอ และคิดเป็นสัดส่วน 22% ของซีดีโอทั่วโลก
และถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา บริษัทที่แต่งตั้งซีอีโอส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธนาคาร (25%) สินค้าทุน (18%) และซอฟต์แวร์ (13%) แต่ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและส่วนบุคคล ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และค้าปลีก กลับมีสัดส่วนของการแต่งตั้งซีดีโอเพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบเป็นรายปีตามสัดส่วนของบริษัทที่มีซีดีโอ
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทที่มีซีดีโอยังมีแนวโน้มของการเติบโตของรายได้และการทำกำไร (วัดจากกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA) มากกว่าบริษัทที่ไม่มีตำแหน่งดังกล่าว โดยสามในสี่ของอุตสาหกรรมที่องค์กรมีการจ้างซีดีโอ มีรายได้เติบโตขึ้นอย่างน้อยที่สุด 5% เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรที่ไม่มีซีดีโอ สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น สาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน ยังเห็นความแตกต่างของการเติบโตของรายได้มากถึง 25%
ธุรกิจส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการใช้ข้อมูล
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจ ‘Global Digital Trust Insights ประจำปี 2566’ ของ PwC พบว่า 50% ของผู้บริหารอาวุโส ยังคงรู้สึกไม่มั่นใจในการกำกับดูแลและความปลอดภัยขององค์กรในการตัดสินใจใช้ข้อมูลอย่างเพียงพอ ขณะที่มีผู้บริหารน้อยกว่า 5% ที่นำ มาตรฐานและหลักปฏิบัติในการปกป้องและควบคุมข้อมูลของลูกค้าไปประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจยังคงมีความพร้อมในการใช้ข้อมูล (Data maturity) อยู่ในระดับที่ต่ำ และไม่ได้มองว่า ข้อมูลเป็นแหล่งทรัพยากรในการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตอย่างแท้จริง จริงอยู่ว่าการวัดผลตอบแทนจากการลงทุนด้านข้อมูลนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่ซีดีโอก็ต้องทำหน้าที่ในการพิสูจน์คุณค่าของการใช้ข้อมูลที่สามารถช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ และบริหารจัดการความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กันด้วย
บทความชิ้นนี้ ได้สรุป 5 เกณฑ์สำคัญที่จะช่วยให้ซีดีโอสามารถช่วยองค์กรเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ดังต่อไปนี้
1. มอบหมายความรับผิดชอบและความเป็นเจ้าของกลยุทธ์ด้านข้อมูลให้แก่ซีดีโอแต่เพียงผู้เดียว เพราะข้อมูลนั้น มีความสำคัญเกินกว่าจะเป็นความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ หรือผู้บริหารในตำแหน่งอื่น ๆ
2. ซีดีโอต้องมีบทบาทและการทำงานที่สอดผสานและอยู่เหนือการทำงานแบบแยกส่วน เนื่องจากข้อมูลมีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนขององค์กร ดังนั้น การกำกับดูแลข้อมูลจึงต้องมีวิธีบริการจัดการแบบแนวนอน ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง (Siloed)
3. ซีดีโอต้องสามารถติดต่อซีอีโอและคณะกรรมการบริษัทได้โดยตรงและเป็นประจำ เพราะนั่นจะช่วยให้องค์กรมองเห็น และรับทราบถึงโอกาสและความท้าทายของการบริหารจัดการข้อมูล
4. ยกให้ซีดีโอมีบทบาทด้านกลยุทธ์ข้อมูลทั้งภายในและภายนอก แนวปฏิบัตินี้ จะช่วยให้การลงทุนและกลยุทธ์ด้านข้อมูลนั้น สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กรอย่างแท้จริง
5. สนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ผ่านการแบ่งปันความรู้ด้านการเข้าถึงและการใช้ข้อมูลอย่างเท่าเทียม และเพิ่มทักษะด้านข้อมูลให้กับพนักงาน
เราจะเห็นว่า การมีซีดีโอเข้ามาเป็นผู้ช่วยคิดกลยุทธ์ด้านดิจิทัล การลงทุนที่เกี่ยวข้อง และการรับมือกับปัญหาจากการใช้ข้อมูล จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและกฎระเบียบ ตลอดจนช่วยยกระดับการใช้ข้อมูลขององค์กรให้ดีขึ้นได้ ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารของไทย ควรหันมาเอาจริงเอาจังกับการบูรณาการด้านข้อมูล เพื่อก้าวสู่โลกดิจิทัล และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน