คลื่นพายุ AI ที่มาถึง..หน้าตาเป็นอย่างไร?
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP
MacroViewBlog.com
หัวข้อบทความในสัปดาห์นี้ ถือว่าเลือกยากจริงๆ ระหว่างนโยบายต่างๆ ในการแถลงวัน Inaugu-ration ของโดนัลด์ ทรัมป์ กับ AI ที่บิล เกตส์ แนะนำหนังสือของมุสตาฟา ซูเลย์แมนว่าดีที่สุดที่มีอยู่ในตอนนี้ จนกระทั่งมีข่าว Deepseek ของจีน ผมจึงขอเลือกพูดถึงหนังสือ The Coming Wave ของมุสตาฟา ซูเลย์แมน ในช่วงตรุษจีนปีนี้
อีกทั้งประจวบเหมาะกับว่า ในปี 2024 ผมชอบหนังสือ The Coming Wave ของมุสตาฟา ซูเลย์แมน มากที่สุด จึงขอสรุปหัวใจของหนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยคลื่นพายุ AI ที่กำลังมาถึง ว่าจะมีจุดเด่นอยู่ 4 ประการ ได้แก่
หนึ่ง การถ่ายโอนอำนาจครั้งใหม่ของ AI จะเป็น “ขนาดมหึมาและแบบที่ไม่สมมาตร”
โดยเทคโนโลยี AI ที่กำลังจะมาถึงมักจะสร้างความเสี่ยงใหม่ๆ ด้วยการกระจายอำนาจออกไปจากศูนย์กลาง และสร้างกำแพงให้เข้าถึงได้ไม่ง่าย จากในอดีตที่ผ่านมา นวัตกรรมการประดิษฐ์ปืนใหญ่ขึ้นมาเป็นครั้งแรก หมายถึงการทำลายกำแพงเมืองและทหารราบ โดยทหารกองกำลังเล็กที่มีอาวุธแบบล้ำสมัยสามารถฆ่าชนเผ่าพื้นเมืองหลายพันคนในสมัยล่าอาณานิคม หรือการมีเครื่องพิมพ์หนังสือทำให้ไม่ต้องให้พระต้องมาคัดหนังสืออย่างยุคก่อนหน้า รวมถึงการมีเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ใช้พลังไอน้ำทำให้โรงงานหนึ่งสามารถผลิตอาหารป้อนให้กับประชาชนของทั้งเมืองได้
ทั้งนี้ คลื่นลูกใหม่ของเทคโนโลยีจะสร้างความสามารถที่มีพลังล้นเหลือซึ่งมีราคาถูก เข้าถึงง่าย มีเป้าหมาย และมีศักยภาพทำให้มีขนาดของพลานุภาพของมันโตขึ้นหลายหมื่นเท่าได้
ตัวอย่างเทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่การใช้โดรนยี่ห้อ DJI ซึ่งมีราคาเพียง $1,399 รุ่น Phan-tom ที่มีประสิทธิภาพสูงมากจนกองทัพสหรัฐต้องนำมาใช้ในการรบ หรือ กองกำลังของยูเครนที่ใช้โดรนในลักษณะคล้ายคลึงกันซึ่งนำมาใช้ในการรบแถบชานกรุงเคียฟอย่างได้ผล หรือแม้กระทั่งการทดลองจากห้อง Lab สามารถทำให้เกิดโรคระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับในอนาคต คอมพิวเตอร์ Quantum เพียงเครื่องเดียวสามารถทำให้การแก้ Encryp-tion หรือ การถอดรหัสต่างๆ ในโลกเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาในทันใด ในทางกลับกัน จุดวกกลับสำหรับความไม่สมมาตรและความเชื่อมโยงระหว่างกันดังกล่าว ได้สร้างจุดอ่อนเชิงระบบใหม่ ซึ่งพร้อมจะจุดระเบิดด้วยไม้ขีดเพียงก้านเดียว ดังเช่นในช่วงวิกฤตซับไพร์มปี 2008
สอง การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดและกระหน่ำไม่ยั้ง หรือ Hyper-evolution ในรูปแบบที่วนย้ำกลับไปมาหลายๆ ครั้ง มีการพัฒนาตลอด และกระจายไปสู่จุดใหม่ๆ ด้วยความเร็วที่จัดจ้านสุดๆ
จากอดีตที่ผ่านมา หากต้องการที่จะควบคุมการใช้เทคโนโลยีให้ไม่ออกนอกลู่นอกทางจนเกินไป เราจะต้องให้ระยะเวลาและที่ว่างสักพักใหญ่ๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้ใช้และปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ นั้น ตัวอย่างเช่นในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอินเทอร์เน็ตได้พัฒนาขึ้นมาจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนถึงวันนี้ จะเห็นได้ว่ามีพลังในการประมวลผลอย่างรวดเร็วด้วยราคาที่ไม่แพง โดยหากว่า Moore’ s Law ยังคงเป็นจริงอยู่ พลังการประมวลผลจะเร็วขึ้นและระดับราคาจะลดลงอีกเป็นร้อยเท่าในทศวรรษหน้า
อย่างไรก็ดี หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เป็นต้นกำเนิดของเครื่องจักรพลังไอน้ำ เครื่องบินและรถยนต์ จะพบว่าการพัฒนาการในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วมาจาก bits ไม่ได้มาจาก atom เหมือนในอดีต
อย่างไรก็ดี ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งคอมพิวเตอร์จะมีพลังการคำนวณที่เร็วและแรงขึ้นอย่างมหาศาล กำลังจะทำให้ bits ลงไปสู่ atom อีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และ 3-D Print-ing ทำให้เราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยความเร็ว ความแม่นยำ และความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้น
ในวงการ Biotech การใช้ AI เป็นเครื่องมือในการคำนวณที่ทรงพลังในห้องทดลองจนไม่ต้องพึ่งการทำด้วยมืออีกต่อไป สำหรับการวัดหรือเตรียมการทดลองต่างๆ โดยซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Cello ได้ทำให้เกิด open-source language ในการออกแบบห้องทดลองชีววิทยา หรือ synthetic biology design
สาม มีการนำไปใช้แบบหลากหลาย หรือ Omni-use โดยสามารถนำไปใช้ในทุกวงการ ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่หลากหลาย
ยกตัวอย่างในวงการแพทย์ AI ได้ทำให้เกิดการคิดค้นยารักษาวัณโรคได้ด้วยระบบ AI เอง ในปี 2020 ระบบ AI ได้ทดลองผ่านการทดสอบโมเลกุล 100 ล้านแบบ จนสามารถผลิต antibi-otic ใหม่ชนิดแรกที่ทำผ่าน Machine-learning เรียกว่า halicin ในการใช้เป็นยารักษาวัณโรค
ในทางกลับกัน ลักษณะการเป็น dual-use ของAI คือการหายาพิษที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ เพื่อจะนำสาเหตุดังกล่าวเป็นหนทางไปหายารักษาโรคอีกต่อหนึ่ง
ทั้งนี้ จุดที่ทำให้เทคโนโลยีที่กำลังจะมาถึงนี้มีพลังมหาศาล เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วมันเป็นไปในลักษณะแนวทั่วไป สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยไม่เจาะจงงานแบบใดแบบหนึ่ง อาทิ การสร้างระบบ deep-learning อาจจะออกแบบเพื่อไว้เล่นเกม ทว่าก็ยังสามารถนำไปใช้ในการสร้างระเบิดได้
ทั้งนี้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า Omni-use ซึ่งคล้ายกับเทคโนโลยีในอดีตอย่างพลังไอน้ำและไฟฟ้า ซึ่งสามารถนำไปในรูปแบบต่างๆ ในสังคม อีกทั้งยังแตกเป็นเทคโนโลยีย่อยอื่นๆ ได้อีก ทั้งนี้ AI ถือเป็นไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ที่สามารถเรียกใช้งานเมื่อใดก็ได้ และสามารถนำไปใช้ในเกือบทุกกิจกรรมของชีวิตประจำวัน ทั้งในวงสังคมและเศรษฐกิจ จนกล่าวได้ว่าเป็น general-purpose technology ที่แผ่ขยายไปในทุกสถานที่
ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Gato ของDeepmind ที่สามารถเล่น Go, ถ่ายภาพ, ตอบคำถาม รวมถึงทำงานอื่นๆ ได้อีก 600 ประเภทพร้อมๆ กันได้
ท้ายสุด AI มีคุณลักษณะที่เป็นแบบ Autonomy โดยสามารถคิดจะทำอะไรก็ได้ด้วยตัวของมันเองมากกว่าเทคโนโลยีต่างๆ ในอดีต
กระนั้นก็ดี ซูเลย์แมนก็ยังเชื่อว่า AI ยังคงถูกควบคุมโดยมนุษย์ ทว่าการควบคุมดังกล่าวนับวันจะน้อยลงเรื่อยๆ โดยที่ AI ในสาขาชีววิทยา ถือว่ามีความใกล้เคียงว่า AI จะสามารถใช้ความคิดของตนเพื่อพิจารณาว่าจะทำอะไรต่อด้วยตัวของมันเองมากที่สุด