efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน กมลา แฮร์ริส อาจพลิกชนะเลือกตั้งสหรัฐ ถ้า... โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

กมลา แฮร์ริส อาจพลิกชนะเลือกตั้งสหรัฐ ถ้า...

 


ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

หนึ่งในการเลือกตั้งผู้นำประเทศที่ถือว่าพลิกล็อกที่สุด ได้แก่ การเลือกตั้งผู้นำอังกฤษ ในปี 1992 ระหว่างจอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่สืบทอดต่อจากมาร์กาเร็ต แธชเชอร์ ในปี 1990 กับ หัวหน้าพรรคแรงงาน นีล คินนอค โดยก่อนหน้าการเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ ผลโพลปรากฏออกมาว่า คินนอคนำเมเจอร์อยู่ 7% อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น ปรากฏว่า เมเจอร์ชนะคินนอคแบบที่สร้างสถิติจำนวนเสียงประชาชนที่โหวตให้กับเมเจอร์สูงถึง 14 ล้านเสียง ซึ่งยังถือเป็นสถิติจำนวนเสียงของประชาชนชาวอังกฤษสูงที่สุดจนถึงปัจจุบัน

 

คำถามคือเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งกมลา แฮร์ริส ที่มีคะแนนในโพลตามโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐครั้งนี้อยู่เล็กน้อย อาจจะพลิกกลับมาชนะด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน ดังต่อไปนี้

 

หนึ่ง ‘มีหลักฐานว่าสารคดีที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคแรงงาน (รอบนี้ พรรครีพับลิกัน) มีเนื้อหาไม่ตรงปก’ 

โดยก่อนการเลือกตั้งผู้นำอังกฤษ 2 สัปดาห์ ทางพรรคแรงงานได้จัดทำสารคดีว่าด้วยเรื่องราวของเด็กผู้หญิง 2 คน ที่มีปัญหาการได้ยิน โดยคนหนึ่งต้องถูกบังคับให้รอเป็นเวลานานกว่าจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐขาดแคลนงบประมาณ ส่วนอีกคนได้รับการรักษาทันทีที่โรงพยาบาลเอกชน

โดยสารคดีชุดนี้ได้รับการผลิตโดยทีมงานที่ได้รับคำชมด้านการผลิตภาพยนตร์แนวดราม่า อย่างไรก็ดี ผลตอบรับกลับออกมาแบบมีข้อครหาว่าด้วยเรื่องราวในสารคดีไม่ตรงกับความเป็นจริงมีรายงานในหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Daily Express หรือ The Sun ต่างรายงานว่าสารคดีที่ออนแอร์เป็นเรื่องราวที่โกหก โดยสื่อรายหลังไปไกลถึงหากคินนอคจะโกหกเรื่องนี้ คงจะไม่พูดความจริงกับเราในเรื่องราวอื่นๆ ด้วย

จุดโฟกัสของสารคดีชุดนี้ ได้ตีกลับมาเป็นคำถามที่ว่าใครเป็นผู้เปิดเรื่องจริงดังกล่าวต่อสื่อ ซึ่งท้ายสุด ปรากฏว่าเป็นครอบครัวของเด็กทั้งคู่ที่เป็นแฟนคลับพรรคอนุรักษนิยมของจอห์น เมเจอร์ที่ให้ข่าวนี้กับสื่อว่าเรื่องในสารคดีไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งในเวลาต่อมาคินนอคได้เปิดเผยชื่อของเด็กหญิงว่าชื่อ เจนนิเฟอร์ อันเป็นที่มาของเรื่องราวนี้ที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ Jennifer’ s Ear

 

สอง ‘แสดงความดีใจในเวทีแบบมากเกินไป...ว่าชนะเลือกตั้งแน่นอนแล้ว’

ในวันพุธที่ 1 เมษายน 1992 นีล คินนอค หลังจากที่เดินหน้าหาเสียงพร้อมกับทีมงานของพรรคแรงงานมากกว่า18 เดือน จนสามารถมีคะแนนนำตามโพลเหนือจอห์น เมเจอร์ อยู่ 7 แต้ม โดยเหลือเวลาอีก 7 วันก่อนเลือกตั้ง ได้จัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารพรรคแรงงานที่เมืองเชฟฟิลด์ โดยใช้งบกว่า 1 แสนปอนด์ ในงานนี้ มีสมาชิกพรรคราว 1 หมื่นคนมาร่วมงาน พร้อมกับการนั่งแฮลิคอปเตอร์ลงมาสู่เวทีของคินนอคโดยสิ่งที่ทำให้คะแนนเสียงของพรรคแรงงานตกลงจากงานวันนั้นคือการกล่าวคำว่า We are alright หลายๆ ครั้ง 

แบบที่แสดงอารมณ์แบบ emotional มากๆ จนถึงขนาดว่าเกินพอดีไปเยอะมาก ถึงขนาดที่ว่าเขาเหมือนกำลังจะรอขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเสริมความรู้สึกนั้นด้วยธงชาติ Union Jack ปลิวไสวรอบๆ เวที จนประชาชนชาวอังกฤษเริ่มจะรู้สึกว่าคินนอคไม่ได้มีความเป็นผู้ใหญ่หรือมีความนิ่งมากพอในการที่จะเป็นผู้นำอังกฤษคนต่อไป คนอังกฤษเรียกเหตุการณ์ที่สุดประหลาดนี้ว่า Sheffield Rallyสิ่งนี้ ได้เปลี่ยนใจของชาวอังกฤษหลายภาคส่วนในการเลิกหนุนคินนอคผ่านคูหาเลือกตั้งใน 1 สัปดาห์ถัดมา โดยหลังเหตุการณ์ Sheffield Rally ดังกล่าว โพลของ Gallup ที่เรียกกันว่า Red Wednesdayให้พรรคอนุรักษนิยมนำพรรคแรงงาน 0.5%

 

สาม “เมเจอร์ (ในครั้งนี้ คือแฮร์ริส) หาเสียงด้วยวิธีใหม่ที่โดนใจชาวสหรัฐ ในวันท้ายๆ ก่อนเลือกตั้งจริง”

สำหรับพรรคอนุรักษนิยม ณ เวลานั้น จุดขายของพรรคคือภาพลักษณ์ของจอห์น เมเจอร์ ที่พูดกับประชาชนได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ทำให้ใช้กลยุทธ์หาเสียงด้วยการออกไปสถานที่ต่างๆ ทั่วอังกฤษ ผ่านรายการที่ชื่อ " Meet John Major” ซึ่งให้ผู้สนใจ 200-300 คน มาตั้งคำถามกับเมเจอร์ในเวทีเล็กๆ อย่างไรก็ดี เมเจอร์มองว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ออกไปตามแนวอเมริกันมากเกินไป ซึ่งอาจจะไม่สามารถเข้าถึงใจชาวอังกฤษที่จะตัดสินใจมาโหวตเขาได้มากพอ

โดยการหาเสียงที่เมืองลูตัน ในวันที่ 28 มีนาคม 1992 ก่อนเลือกตั้ง 10 วัน เมเจอร์ตัดสินใจใช้โทรโข่งยืนบนกล่องลังใหญ่ๆ ที่ใส่สบู่หลายๆ ก้อน เพื่อให้คนในเมืองลูตันได้ใกล้ชิดเขามากขึ้น นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา ที่ลอนดอน เมเจอร์ได้เดินถือโทรโข่งหาเสียงจากตลาดบริกซ์ตันมาถึงดาวน์นิ่งสตรีท โดยได้รับความสนใจจากชาวลอนดอนตลอดทาง จนเป็นที่มาของการหาเสียงดังกล่าวว่าเป็นแบบ The “Soapbox"

 

สี่ “พรรคอนุรักษนิยม (รอบนี้ คือเดโมแครต) ออกโฆษณา PR โจมตีพรรคแรงงานได้โดนใจคนอังกฤษ” 

โดยโปสเตอร์นักมวยสวมนวมขนาดใหญ่ 2 อันที่เขียนว่า 1. More Taxes และ 2. High Prices ซึ่งเป็นไอเดียของ คริส แพทเทิน อดีตประธานพรรคอนุรักษนิยม พร้อมกับเขียนบนชื่อหัวข้อว่า Labour’ s Double Whammy ผลิตโดยเอเจนซี่โฆษณาชื่อดัง Saatchi and Saatchi

 

ห้า “นโยบายของพรรคแรงงานถูกตีความในทางไม่ดีตั้งแต่วันต้นๆ ของการรณรงค์เลือกตั้ง”

โดยแม้ว่าพรรคแรงงานจะพยายามล้างภาพลักษณ์เป็นพรรคที่ชอบขึ้นภาษีเพื่อนำมาใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดหนุนรัฐสวัสดิการ ด้วยการออกรายงานการศึกษาว่านโยบายภาษีของตนเองช่วยคนรายได้น้อย ทว่าสร้างค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเฉพาะต่อคนที่มีรายได้สูง

อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ที่พรรคอนุรักษนิยมได้สร้างต่อพรรคแรงงานว่ามีภาพลักษณ์ชอบขึ้นภาษี ได้เข้าไปอยู่ในใจของชาวอังกฤษเรียบร้อยแล้ว

 

ท้ายสุด โพลก่อนเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนผลเลือกตั้งที่แท้จริงเสมอไป ดังเช่นในปี 2016 ที่ผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐได้พลิกไปจากโพลไปเยอะมาก โดยทรัมป์กลายเป็นผู้นำสหรัฐในครั้งนั้น ส่วนสำหรับในครั้งนี้ คงต้องรอดูกันในวันนี้







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh