จิตวิทยาของการซื้อ-ขายหลักทรัพย์
ดร.ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์
เคยสังเกตไหมว่า เรามักไม่สามารถ"ทนรวย"ได้ (เวลาราคาหุ้นขึ้น เรารีบขายรับรู้กำไร) แต่กลับ"ทนขาดทุน"ได้นานทีเดียว (เวลาราคาหุ้นลง เราเก็บหุ้นที่ขาดทุนไว้นานทีเดียว)
ในคลาสวิชา Behavioral Finance ที่ผมสอนที่คณะบริหารธุรกิจนั้น ผมจะพูดเรื่องบทบาทของจิตวิทยาและอารมณ์ (Psychology and Emotion) ของคนเราที่สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมากทีเดียว
โดยงานวิจัยทางด้าน Behavioral Finance หลายงาน มักพบว่านักลงทุนมีพฤติกรรมที่ถูกเรียกว่ “Disposition Effect” กล่าวคือ นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะรีบขายหุ้นทำกำไรเร็วเกินไป (ภาษานักเลงลงทุนก็คือ“ขายหมู” หรือทนรวยไม่ค่อยได้ แล้วหุ้นก็มักวิ่งขึ้นไปต่อ) และมีแนวโน้มที่จะถือหุ้นที่ขาดทุนไว้นานมากเกินไป (เพราะมันมักขาดทุนลึกลงไปอีก)
ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติหรือกฎกติกาของการซื้อ/ขายสินค้าหรือหลักทรัพย์ก่อน โดยธรรมชาติแล้ว การ "ซื้อ"สินค้าหรือหลักทรัพย์นั้นแตกต่างจากการ"ขาย"สินค้าหรือหลักทรัพย์อย่างมากทีเดียว
กล่าวง่ายๆ คือ ด้วยเงินลงทุนที่มีอยู่ เราสามารถซื้อหุ้นตัวไหนก็ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะมีเงินมากน้อยแค่ไหน เราก็ไม่สามารถขายหุ้นใดก็ได้ตามใจเรา เพราะเราจะขายหุ้นที่เรามีได้เท่านั้นและขายหุ้นได้แค่จำนวนหุ้นที่มีเท่านั้นด้วย (โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า การขายชอร์ตหรือ Short sell นั้นไม่ง่ายและมีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับการขายหุ้นแบบปกติ)
นอกจากนี้ การตัดสินใจ"ซื้อ"หุ้นจะไม่มีกำไรขาดทุนให้ต้องพิจารณาหรือชั่งใจ การซื้อหุ้นจึงเป็นเรื่องที่ง่ายทั้งโดยกติกาที่มีและโดยจิตใจ (Psychology) ของเรา กล่าวคือ การซื้อหุ้นมันไม่ค่อยทำให้เราเครียดหรอก คนจำนวนมากซื้อหุ้นด้วยอารมณ์ที่ดี มองโลกแง่ดี เช่น นึกถึงตอนที่เราซื้อถัวซิ เราซื้อด้วยความหวังว่าของมันถูกและน่าซื้อ เป็นต้น
ส่วนการ"ขาย"นั้น แตกต่างจากการซื้อโดยสิ้นเชิง เพราะเวลาที่เราขายหุ้นที่เรามีอยู่ จะมีเรื่องกำไร/ขาดทุน ที่เข้ามามีผลต่อการตัดสินใจขายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ดังนั้น การขายจึงมีแค่ 2 แบบ คือ ...
1. การขายทำกำไร: ถือเป็นเรื่อง"ง่าย"สุดๆ ในทางจิตวิทยา ได้รับรู้กำไร รู้สึกภาคภูมิใจมีความสุข (proud) ดังนั้น การมีกำไรแม้เพียง"ไม่มาก"จึงเย้ายวนใจอย่างมากให้เราขายทำกำไร การขายทำกำไร"เล็กน้อย"จึงมักเกิดขึ้นบ่อยหรือรีบขายทำกำไรนั่นเอง ... อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษามักพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว หุ้นมักไปต่อ!
2. การขายแล้วขาดทุน: เป็นเรื่องยากมากในทางจิตวิทยา การขายรับรู้ขาดทุนมันทำร้ายจิตใจเรา ในทางจิตวิทยาบอกว่าคนเรามี “Loss Aversion” (คือการไม่ชอบหรือเกลียดการขาดทุนหรือสูญเสีย) อีกทั้ง การขายรับรู้ขาดทุนมันคือ การยอมรับว่าเราตัดสินใจผิดพลาดทำให้การขาดทุนนั้นเป็นสิ่งถาวรแก้ไขกลับคืนมาไม่ได้ ดังนั้น ใจเราจึงบอกตัวเราว่า ถ้าเรายังไม่ขายรับรู้ขาดทุน เรายังมีโอกาสเสมอที่จะกลับมาเท่าทุนหรือกำไรได้ ... อย่างไรก็ตาม เราอาจขาดทุนหนักกว่าเดิมก็ได้นะครับ และผลการศึกษาหลายงานก็แสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้ว การขาดทุนนั้นหนักกว่าเดิมอีก!!
การได้รับรู้จิตวิทยาของการซื้อ/ขายหลักทรัพย์นั้น น่าจะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมการลงทุนของเราได้ดีขึ้น และหวังว่าจะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสม (optimal) ขึ้นได้ครับ
Disclaimer (คำเตือน): บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลข่าวสารและเพื่อการศึกษาเท่านั้น มิใช่การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนหรือซื้อขายแต่อย่างใด การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน