ข้อคิดลงทุนจาก 3 กูรูการเงินชั้นนำ
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ผมได้อ่านบทความว่าด้วยความเห็นและบทเรียนจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั้งในสหรัฐและอังกฤษที่ชำนาญในตลาดการลงทุนที่แตกต่างกัน เห็นว่าน่าสนใจ จึงนำมาสรุปในบทความนี้ อันประกอบด้วย
กิ๊บสัน สมิทธิ์ ซึ่งมีบางคนให้ฉายาว่าเป็น Bond King ซึ่งเคยร่วมงานกับ บิล กรอส ปลุกปั้นให้ Janus Anderson จากที่เชี่ยวชาญการเลือกหุ้น มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตราสารหนี้ ล่าสุด มาตั้งบริษัทของตัวเองออกกองทุนที่มีชื่อว่า ALPS/Smith Total Return Bond
กิ๊บสัน สมิทธิ์ ประเมินในแง่ดีเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดในครั้งนี้ ว่าเพื่อเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งสูงเกินไปให้ลดลดงมา และจะช่วยให้ระดับการตึงตัวของนโยบายการเงินที่มากเกินไปผ่อนคลายลงมา ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความคึกคักทางเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในสหรัฐ จึงมองว่าการขยับของเฟดรอบนี้น่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นกู้สหรัฐโดยรวม
โดยกิ๊บสันประเมินว่าตราสารหนี้สหรัฐที่น่าสนใจ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ หุ้นกู้ภาคเอกชน โดยแนะนำให้ลงทุนยืนพื้นหุ้นกู้ในเซกเตอร์รถยนต์และสถาบันการเงิน พร้อมกับเริ่มกระจายการลงทุนไปในเซกเตอร์ที่สร้างกระแสเงินสดได้ดีและจ่ายคืนหนี้สิน อาทิ เซกเตอร์ aerospace และอุปกรณ์ด้านการทหาร หรือ defense โดยเน้นบริษัทที่ไม่รับความเสี่ยงมาก ในขณะที่โลกเราต้องเผชิญความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทในเซกเตอร์เหล่านี้ จะมีอัตราส่วนกำไรและกระแสเงินสดเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ กิ๊บสันมองว่าควรเพิ่มน้ำหนักในเซกเตอร์ยารักษาโรค แม้ว่าในช่วงหลังเลือกตั้งใหญ่สหรัฐ เซกเตอร์นี้ มักจะได้รับผลเชิงลบจากนโยาบายด้านการเมือง ทว่าความต้องการยารักษาโรคด้านต่างๆ รวมถึงกระแสความนิยมด้านการลดน้ำหนัก เซกเตอร์นี้น่าจะได้รับผลดีเป็นอย่างมากจากแนวโน้มดังกล่าว
ท้ายสุด มองว่าควรจะปรับลดหุ้นกู้ในเซกเตอร์อุปโภคบริโภคแบบฟุ่มเฟือย มาสู่เซกเตอร์อุปโภคบริโภคแบบจำเป็น จากความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ อาทิ หุ้นกู้ของบริษัท Kroger ที่กองทุนของเขาถืออยู่ ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจได้มากกว่า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้น
นอกจากนี้ กิ๊บสันยังแนะนำให้ถือพันธบัตรสหรัฐที่มี duration สูงขึ้น รวมถึงในส่วนหุ้นกู้ในตลาดที่อยู่อาศัยในส่วนอันดับเครดิต AAA โดยกิ๊บสันมองว่าให้ yield ที่น่าสนใจกว่า เมื่อเทียบกับหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตที่ดีในลำดับรองลงมา โดยมองว่าควรจะเน้นหุ้นกู้และพันธบัตรแบบเชิงรับมากกว่าในช่วงปีนี้
มาถึงกูรูท่านที่ 2 นามว่า จอห์น ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนวกองทุนเกษียณจากแดนผู้ดี ที่มีประสบการณ์กว่า 65 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีเงินลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 ล้านปอนด์ในกองทุนประหยัดภาษีของอังกฤษที่เรียกกันทั่วไปว่า Isa เป็นคนแรกในปี 2003 และถือเป็นผู้ที่นิยมการลงทุนแบบเน้นความปลอดภัยและเงินปันผล
ด้วยความเป็นที่ลงทุนใน Isa มานาน มีเรื่องขำขันว่าช่วงที่จะตั้งชื่อหลานสาวที่เกิดใหม่ มีคนแนะนำว่าให้ชื่อ Isa โดยเขามองว่าหากอยากจะประสบความสำเร็จในการลงทุนในตลาด ขอให้มีสองคุณสมบัติ ได้แก่ common sense และความอดทน โดยสิ่งดีๆจากการลงทุนมักจะมาในช่วงตอนจบเสมอ
เพื่อให้เห็นตัวอย่างดังกล่าว ขอแนะนำหุ้น 4 ตัวที่ลีถือครองอยู่ใน Isa ตั้งแต่ปี 2003 ได้แก่ Christie, Nichols, Treatt และ PZ Cussons แม้ตัวสุดท้ายจะมีอัตราผลตอบแทนที่ย่ำแย่ก็ตาม
ลีเริ่มซื้อหุ้น Treatt ที่ผลิตน้ำหอมในปี 1999 ที่ 30 เพนนีต่อหุ้น ราว 30 ครั้ง โดยได้ขายไปราว 20% ของการถือคองทั้งหมดในปี 2020-21 ด้วยราคาระหว่าง 4 ถึง 11 ปอนด์ต่อหุ้น โดยราคาหุ้น Treatt ขึ้นสูงสุดที่ 12 ปอนด์ต่อหุ้น โดยช่วงขาลงของ Treatt มาจากกำไรที่ลดลง โดยราคาลดลงมาสู่ 4 ปอนด์ต่อหุ้น ซึ่งลีกล่าวแบบทีเล่นทีจริงว่าตัวเขาเองน่าจะขายหุ้นนี้ อย่างน้อยบางส่วนตามอดีต CFO ของ Treatt ที่ขายหุ้นออกตอนราคา 12 ปอนด์
มาถึงหุ้นที่เขาเองชื่นชอบในตอนนี้ คือ Cerillion ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการต่อกลุ่มเซกเตอร์สื่อสาร โดยลีเริ่มซื้อหุ้นนี้ครั้งแรกในช่วง IPO ในปี 2016 ที่ราคา 84 เพนนีต่อหุ้น โดยปัจจุบัน ราคาหุ้นขึ้นไปสูงกว่า 19 ปอนด์ โดยลีบ่นว่าไม่น่าไปลดสัดส่วนการถือหุ้น Cerillion ในพอร์ตของตนเอง
กูรูท่านสุดท้าย ได้แก่ ชัค รอยส์ เริ่มต้นบริหารกองทุน Royce Pennsylvania ตั้งแต่ปี 1972 ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Royce Small Cap ภายใต้ความเป็นเจ้าของ ของ Franklin Templeton ที่มีอัตราผลตอบแทน 9% ต่อปี ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเอาชนะกองทุนอื่นๆ จำนวน 3 ใน 4 ของทั้งหมด
โดยรอยส์ให้ความเห็นว่าในช่วงปีแรกของการเริ่มต้นวาระของประธานาธิบดีสหรัฐท่านใหม่ หุ้นขนาดเล็กมักจะให้อัตราผลตอบแทนที่ดี ในขณะที่เขามองว่าหุ้น Big Tech สหรัฐ ที่ราคาเริ่มชะลอลงแล้ว มีทรงคล้ายกับช่วงทศวรรษ 1970 ที่ หุ้น Big Tech อย่าง Xerox, IBM และ Polaroid ขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี 1973 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หุ้นขนาดเล็กเริ่มเป็นช่วงขาขึ้น โดยวัฏจักรในรูปแบบนี้มักจะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปีในตลาดสหรัฐ