ถึงเวลาธนาคารเตรียมพร้อมการแข่งขันในตลาดบริการทางการเงินแบบฝังตัว
โดย วิไลพร ทวีลาภพันทอง
หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน
บริษัท PwC ประเทศไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่า “บริการทางการเงินแบบฝังตัว” หรือ “Embedded finance” ได้เข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารทั่วโลก เนื่องจากเป็นการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาผนวกเข้ากับผลิตภัณหรือบริการในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า โดยผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) ได้นำบริการประเภทนี้ มาใช้กับการชำระเงิน การให้กู้ยืมเงิน และการประกันภัย เพื่อช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น
ล่าสุด บทความ 2022 Retail Banking Monitor: Repositioning for embedded finance ของ PwC Strategy& ได้นำเสนอตัวอย่างการใช้งานระบบการเงินแบบฝังตัวของภาคธุรกิจไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. การคมนาคมขนส่ง -- โซลูชันยานยนต์แบบสมัครสมาชิก รูปแบบการเป็นเจ้าของรถแบบดั้งเดิมกำลังเปลี่ยนไปเมื่อมีการเปิดตัวบริการโซลูชันยานยนต์แบบสมัครสมาชิกที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ เช่น แบรนด์รถหรูของสวีเดนได้นำเสนอบริการดูแลรักษารถแบบรายเดือนที่ครอบคลุมทั้งการประกันอุบัติเหตุอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมด้วยการบำรุงรักษา และสัญญาที่มีระยะเวลาแจ้งยกเลิกล่วงหน้าภายในสามเดือน
2. การท่องเที่ยว -- ชูข้อเสนอ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” มากขึ้น วันนี้ข้อเสนอ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” (Buy-Now-Pay-Later: BNPL) ในภาคการท่องเที่ยว ดึงดูดให้ลูกค้าสามารถเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องการได้มากขึ้นแม้จะมีงบจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังมาตรการโควิด-19 ของทั่วโลกผ่อนคลายลง ธุรกิจสายการบิน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาด สามารถใช้ประโยชน์จากข้อเสนอ BNPL เพื่อเพิ่มยอดขายและกระตุ้นการใช้เครื่องบิน
3. การเกษตร -- โซลูชันสำหรับการเกษตรในรูปแบบจ่ายเมื่อใช้ ผู้ให้บริการโซลูชันในรูปแบบจ่ายเมื่อใช้ (Pay-per-use) ในภาคการเกษตร ช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของเครื่องจักรแบบเดิมเป็นการจ่ายค่าบริการเฉพาะการใช้งานจริงของเครื่องจักรเท่านั้น ซึ่งโซลูชันดังกล่าว ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้กับบริษัทต่าง ๆ เนื่องจากลูกค้าจะต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ก็ต่อเมื่อใช้งานจริงเท่านั้น และไม่มีการชำระขั้นต่ำรายเดือนที่ตายตัว
4. การดูแลสุขภาพ -- การจัดหาเงินทุนสำหรับการผ่าตัดใหญ่ โรงพยาบาลสามารถนำเสนอโซลูชันการจัดหาเงินทุนให้แก่ผู้ป่วยสำหรับการผ่าตัดใหญ่ จากการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการระบบการเงินแบบฝังตัว โดยผู้ให้บริการระบบการเงินแบบฝังตัวนี้ จะเป็นผู้จ่ายเงินให้โรงพยาบาลล่วงหน้า ขณะที่นำเสนออัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ลูกค้า
5. การค้าปลีก -- ข้อเสนอเพิ่มเติมสำหรับร้านค้าสินค้าคงทนและเฟอร์นิเจอร์ ระบบบริการการเงินแบบฝังตัวช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถเสนอบริการเพิ่มเติมสำหรับสินค้าของตนไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเงินทุนสำหรับการซื้อ หรือการอนุญาตให้ผู้บริโภคทำประกันสินค้าใหม่ เช่น บริษัทเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่จากสวีเดน ร่วมกับผู้ให้บริการประกันภัย ในการนำเสนอประกันภัยคุ้มครองบ้านและที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า และสามารถซื้อได้ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท
ด้วยข้อเสนออันโดดเด่นและหลากหลายของรูปแบบบริการทางการเงินแบบฝังตัวที่กล่าวมา ทำให้ธนาคารจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความร้อนแรง และลดความเสี่ยงจากการสูญเสียฐานลูกค้า และส่วนแบ่งรายได้บริการลูกค้ารายย่อยให้กับนอนแบงก์เหล่านี้ให้ได้ โดยข้อมูลจากบทความฉบับนี้ ยังคาดว่า มูลค่าของบริการทางการเงินแบบฝังตัว จะคิดเป็นมากกว่า 15% ของส่วนแบ่งรายได้รวมของธนาคาร (เพื่อรายย่อย) ในยุโรปในปี 2573
ทั้งนี้ บทความชิ้นนี้ ยังได้นำเสนอ “กรอบ B-U-I-L-D” ที่ธนาคารเพื่อรายย่อยสามารถนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดทิศทางสำหรับการแข่งขันในตลาดบริการการเงินแบบฝังตัว ไว้ดังนี้
-
พื้นฐาน (Basis) ธนาคารจำเป็นต้องจัดหาแพลตฟอร์มที่รองรับการบริการแบบ white-label และมีกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับโซลูชันบริการทางการเงินแบบฝังตัว ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของความสามารถในการนำเสนอโซลูชันทางการเงินในรูปแบบดังกล่าว
-
ประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience) ประสบการณ์ของผู้ใช้ที่เหนือกว่า คือ กุญแจสู่ความสำเร็จของ embedded finance ดังนั้น การนำบริการทางการเงินแบบฝังตัวมาใช้จึงควรสอดประสานกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้ในเชิงบวก ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างถ่องแท้ และนำมาใช้ในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
ปัญญา (Intelligence) ปัญญา ถือเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการประเมินและการจัดการความเสี่ยงขั้นสูง ฉะนั้น ธนาคารจะต้องสามารถประเมินโปรไฟล์ลูกค้าที่เป็นหุ้นส่วนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระบวนการในการทําความรู้จักลูกค้า หรือ Know Your Customer: KYC และ การฉ้อโกง) เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการในราคาที่เหมาะสม
-
เป็นผู้นำในการบริหารความสัมพันธ์กับพันธมิตร (Leadership in partnering) ธนาคารต้องมีการจัดบริหารความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนทางธุรกิจอย่างกระตือรือร้น และต้องให้ความสำคัญกับการวางตำแหน่งทางการตลาดของตนให้มีความเฉพาะเจาะจงและเหมาะสมที่สุดต่อการให้บริการทางการเงินแบบฝังตัว
-
นวัตกรรมและการพัฒนา (Development and Innovation) ด้วยภูมิทัศน์ของ embedded finance ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอต่าง ๆ จะต้องได้รับการปรับให้เข้ากับความชื่นชอบของผู้บริโภค และผลิตภัณฑ์ก็จะต้องได้รับการปรับปรุงใหม่อยู่เสมอเพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค