ทรัมป์ 2.0: หรือจะเป็นตลาดจีนที่ได้ประโยชน์?
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
อาจจะเป็นเพราะพระเจ้าได้กำหนดให้โดนัลด์ ทรัมป์ต้องกลับมาเป็นผู้นำสหรัฐเป็นรอบที่ 2 ดังที่เจ้าตัวได้กล่าวไว้ในงานแถลงการณ์ตอบรับเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันว่าตัวเขาเองไม่น่าจะรอดมาจากการถูกลอบสังหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อจะมาชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงในปลายปีนี้
สิ่งที่ดูเป็นข้อมูลใหม่ในสัปดาห์ที่แล้ว คือการเลือก เจ ดี แวนซ์ วุฒิสมาชิกรัฐโอไฮโอ วัยเพียง 39 ปี ให้เป็นคู่รองประธานาธิบดีของทรัมป์ ผมได้อ่านหนังสือชีวประวัติของแวนซ์ที่ตัวเขาได้เขียนขึ้นมาในปี 2007 ที่ชื่อว่า Hillbilly Ele-gy
ซึ่งผมขอเล่าเนื้อหาคร่าวๆ ดังนี้ แวนซ์และพี่สาวเติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ออกจะยากจน โดยเขาได้รับการเลี้ยงดูจากย่า ซึ่งแม่ของแวนซ์ทำงานเป็นพยาบาลในเมืองเล็กๆ ของรัฐโอไฮโอ ทว่าเธอติดยาเสพติดและมีเรื่องราวเชิงชู้สาวกับผู้ชายในละแวกบ้านเธอ โดยจุดเปลี่ยนที่ทำให้แวนซ์ได้กลายเป็นคนดีและมีอนาคต มาจากย่าของเขาที่สามารถดึงแวนซ์ออกจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่มีนิสัยเกเร จนแวนซ์สามารถจบด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยเยล ในปี 2014 อีกทั้งแวนซ์ยังเคยผ่านการเป็นทหารในสงครามอิรักอีกด้วย จนมาเข้าทำงานกับกลุ่ม Venture Capital ของปีเตอร์ ธีล ใน Sili-con Valley ก่อนล่าสุดจะได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐโอไฮโอ โดยแวนซ์มีภรรยาเป็นชาวอินเดียที่ชื่อว่าอูชา ซึ่งให้กำลังใจเขามาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี มีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าหนังสือของแวนซ์ที่เขียนออกมานั้น จะเป็นเรื่องจริงทั้งหมดหรือไม่ เพราะจากเรื่องราวในหนังสือ จะไบว่าผู้คนในหมู่บ้านที่แวนซ์เติบโตมาดูจะมีนิสัยแย่กันไปเสียหมด ยกเว้นแวนซ์คนเดียวที่ดูเป็นคนดี รวมถึงเพื่อนสมัยวัยรุ่นที่เกือบจะพาแวนซ์เสียคน ก็เป็นชาวเอเชียและชาวยุโรปที่อพยพเข้ามาในสหรัฐ ซึ่งเหมือนจะส่งสัญญาณว่าแวนซ์ไม่ชอบผู้อพยพต่างชาติที่เข้ามาในสหรัฐ
หากพิจารณาจากชีวิตของแวนซ์ที่สู้แบบสุดๆ จากครอบครัวชนชั้นกลางที่ออกจะดูด้อยโอกาสมากๆ จนมาถึงมีวันนี้ได้ จึงไม่น่าแปลกที่แวนซ์จะสนับสนุนนโยบายของสหรัฐที่ไม่ยอมให้สหรัฐเสียเปรียบชาติพัฒนาแล้วอย่างยุโรป ในการที่จะใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมน้อยกว่าของสหรัฐภายในกลุ่มนาโต้ รวมถึงไม่ยอมให้จีนมาทุ่มตลาดขายสินค้าราคาถูกเกินจริงให้กับชาวสหรัฐ เนื่องจากมองว่าเป็นการหนุนชนชั้นกลางของจีน ในขณะที่ลดความต้องการแรงงานชาวสหรัฐในการผลิตของระบบเศรษฐกิจ
ในมุมมองส่วนตัว ผมมองว่าแวนซ์สามารถเบียดทั้งนิกกี้ แฮร์ลีย์ และ มาร์โค รูบิโอ จนสามารถขึ้นมาเป็นคู่หูรองประธานาธิบดีของทรัมป์ได้ น่าจะมาจากการสนับสนุนทางการเงินของอิลอน มัสก์ และ ปีเตอร์ ธีล 2 ผู้ทรงอิทธิพลแห่ง Silicon Valley ต่อทรัมป์
ถ้าหากว่ายังจำกันได้ ทรัมป์มีปัญหาด้านการเงินระหว่างในช่วงการหาเสียงในปีนี้ โดยทั้งมัสก์และธีล ถือถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ มาโดยตลอด เมื่อทรัมป์ต้องการงบประมาณในการหาเสียงรอบนี้ ทั้งคู่จึงเป็นคำตอบของทรัมป์ โดยแวนซ์ซึ่งทำงานให้กับธีลมาหลายปี นั่นหมายถึงธีลก็สามารถคุมแวนซ์ได้ในระดับหนึ่ง แวนซ์จึงเป็นคำตอบของทรัมป์
ในขณะที่ตัวเก็งอื่นๆ ที่เคยคาดการณ์กันว่าจะเป็นคู่หูของตนเอง ต่างล้วนถูกทรัมป์ตั้งฉายาเสียๆ หายๆ ไปกันหมดแล้ว ในขณะที่แวนซ์จัดเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่เคยถูกทรัมป์กล่าวหาแบบเชิงลบ และมาจากชนชั้นระดับชาวบ้านของสหรัฐ ซึ่งคนสหรัฐทั่วไปย่อมจะชื่นชอบใน Story ที่แวนซ์เติบโตมาจากความยากจนจนได้ดิบได้ดี
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าแวนซ์แม้จะมีทบาทต่อการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐในครั้งนี้มาก ทว่าน่าจะถูกลดบทบาทลงเป็นอย่างมาก หลังจาก (หากว่า) ทรัมป์ชนะเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ
โดยมองว่า ประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบเชิงบวกในระยะยาวจากทรัมป์ ได้แก่ จีน เนื่องจากนโยบายของทรัมป์จะโฟกัสไปที่การค้ามากกว่า ในขณะที่นโยบายแนวการสกัดดาวรุ่งด้านเทคโนโลยีต่อจีนของทรัมป์ดูจะมีความลึกน้อยกว่าของไบเดน ที่สำคัญ อิลอน มัสก์ ซึ่งดูเป็นแหล่งเงินที่สำคัญของทรัมป์ในรอบนี้ ต้องพึ่งพาอุปสงค์ของตลาดจีนสำหรับรถ EV ของบริษัทตนเองเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทรัมป์น่าจะมีนโยบายดุเดือดกับจีน ทว่าแบบมีขอบเขตจำกัด
หากพิจารณากันให้ดี จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นจีนยุคของทรัมป์ในฐานะผู้นำสหรัฐในรอบที่แล้ว ถือเป็นช่วงขาขึ้น และได้กลับมาเป็นขาลงในยุคไบเดนอย่างชัดเจน
นอกจากจีนและรัสเซียที่น่าจะเป็น Winner ในยุคทรัมป์ 2.0 ยังมีอีกหนึ่งประเทศที่น่าจะไม่ได้รับผลเชิงลบมากนัก คือ อังกฤษ โดยดูจะเป็นไปได้ว่าแวนซ์ซึ่งมีปูมหลังครอบครัวคล้ายกับเคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำอังกฤษ ในระดับหนึ่งน่าจะคุยกันได้ถูกคอ คล้ายกับสมัยแรกของทรัมป์ที่มีความสนิทสนมกับบอริส จอห์นสัน อดีตผู้นำอังกฤษ
ด้านกลุ่มประเทศที่น่าจะได้รับผลเชิงลบ น่าจะคือยุโรป เนื่องจากจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเพื่อตอบสนองนโยบายทรัมป์ที่อยากให้แบ่งความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงของโลกให้มากขึ้น รวมถึงน่าจะมีประเด็นการกีดกันทางการค้าระหว่างยุโรปกับสหรัฐมากขึ้นกว่าในยุคของไบเดน