กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน ห้าปัจจัยความสำเร็จที่จะขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เติบโต โดย PWC .

โดย
PWC .

:PWC
.

ห้าปัจจัยความสำเร็จที่จะขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เติบโต

โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ 
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย

    ผ่านพ้นไปเรียบร้อยสำหรับงานประชุม APEC CEO Summit 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยผู้นำระดับประเทศทั้งจากภาครัฐและผู้นำธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุมแบบพบหน้ากัน (physical meeting) ในปีนี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในขณะที่ PwC ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่เป็น ‘พันธมิตรด้านองค์ความรู้’ (Knowledge Partner) ให้กับการประชุมดังกล่าวเป็นปีที่ 13

 

       สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เราได้เปิดตัวรายงาน Asia Pacific’s Time: Responding to the new reality ซึ่งถือเป็นภาคต่อของรายงานฉบับแรกที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2563 ณ การประชุม APEC CEO Summit ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ โดยสาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ เราได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ๆ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจและผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในระยะต่อไป

      ทั้งนี้ รายงานที่ถูกจัดทำขึ้นโดย PwC Asia Pacific ฉบับนี้ระบุว่า เอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับสภาวะความไม่สมดุล (disequilibrium) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยได้รับปัจจัยเชิงลบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน อัตราเงินเฟ้อสูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังขยายตัวในวงกว้าง และความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลก เป็นต้น

      ยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องจัดการกับความท้าทายใหม่ด้านแรงงานท่ามกลางกระแสการลาออกครั้งใหญ่ และความคาดหวังต่อนายจ้างที่มีมากขึ้น รวมไปถึงการดำเนินการในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Soical and Governance: ESG) ก็กำลังสร้างแรงกดดันให้ผู้นำธุรกิจในภูมิภาคต้องเร่งกำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยการมีเป้าหมายด้าน ESG ที่ชัดเจน 

 

      จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่สามารถพึ่งพาการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป (passive growth) ได้อีกต่อไป และส่งผลให้ภาคธุรกิจทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในภูมิภาคที่นับวันจะยิ่งมีความเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น

      รายงานของ PwC จึงได้ทำการศึกษาถึงห้าปัจจัยความสำเร็จที่จะช่วยสร้างความแตกต่างและเสริมความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ โดยปัจจัยทั้งหมดที่ว่านี้มีความเชื่อมโยงและส่งเสริมกัน และการดำเนินการต่อปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออีกปัจจัย ดังต่อไปนี้


      - ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะหยุดชะงัก ต้นทุนที่สูงขึ้น และกรอบการกำกับดูแลที่เปลี่ยนไปส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับกลยุทธ์การจัดการห่วงโซ่อุปทานและฐานการผลิตไปสู่เครือข่ายระดับภูมิภาคที่มีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริหารควรเปลี่ยนโฟกัสการบริหารต้นทุน (cost) และเพิ่มประสิทธิภาพ (efficiency) ไปสู่การสร้างความไว้วางใจ (trust) และความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน (resilience) 
 

      - การเติบโตขององค์กรระดับภูมิภาค โอกาสในการสร้างมูลค่า (value creation) ผ่านกิจกรรมการควบรวมในเอเชียแปซิฟิกนั้น มีมากมายมหาศาล แต่สิ่งที่สำคัญ คือ dealmarker จะต้องใช้แนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยความสามารถในการทำดีล (ความสามารถที่ผสมผสานระหว่างกระบวนการ เครื่องมือ เทคโนโลยี ทักษะ และเป้าหมายขององค์กร เข้าด้วยกัน) โดยไม่คำนึงเฉพาะองค์ประกอบดั้งเดิมอย่างวิศวกรรมทางการเงิน หรือเหตุผลเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงานเท่านั้น 
 

     - เศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่ดิจิทัล เพื่อขยายขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงต้องมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลด้วย 
 

     -  กำลังแรงงาน ผู้นำองค์กรควรหันมาใช้แนวทางในการบริหารกำลังแรงงานที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง (People-centric) มากขึ้นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกันและแสดงความเห็นอกเห็นใจ รวมทั้งมุ่งพัฒนาทักษะ เปิดรับความยืดหยุ่น และส่งมอบงานที่ขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความไว้วางใจ
 

     -  สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล นับจากนี้ไป ESG ไม่ใช่สิ่งที่ ‘มีก็ดี’ สำหรับธุรกิจในภูมิภาคนี้อีกต่อไป โดยธุรกิจจะต้องเร่งขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้าน ESG เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดสำหรับเงินทุนและบุคลากรที่มีความสามารถ


    สำหรับประเทศไทย ผมมองว่า ปัจจัยทั้งห้าประการที่รายงานฉบับนี้ได้ทำการศึกษามา จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจไทยอย่างไม่ต้องสงสัย หากแต่ผู้บริหารจะต้องนำมาปรับใช้กับกลยุทธ์ที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนองค์กรแบบเชิงรุก และการมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งความเป็นจริงใหม่ที่พวกเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่
 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh