efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน 2 มุมของเฟด ก่อนประชุมนัดแรกปี 2024 โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

2 มุมของเฟด ก่อนประชุมนัดแรกปี 2024

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

2 มุมของเฟด ก่อนประชุมนัดแรกปี 2024

 

เหลือเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ก็จะถึงวันประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดนัดแรกของปี 2024 กันแล้ว บทความนี้ จะขอนำเสนอ 2 มุมมองจากสมาชิกเฟดที่ถือว่ามีชั่วโมงบินสูง ดังนี้

 

เริ่มจากผู้ว่าเฟด สาขาชิคาโก ออสแทน กูลสบี ที่ยังคงมั่นใจในระดับหนึ่งว่าสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่จะค่อยๆชะลอตัวลงหรือ Soft Landing ยังคงมีความเป็นไปได้ โดยธนาคารกลางสหรัฐจะสามารถต่อสู้เอาชนะเงินเฟ้อโดยไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงมากนัก

 

กูลสบี ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และอดีตเคยทำงานด้านที่ปรึกษาให้กับผู้นำรัฐบาลสหรัฐมาแล้ว ยอมรับว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดในทางเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่สิ่งนี้ ซึ่งเขาเรียกมันว่า Golden Path จะดำเนินต่อเนื่องไปอย่างที่เห็นในปีที่แล้ว ซึ่งอัตราการว่างงานสหรัฐค่อยๆลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้คือวัตถุประสงค์ของเฟดที่อยากให้เป็นไป และไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอนที่จะทำให้สำเร็จ

 

กูลสบียอมรับว่าการลดลงของอัตราเงินเฟ้อซึ่งตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อ PCE ที่ 3.7% แม้จะยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ทว่าได้ลดลงมากว่าครึ่งจากจุดสูงสุด โดยการลดลงมาในระดับนี้ถือว่าเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 โดยอาจต้องพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อที่จะออกมาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า หากว่ายังดูดีอยู่ ก็อาจเป็นการลดลงของเงินเฟ้อที่มากสุดนับตั้งแต่ศตวรรษก่อนหน้า

 

โดยการลดของระดับอัตราเงินเฟ้อที่เป็นไปในขณะนี้ หากพิจารณาข้อมูลในอดีต คงจะไม่มีครั้งไหนที่ไม่เกิด Recession ทว่าในขณะนี้ เรายังไม่เห็นการเกิด Recession ซึ่งเฟดจะพยายามบริหารจัดการให้เป็นเช่นนี้ต่อไป กูลสบีได้ทิ้งท้ายไว้

 

แล้วก็มาถึงจอห์น วิลเลียมส์ ผู้ว่าการเฟด สาขานิวยอร์ค ที่เล่าถึง rule of three นั่นคือการเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อเป็นหัวหอมที่มีเปลือกอยู่ 3 ชั้น ได้แก่

 

ชั้นแรกซึ่งคือเปลือกชั้นนอกที่สุดของห้วหอมแห่งเงินเฟ้อ ซึ่งได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ โดยอุปสงค์ของสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด และขึ้นอีกครั้งเมื่อรัสเซียบุกยูเครน

 

มาถึง ณ ตอนนี้ อุปสงค์ของโลกได้กลับมาเข้าสู่ในจุดสมดุลกับอุปทานแล้ว ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงจากจุดสูงสุดอย่างรวดเร็ว โดยทั้งราคาอาหารและพลังงานที่ลดลดลงเป็นปัจจัยทำให้ระดับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมลดลงมา

 

เปลือกหัวหอมแห่งเงินเฟ้อชั้นที่สอง ได้แก่ core goods หรือสินค้าที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน โดยอุปสงค์และอุปทานสำหรับ core goods ได้กลับเข้ามาสู่จุดสมดุลทั้งในประเทศและนอกประเทศ สะท้อนการออกจากการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยหากพิจารณาจากดัชนีของดัชนี Global Supply Chain Pressure ของเฟดสาขานิวยอร์ก ซึ่งวัดสถานการณ์ของ Supply Chain ของโลก จะพบว่ากลับเข้าสู่ระดับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดแล้ว

 

เปลือกของต้นหอมแห่งเงินเฟ้อชั้นในสุด คือ core services ซึ่งได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อปีก่อน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในส่วนนี้ คือ เงินเฟ้อจากที่พักอาศัย หรือ rent โดยระดับได้ลดลงมาจากการเติบโตของสัญญาเช่าบ้านใหม่ที่ลดลงกลับเข้ามาสู่ในระดับช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้ว ซึ่งรวมถึง ระดับราคา core services ที่ไม่รวม rent ก็ลดลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

 

โดยเฟดได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0-0.25 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 5.25-5.5 ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี และคงดอกเบี้ยมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แน่นอนว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งเป็นบวกจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อด้วย จนได้ลงมาถึงระดับในปัจจุบัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 3.1 จึงทำให้เฟดเริ่มที่จะประเมินว่าจะลดดอกเบี้ยในช่วงใดของปีนี้ดี

 

โดยวิลเลียมส์ประเมินอัตราการเติบโตของจีดีพีสหรัฐในปี 2024 จะอยู่ที่ราวร้อยละ 1.25 อัตราว่างงานสหรัฐขึ้นมาสู่ร้อยละ 4 และอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐที่ร้อยละ 2.25 ก่อนที่จะเข้าสู่ระดับเป้าหมายร้อยละ 2 ในปีหน้า โดยความไม่แน่นอนที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นหรือต่ำลงกว่าคาด จากจุดนี้ถือว่าใกล้เคียงกัน

 

วิลเลียมส์เห็นว่าเฟดควรจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้ก่อน จนกระทั่งอัตราเงินเฟ้อกลับเข้ามาใกล้สู่ร้อยละ 2 หรืออย่างน้อยต้องมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลดลงมาเป็นเช่นนั้น แล้วจึงเริ่มทำการลดดอกเบี้ยแบบระมัดระวัง

แบบสอบถามความพึงพอใจ






บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh