efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน 1 ปี วิกฤต SVB: จุดเสี่ยงที่ย้อนมาใหม่? โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

1 ปี วิกฤต SVB: จุดเสี่ยงที่ย้อนมาใหม่?

สัปดาห์นี้ แบร์รี่ สเตอร์นริทช์ ผู้จัดการกองทุนของ Fidelity ออกมาแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์สหรัฐหรือ CRE ของบรรดา Regional Bank สหรัฐว่ายังมีความเสี่ยงอยู่สูงและพร้อมจะก่อตัวเป็นวิกฤตรอบใหม่ในทุกขณะ คงต้องยอมรับกันว่ามีความเสียหายมูลค่า $550 ล้านจาก CRE ของ New York Community Bank (NYCB) ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินทรัพย์บางส่วนของ SVB เมื่อปีที่แล้ว ที่ประกาศออกมาเมื่อต้นเดือนนี้ถือเป็นประจักษ์พยานของเชื้อฟืนแห่งความเสี่ยงดังกล่าว โดยบทความนี้ จะขอประเมินเหตุการณ์ดังกล่าว หลังครบรอบ 1 ปี วิกฤตของแบงก์ SVB ว่าจะเป็นจุดเสี่ยงที่ย้อนกลับมาใหม่ในเร็วๆนี้ไหม

 

หากย้อนไปพิจารณาสถานการณ์ของ แบงก์ SVB จะพบว่าราว 90% ของเงินฝากเป็นแบบไม่มีการค้ำประกัน เนื่องจากหากจำกันได้ ลูกค้าของ SVB ส่วนหลักเป็นบรรดา Tech Startup ที่มีมูลค่าเงินฝากต่อรายของ SVB ส่วนใหญ่เกินมูลค่าขั้นต่ำที่หน่วยงานประกันเงินฝากสหรัฐจะรับรองการล้มของแบงก์ นอกจากนี้ SVB ยังนำเงินฝากดังกล่าวไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ทำให้เมื่อธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบดุเดือดเมื่อปีที่แล้ว ราคาหรือมูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวจึงลดฮวบลงมา ทำให้ SVB ต้องขายสินทรัพย์ดังกล่าวบางส่วนเพื่อจ่ายคืนผู้ฝากเงินที่มาถอนจากแบงก์ นั่นทำให้ก่อให้เกิดการรับรู้ความเสียหายจากพอร์ตตราสารหนี้ดังกล่าว แล้วก็นำมาสู่การดิ่งลงของราคาหุ้น SVB จนเข้าใกล้ศูนย์ในที่สุด

 

ซึ่งหลังจากวิกฤต US Regional Bank ซาลงไปเกือบปีแล้ว ในช่วงนี้ มีหลายท่านคิดว่าปัญหาน่าจะจบลงแล้ว แต่ก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้

 

หากมองย้อนกลับไป ในช่วงที่เฟดดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือทำ QE ผ่านการที่เฟดซื้อพันธบัตรของแบงก์ต่างๆ ทำให้แบงก์สหรัฐได้รับเงินจากเฟดเพื่อนำมาวางเป็น Reserve ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องที่พร้อมจะจ่ายให้กับบรรดาผู้ฝากเงินที่ต้องการจะถอนเงินแบบกระทันหันจากแบงก์สหรัฐในช่วงที่เกิดความไใม่มั่นใจในระบบแบงก์หรือตัวแบงก์นั้นๆเอง

 

อย่างไรก็ดี แบงก์ Regional สหรัฐ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า $5 หมื่นล้าน) ได้ค่อยๆลดการทำ QE กับเฟดลงมาเรื่อยๆ

 

โดยรายงานการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค พบว่าบรรดาแบงก์เล็กเหล่านี้ ในอดีต มักจะจำกัดสัดส่วนของเงินฝากแบบถอนได้ตลอดเป็นแบบไม่มีการค้ำประกันให้ต่ำกว่า 10% ของหนี้สินรวม อย่างไรก็ดี ในขณะน้ี สัดส่วนของเงินฝากดังกล่าว ได้เกิน 30% ไปเรียบร้อยแล้ว แม้ตัวเลขนี้ยังห่างจากของ SVB เมื่อต้นปีที่แล้ว ทว่าเหตุการณ์ของ NYCB ทำให้น่าจะประเมินได้ว่าความเสี่ยงของแบงก์กลุ่มนี้ยังมีอยู่สูงไม่ใช่น้อย เนื่องจากปัญหา CRE ในตอนนี้ ถือว่ามีความเข้มข้นไม่ต่ำกว่าปีก่อนจากราคาและค่าเช่า Office ในเมืองของสหรัฐที่ยังลดลง รวมถึงแบงก์เล็กสหรัฐที่มีสัดส่วนของสินเชื่อ CRE ต่อสินทรัพย์รวมมากกว่า NYCB ยังมีอยู่อีกหลายแบงก์

 

ที่สำคัญ ความประมาทของตลาดจากความมั่นใจว่าทางการสหรัฐจะเข้ามาช่วยแบงก์เล็กที่อาจจะมีปัญหาอีกครั้งในรอบนี้ หลังจากในปีที่แล้ว ได้ออกมาอุ้มแบงก์ที่จะล้มอย่างชัดเจนมาก จะทำให้ก่อให้เกิดวิกฤตรอบใหม่อีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากแหล่งเงินเพื่อใช้ช่วยเหลือแบงก์ Regional สหรัฐที่มีปัญหา ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นหลังเกิดวิกฤต SVB เพิ่งจะถูกพับเก็บไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

คำถามที่จะมีต่อไปจากตรงนี้คือ เมื่อเฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะออกมาเป็นชุดเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 เดือนหลังลดดอกเบี้ยครั้งแรก นั่นย่อมส่งผลต่อมูลค่าของมูลค่าฝั่งหนี้สินให้สูงขึ้นเช่นกัน ตรงนี้ คงจะต้องจับตาว่าจะมีแบงก์ กองทุน หรือ non-bank ประเภทไหนที่จะเกิดความเสียหายจากความเสี่ยงต่อขาลงแบบชุดใหญ่ของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐรอบนี้ในอนาคตอันใกล้







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh