ยุโรป…ทำอย่างไรถึงแข่งกับโลกได้?
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
เมื่อเดือนที่แล้ว มาริโอ ดรากิ อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป ได้ออกรายงานว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของยุโรปให้กับ European Commission บทความนี้จะขอสรุปและวิเคราะห์รายงานดังกล่าว ดังนี้
โดยเหตุผลหลักที่ยุโรปไม่สามารถแข่งขันกับสหรัฐได้ ดรากิมองว่าสาเหตุหลักมาจากการที่ความล้มเหลวที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติของโลกอินเตอร์เน็ตผ่านคลื่นลูกที่หนึ่ง ทั้งในมิติของการสร้างบริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆและการนำพาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยหากไม่นับเซกเตอร์เทคโนโลยี จะพบว่าอัตราการเติบโตของระดับผลิตภาพของยุโรปและสหรัฐในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
สำหรับมิติแห่งความท้าทายอื่นๆของยุโรป ยังประกอบด้วย ความอ่อนแอของภาคพลังงาน, การเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาคพลังงานสีเขียว และการขึ้นมาของแนวทางปกป้องทางการค้า
ทั้งนี้ ดรากิได้ให้กรอบแนวคิดและข้อแนะนำในมิติของการแทรกแซงทางการค้าและนโยบายอุตสาหกรรมว่าควรจะตอบโต้อย่างไร อย่างไรก็ดี ความยากในเรื่องนี้อยู่ตรงที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวพุ่งตรงไปสู่เป้าหมายและมีเหตุมีผลได้อย่างไร
ดรากิยกตัวอย่างอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ ในกรณีของ AIrbus ค่อนข้างชัดเจนว่า ธุรกิจของเซกเตอร์นี้มีการกระจายตัวออกไปตวามประเทศต่างๆมากจนเกินไปเมื่อเทียบกับสหรัฐ ดังนั้น การควบรวมของบริษัทในประเทศต่างๆของกลุ่มนี้ในยุโรปจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ในขณะเดียวกัน ปัญหาในลักษณะเดียวกัน เกิดขึ้นกับเซกเตอร์ธนาคาร ตลาดทุน และฝั่งด้านอุปทานพลังงาน อาจเป็นด้วยเหตุผลหลายประการ ได้ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆในยุโรปไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมข้ามพรมแดน ซึ่งสะท้อนถึงการเมืองที่เน้นชาติของตนเองเป็นหลักและความต้องการของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างไรก็ดี จากประวัติศาสตร์ของยุโรป จะพบว่าการเมืองที่ร่วมมือร่วมใจกัน สุดท้ายแล้ว จะสามารถผ่านอุปสรรคดังกล่าวไปได้ด้วยดีในที่สุด
ด้านเซกเตอร์ Clean Tech ในเซกเตอร์รถยนต์และพลังงาน ยิ่งมีความท้าทายที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก โดยดรากิให้ข้อมูลของฝั่งจีนไว้น่าสนใจว่า ด้วยนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ และ subsidies ที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆถึง 4 เท่า จีนจึงสามารถครองตลาดการ ส่งออกด้านเทคโนโนโลยีพลังงานสะอาดได้ในขณะนี้
สิ่งนี้ ได้ก่อเกิดทั้งโอกาสที่ทำให้ยุโรปจะได้นำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆจากจีน และเกิดความท้าทายต่อยุโรปที่สินค้าจีนจะเข้ามา disrupt สินค้าของยุโรปไปพร้อมๆกัน รวมถึงจีนจะกันยุโรปออกจากในบางช่วงของห่วงโซ่อุปทาน อาทิ แบตเตอรี เนื่องจากยุโรปไม่มีแร่หายาก (CRM) ซึ่งตรงนี้ ทางการยุโรปต้องใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้จีน ทว่าต้องทำแบบละมุนละม่อม
สำหรับการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคลื่นลูกถัดไปนับเป็นประเด็นที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่าการที่จะให้รัฐบาลยุโรปสนับสนุนทางการเงินในการสร้างบริษัท Big Tech อย่าง Mag-7 แห่งยุโรป คงจะเป็นไปได้ยาก หรือการที่จะใช้นโยบายทางการค้าในการป้องกันไม่ให้ Big Tech สหรัฐ อย่าง Google เข้ามาประกอบธุรกิจในยุโรป เนื่องจากก็ต้องห้ามไม่ให้ Search Engine ของจีน ให้ใช้ได้ในยุโรปด้วย
นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่า Funding หรือแหล่งเงินทุนจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลในยุโรป เนื่องจากมูลค่าการออมของยุโรปถือว่ามีมากกว่าสหรัฐหลายเท่า หลายฝ่ายมองว่ากฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆที่ทางสหภาพยุโรปสร้างขึ้นมาต่างหากที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้าง Ecosystem ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ รวมถึงเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรม Venture Capital ที่จะเป็นแหล่งเงินของ Tech Start-up ในยุโรปเพื่อใช้ในกาสร้างธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆขึ้นมา
โดยมีกฏระเบียบอยู่ 2 ประเภทที่ทางสหภาพยุโรปสร้างขึ้นมา ได้แก่ กฎเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเซกเตอร์เทคโนโลยีโดยตรง และ กฎระเบียบว่าด้วยเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแรงงาน ซึ่งทำให้การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถไล่คนงานออกได้หากว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หากยิ่งต้นทุนของการปรับโครงสร้างบริษัทที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เปลี่ยนไปมีมากเพียงใด ก็ยิ่งจะทำให้บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ๆระมัดระวังมากขึ้นในการก้าวเช้าสู่ธุรกิจใหม่ๆที่ต้องมีระดับความเสี่ยงสูงกว่าธุรกิจในปัจจุบัน
จากงานศึกษาหลายฉบับ ต่างให้ผลลัพธ์ชี้ไปว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย General Data Protection Regulation ของยุโรป ซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนของข้อมูลโดยทั่วไป โดยต้นทุนดังกล่าวได้ส่งผลต่อบริษัทที่ต้องการสร้างนวัตกรรมในยุโรป หากยิ่งบริษัทมีขนาดเล็ก ต้นทุนภาษีทางอ้อมดังกล่าวก็จะมีสูงขึ้น ทำให้ยุโรปตามหลังสหรัฐอีกหลายขุมสำหรับในจุดนี้
ท้ายสุด ดรากิย้ำว่ากฎเกณฑ์การกำกับธุรกิจถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเชื่อว่าการที่สหภาพยุโรปมีระบบการกำกับที่เข้มงวดนั้น ทำให้เกิดข้อเสียเปรียบต่อบริษัท Start-up ในยุโรป ในธุรกิจที่ต้องการนวัตกรรมใหม่ซึ่งมีธรรมชาติเป็น Winner-take-all แถมดรากิยังแนะนำแบบติดตลกว่าสหภาพยุโรปควรมีรองประธานสภาที่ดูแลการทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆมีความง่ายลง จัดการในเรื่องนี้
คงต้องย้ำว่ายุโรปต้องมีบรรทัดฐานเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับด้านเทคโนโลยีและการเติบโตของภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายของยุโรปในระยะยาว