แนวทางการกำหนดราคาโอนการค้ำประกันระหว่างกันภายในกลุ่มบริษัท
นพจารี วัฒนานุกิจ ผู้ช่วยหุ้นส่วนสายงานภาษี
วริศรา มหาไม้ ผู้จัดการอาวุโสสายงานภาษี และ
ธัญชนก แสงวัฒนะชัย ผู้จัดการสายงานภาษี บริษัท PwC ประเทศไทย
ในการบริหารกิจการของกลุ่มบริษัทนั้น เราอาจพบว่า เมื่อบริษัทในเครือต้องการกู้ยืมเงินจากบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงิน บริษัทแม่หรือบริษัทในเครือที่มีสถานะทางการเงินที่มั่นคง อาจจะถูกร้องขอให้ออกหนังสือค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่ผู้กู้ เพื่อเป็นการประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้ หรือเพิ่มศักยภาพของผู้กู้เองในการได้รับอนุมัติวงเงินกู้ยืมที่สูงขึ้น หรือลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี คำถามที่มักพบเจออยู่เสมอก็คือ ผู้กู้ (หรือผู้ได้รับการค้ำประกัน) จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันให้กับผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มหรือไม่ และหากต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ควรจะเป็นจำนวนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายราคาโอนของกรมสรรพากร
ทาง PwC ประเทศไทย จึงอยากถือโอกาสนี้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพิจารณาการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมค้ำประกันข้างต้น ดังนี้
1. การกำหนดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้เหมาะสมควรทำอย่างไรบ้าง?
การกำหนดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันระหว่างบริษัทในกลุุ่มนั้น ก็เหมือนกับการกำหนดราคาโอนของรายการระหว่างกันอื่น ๆ ของบริษัทในเครือ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักอิสระ (arm’s length principle) โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งจากมุมมองของผู้ค้ำประกันว่าได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับขอบเขตงานและความเสี่ยง (functional and risk profiles) แล้วหรือไม่ และมุมมองของผู้ได้รับการค้ำประกันว่าได้รับประโยชน์จากการค้ำประกันนั้นหรือไม่ อย่างไร
แม้ว่าการพิจารณาค่าตอบแทนสำหรับการค้ำประกันอาจจะมีความซับซ้อน และในปัจจุบันกรมสรรพากรไทยยังไม่ได้กำหนดแนวทางเฉพาะของการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมค้ำประกันไว้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหลักการกำหนดราคาโอนนั้นเป็นหลักสากล และการร่างกฎหมายราคาโอนในประเทศไทยนั้นได้มีการอ้างอิงถึงหลักเกณฑ์ที่เผยแพร่โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เราจึงสามารถศึกษาจากแนวทางที่ OECD ให้ไว้ได้
2. ผู้กู้ได้รับประโยชน์จากการค้ำประกันจริงหรือไม่?
OECD ได้วางหลักการสำหรับการพิจารณาการตั้งราคาโอนไว้หลายวิธี โดยประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การพิจารณาถึงประโยชน์ที่แท้จริงที่ผู้ได้รับการค้ำประกันได้รับจากสัญญาการค้ำประกัน กล่าวคือผู้ได้รับการค้ำประกันไม่ควรที่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันนั้นหากไม่ได้รับผลประโยชน์จากหนังสือสัญญาค้ำประกันนั้น
โดยการพิจารณาในประเด็นนี้ เป็นการพิจารณาเชิงเปรียบเทียบถึงสถานะของผู้กู้จากมุมมองของผู้ให้กู้ และการทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ทางอ้อม (implicit support) ที่ผู้กู้นั้นพึงได้รับจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราจึงขอยกตัวอย่างสั้น ๆ ดังนี้ ผู้กู้มีอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินเฉพาะองค์กร (standalone credit rating) ที่ระดับ A ส่งผลให้ต้องทำการกู้ยืมเงินที่อัตราดอกเบี้ย 7% แต่เนื่องจากผู้กู้รายดังกล่าวอยู่ในกลุ่มบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprise: MNE) ที่มีความน่าเชื่อถือ สถาบันการเงินจึงมองว่าความน่าเชื่อถือของผู้กู้สามารถขยับขึ้นเป็นระดับ AA และสามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ย 6% แม้ว่าจะยังไม่มีการทำสัญญาค้ำประกันระหว่างผู้กู้และผู้ค้ำประกันก็ตาม และในกรณีที่ผู้กู้ได้รับการค้ำประกันจากผู้ค้ำประกันแล้ว ระดับความน่าเชื่อถือของผู้กู้ก็จะขยับขึ้นไปอยู่ที่ AAA เทียบเท่ากับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกัน ทำให้ผู้กู้สามารถกู้ยืมเงินได้ที่อัตราดอกเบี้ย 5%
สำหรับกรณีข้างต้น ผู้กู้สามารถกู้ยืมเงินที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลงจาก 7% เป็น 5% แต่ประโยชน์ที่ผู้กู้ได้รับนั้นมาจาก (1) ผลประโยชน์ทางอ้อมจากการเป็นสมาชิกกลุ่มบริษัท และ (2) ผลประโยชน์ที่แท้จริงที่ได้รับเพิ่มเติมจากการมีหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ ดังนั้น การพิจารณาค่าตอบแทนการค้ำประกันระหว่างบริษัทในเครือ จึงควรต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับระดับความน่าเชื่อถือจาก AA ไปเป็น AAA ไม่ใช่จาก A เป็น AAA แต่อย่างใด
จากหลักการนี้ ผู้ได้รับการค้ำประกันไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ค้ำประกัน หากพิสูจน์ได้ว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการค้ำประกันนั้นไม่ได้มากไปกว่าผลประโยชน์ทางอ้อมที่ตนเองได้รับจากการเป็นสมาชิกของกลุ่ม อย่างไรก็ดี หากการค้ำประกันทำให้ผู้กู้ได้รับประโยชน์เกินกว่าผลประโยชน์ทางอ้อมก็ควรมีการคิดค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม มิฉะนั้น อาจถูกมองได้ว่า การตั้งราคาโอนของธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือนี้ไม่เป็นไปตามหลักอิสระ ทำให้ผู้ค้ำประกันมีความเสี่ยงที่จะถูกกรมสรรพากรปรับปรุงรายได้ให้สูงขึ้น
3. การค้ำประกันในมุมมองกฎหมายไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร?
ในอดีต เราอาจจะเคยพบว่า ในบางกรณีกรมสรรพากรให้ความเห็นต่อธุรกรรมการค้ำประกันที่ไม่ได้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมระหว่างกันว่า ธุรกรรมดังกล่าวนั้นมีเหตุอันสมควร จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวกับการกำหนดราคาโอนของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถประเมินรายการระหว่างกันภายใต้กฎหมายราคาโอนได้ หากการกำหนดราคาโอนของธุรกรรมระหว่างกันไม่ได้เป็นไปตามหลักอิสระ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า แนวโน้มของกรมสรรพากรไทยในการกำหนดราคาโอนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้ำประกันนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด
ดังนั้น เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาโอน บริษัทที่มีการเข้าหรือกำลังจะเข้าทำธุรกรรมค้ำประกันกับบริษัทในเครือ ควรทบทวนวิธีการกำหนดค่าธรรมเนียมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือกำลังจะใช้ในอนาคต เพื่อให้แน่ใจว่าวิธีดังกล่าวนั้นเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับด้านการกำหนดราคาโอนซึ่งมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง และควรจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิสูจน์ผลประโยชน์ทางอ้อมและประโยชน์ที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจากการเข้าทำสัญญาระหว่างกัน และความเหมาะสมของค่าธรรมเนียม