‘สิทธิมนุษยชน’ ความเสี่ยงที่องค์กรไทยต้องไม่มองข้าม
พันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร
หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง บริษัท PwC ประเทศไทย
สิทธิมนุษยชน ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและความท้าทายทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค จนทำให้องค์กรชั้นนำต่าง ๆ ของไทยต้องให้ความสนใจกับการจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต การประมง การเกษตร สิ่งทอ ธนาคารและสถาบันการเงิน เป็นต้น
จากประสบการณ์ในการร่วมหารือและให้บริการลูกค้าหลายรายในประเทศไทย เราพบว่า ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human rights risk assessment) หลายประการ ตั้งแต่การไม่ทราบถึงข้อกฎหมาย ข้อกำหนด และเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจ การจัดจ้างตัวแทนเพื่อสรรหาทรัพยากรบุคคลรวมถึงแรงงาน การจัดให้มีการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้แรงงาน ไปจนถึงการจัดให้มีโปรแกรมการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ (Compliance programme) ซึ่งเรามักจะพบสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติในการจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ดังต่อไปนี้
1. การขาดผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรง คำถามที่พบบ่อยครั้ง คือ องค์กรควรเชิญฝ่ายงานใดของตนมาร่วมรับฟัง หรือหารือถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่มีแต่งตั้งและมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบโดยตรง และมักให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือฝ่ายกฎหมายเป็นตัวแทนขององค์กรในการรับฟังและร่วมหารือแทน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ฝ่ายงานดังกล่าวเหล่านี้ มักจะทราบเฉพาะข้อมูลในส่วนการดำเนินงานของหน่วยงานของตนเท่านั้น แต่ไม่ได้ทราบถึงความเสี่ยงที่สำคัญ (Salient risks) และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร นอกจากนี้ องค์กรหลายแห่งยังขาดการจัดให้มีโปรแกรมการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance) ตลอดจนการตรวจสอบภายใน (Internal audit) ที่เหมาะสม
2. ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน องค์กรชั้นนำทั้งที่เป็นสัญชาติไทย หรือองค์กรข้ามชาติหลายแห่งยังมีความเข้าใจว่า องค์กรของตนไม่มีความเสี่ยง หรือภาระผูกพันใด ๆ เนื่องจากได้ให้ตัวแทนบริษัทเป็นผู้จัดหาแรงงาน ตรงข้ามกับข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งผู้ว่าจ้างและตัวแทนต่างมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ และภาระผูกพันร่วมกัน (Responsibility and liability sharing) ซึ่งบ่อยครั้งองค์กรเหล่านี้ไม่ทราบถึงข้อกำหนด และเงื่อนไขของประเทศที่ตนเองต้องดำเนินธุรกิจด้วยไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนประเทศสหรัฐอเมริกา (US Customs and Border Protection: CBP) หรือกฎหมาย Modern Slavery Act ของประเทศสหราชอาณาจักร และ The German Supply Chain Due Diligence Act หรือ LkSG ของประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ ในบางองค์กรเราพบว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีมุมมองว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หรือสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ
3. นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนขาดประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง องค์กรบางแห่งมีการตั้งนโยบายให้เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นพื้นฐาน (Minimum requirements) แต่จากประสบการณ์ในการทำงานกับลูกค้าผ่านการตั้งข้อสังเกต และสอบถามผู้ปฏิบัติงานโดยตรง เราพบว่า นโยบายบางอย่างยังขาดประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น ผู้ปฏิบัติงานไม่ทราบถึงนโยบายอย่างละเอียด ไม่เข้าใจเนื้อหา มีอุปสรรคด้านภาษา หรือไม่สามารถติดต่อผ่านช่องทางร้องทุกข์ (Grievance channels) ที่ได้ให้ไว้ เนื่องจากปฏิบัติงานในพื้นที่อับสัญญาณ หรือไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ รวมไปจนถึงการไม่ไว้วางใจ หรือการขาดความเชื่อมั่นกรณีมีการร้องเรียนไปยังตัวแทนของบริษัทซึ่งเป็นบุคลากรภายในองค์กร และการให้เปิดเผยตัวตนของผู้ร้องเรียน เป็นต้น
4. ไม่มีการประเมินความเสี่ยง องค์กรหลายแห่งยังไม่มีการประเมิน หรือนำความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความเสี่ยงหลักภายในองค์กร (Enterprise risk management) ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายองค์กรด้วยเช่นกันที่ไม่มีมาตรการเพื่อแก้ไข ปรับปรุง และเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมา ผมขอเสนอหกแนวปฏิบัติเพื่อให้ผู้บริหารได้นำไปจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินกิจการด้วยความมั่นคงและยั่งยืน ดังต่อไปนี้
1. แต่งตั้งผู้รับผิดชอบหลักด้านสิทธิมนุษยชนภายในองค์กร ซึ่งอาจมีการจัดตั้งตัวแทน และ/หรือคณะทำงานที่มาจากผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนของหลากหลายฝ่ายงาน เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายจัดการความเสี่ยง และฝ่ายกำกับดูแลและปฏิบัติตาม
2. จัดทำ หรือปรับปรุงสอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมีแผนการสื่อสารนโยบายเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
3. ประเมิน และวิเคราะห์สถานะของลูกค้า ผู้ขาย ผู้ให้บริการ และพนักงาน เนื่องจากประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมักครอบคลุมทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ
4. สร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านกฎหมาย เงื่อนไข รวมถึงศึกษามาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เช่น หลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) หรือ ‘หลักการ UNGP’ นอกจากนี้ ยังมีหลักจรรยาบรรณแห่งพันธมิตรธุรกิจผู้มีความรับผิดชอบ (Responsible Business Alliance: RBA) และข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ตลอดจนข้อกำหนดในการดำเนินธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ เป็นต้น
5. พิจารณาถึงความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน และผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงหลักขององค์กร
6. จัดให้มีโปรแกรมการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ตลอดจนการตรวจสอบภายในที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจดำเนินการเองเป็นการภายใน (Insource) หรือจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก (Outsource) พร้อมรายงานผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินต้องจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
สำหรับธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ควรตระหนักถึงการจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้น เพราะมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นตัวกลาง และตัวแทนระหว่างนายจ้างและแรงงานข้ามชาติในการให้บริการทางการเงิน โดยปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่ยังคงมองว่า นายจ้าง และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ต้องมีการวิเคราะห์ความสามารถทางการเงิน และสถานะของบริษัทและแรงงานข้ามชาติ
อย่างไรก็ดี หากธนาคารไม่ตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมระหว่างลูกค้าทั่วไป และแรงงานข้ามชาติ หรือละเลยสัญญาณบ่งชี้ต่าง ๆ ก็อาจทำให้ธนาคารต้องเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความเสี่ยงเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน หรือการละเมิดแรงงาน ซึ่งอาจเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากธุรกิจไทยยังคงเพิกเฉย หรือไม่วางแผนจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนให้รอบด้าน ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่องค์กรและผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติเช่นกัน