ไทย-จีน ตลาดหุ้นป่วยแห่งเอเชีย
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ไทย-จีน ตลาดหุ้นป่วยแห่งเอเชีย
หลังจากที่เปลี่ยนแนวทางการลงทุนในตลาดหุ้นจากที่เน้นเฉพาะในตลาดไทยไปเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น “ทั่วโลก” และจากการลงทุนเลือกหุ้นเป็นรายตัวเป็นหลัก เป็นการลงทุนผสมผสานระหว่างรายตัวกับการลงทุนใน “กองทุน” ของประเทศหรือกองทุนของกลุ่มบริษัทที่น่าสนใจตามอุตสาหกรรมหรือตามเทคโนโลยีที่เป็นหุ้นแห่งอนาคต เป็นต้น ผมก็เริ่มศึกษาว่าประเทศหรือเศรษฐกิจไหนที่น่าสนใจในเอเชีย
เริ่มจากการมองดูผลการดำเนินงานของดัชนีตลาดหุ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากทางตะวันตกคืออินเดียและเคลื่อนไปทางตะวันออกสุดที่ญี่ปุ่น ดูเฉพาะประเทศหลัก ๆ ที่มีตลาดหุ้นที่ใช้การได้เช่นเดียวกับระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมานานพอ
สิบปีที่ตลาดหุ้นอินเดียนั้น ดูแบบหยาบ ๆ ก็คือ เป็นยุคทองของตลาดหุ้น ซึ่งเหตุผลก็คงเป็นว่าเศรษฐกิจอินเดียกำลังดีขึ้นทุกด้าน เช่นเดียวกับสังคมและการเมืองทั้งในและต่างประเทศที่กำลังดู “สูงส่ง” ขึ้นทุกวัน อินเดียกำลังกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในเวลาไม่กี่ปี นอกจากนั้น อินเดียเป็นมิตรกับทุกประเทศและทุกคนเกรงใจ อยากเป็นเพื่อนด้วยทั้งจีนและอเมริกา
และนั่นคงเป็นเหตุให้ 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นอินเดียเติบโตขึ้น 240% หรือให้ผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ 13% ซึ่งถ้ารวมปันผลก็อาจจะประมาณ 16% ต่อปี โดยที่ดัชนีปรับตัวขึ้นอย่างสม่ำเสมอและมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนน้อยมาก อย่างไรก็ตาม คนที่จะไปลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วน่าจะน้อยมาก เพราะในเวลานั้น ตลาดหุ้นอินเดียยังแทบจะเป็นตลาดที่ “ลงทุนไม่ได้” สำหรับคนจำนวนมากรวมทั้งผมที่คิดว่า อินเดียยัง “ยากจนเกินไป”
จากอินเดียผมขอมาที่มาเลเซียก่อน นี่เป็นประเทศที่เคยบริหารงานได้ดีมากและเคยเป็น “ดารา” ในด้านของเศรษฐกิจและ “แซง” ประเทศ Emerging หรือ “กำลังพัฒนา” แทบทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจมาเลเซียก็ดูไม่ดีนัก ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือระบบการบริหารและการปกครองก็ดูเหมือนจะด้อยและถดถอยลง มีการคอร์รับชั่น ขนาดที่อดีตนายกถูกจับติดคุก นักการเมืองที่ได้รับความนับถือยกย่องบางคนก็ถูกทำลายโจมตีและต้องติดคุกด้วยข้อหาทางสังคมที่โลกตะวันตกไม่ยอมรับ ภาพของมาเลเซียเปลี่ยนไปมาก
ดัชนีตลาดหุ้นมาเลเซียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ไปไหนและลดลงถึง 16% กลายเป็น “ทศวรรษที่หายไป” ของตลาดหุ้น นอกจากนั้น ค่าที่มาเลเซียมีประชากรค่อนข้างน้อย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะสนับสนุนให้มีบริษัทขนาดใหญ่ ๆ มาก ก็ทำให้ตลาดหุ้นมาเลเซียขาดความน่าสนใจจากนักลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น โอกาสที่ผมจะไปลงทุนที่มาเลเซียนั้นคงยังห่างไกล
สิงคโปร์นั้น ถ้ามองทางด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ก็ต้องถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นศูนย์กลางทางด้านการขนส่งทางทะเลของโลกที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนั้น สิงคโปร์มีความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างสูง รายได้ต่อหัวสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่โดดเด่นขึ้นทุกวันและแซงฮ่องกงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่มีประชากรน้อยมากก็ทำให้ขาดบริษัทขนาดใหญ่ยกเว้นสถาบันการเงินที่จะเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหุ้น และนั่นก็ทำให้ตลาดหุ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ไปไหน คือบวกแค่ 4% หรือพูดง่าย ๆ คนที่ลงทุนในสิงคโปร์ในช่วง 10 ปีนั้นอาจจะได้แค่ปันผล แม้ว่าภาพโดยรวมของเศรษฐกิจสิงคโปร์และการบริหารประเทศนั้น “ยอดเยี่ยม” ที่สุด
ฟิลิปปินส์นั้น เคยเป็นดาราแห่งเอเชียในช่วงที่ผมยังเป็นเด็ก อานิสงส์จากการเป็นประเทศในอานัติของอเมริกา อย่างไรก็ตาม ระบบเผด็จการมาร์คอสที่ครองประเทศมานานมากและไม่ได้พัฒนาประเทศเท่าที่ควร ทำให้ฟิลิปปินส์ในช่วงยาวนานน่าจะเป็นสิบ ๆ ปี กลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” และถูกประเทศไทยแซงแบบ “ไม่เห็นฝุ่น” อย่างไรก็ตาม หลังจากระบบมาร์คอสล่มสลาย และโลกาภิวัตน์เดินหน้าไปเต็มที่ ฟิลิปปินส์ก็กลับมาพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีขึ้นมาก แต่นั่นก็ยังไม่สามารถส่งผลมาถึงตลาดหุ้นได้มากนัก ดัชนีตลาดหุ้นฟิลิปปินส์เติบโตขึ้นเพียง 8% ในระยะเวลา 10 ปี หรือให้ผลตอบแทนเพียง 0.8% ต่อปีแบบทบต้น
อินโดนีเซียนั้นในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็ต้องถือว่าเป็นดารา เหตุผลก็เพราะว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากระดับต้น ๆ ของโลก เป็นรองก็เฉพาะอินเดีย จีนและอเมริกา แต่ในขณะเดียวกันประชากรก็ยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วเนื่องจากเป็นประเทศมุสลิม ทำให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้น ทั้งจากการบริโภคภายในประเทศและจากกำลังแรงงานที่จะมาแทนที่จีนที่มีปัญหาทางการค้ากับโลกตะวันตก ซึ่งทำให้ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก และแนวโน้มก็จะยังเพิ่มขึ้นต่อไป
ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้น 59% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นที่ 4.8% ต่อปี ถ้ารวมปันผลก็อาจจะอยู่ที่เกือบ 8% นับเป็นผลตอบแทนที่ใช้ได้ โดยเฉพาะถ้านับแค่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่บทบาทของอินโดนีเซียเริ่มเห็นชัดขึ้นอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างอเมริกายุคประธานาธิบดีทรัมพ์จนถึงปัจจุบัน ดัชนีหุ้นอินโดนีเซียก็ปรับตัวขึ้นถึง 74% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ 14.9% พูดง่าย ๆ อินโดนีเซียอาจจะกำลังเข้าสู่ “ยุคทอง” ของตลาดหุ้นได้
กลับมาที่เวียดนามที่ชัดเจนว่าเป็น “ซูเปอร์สตาร์” อยู่แล้วในแง่ที่ว่าจะเป็นโรงงานของโลกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นประมาณ 111% หรือให้ผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 7.8% และถ้ารวมปันผลก็น่าจะประมาณเกือบ 11% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าโดดเด่นมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน
ที่ตามมาติด ๆ ก็คือไต้หวันซึ่งก็เคยเป็นซูเปอร์สตาร์ในช่วงที่กำลังพัฒนาเมื่อ 50-60 ปีก่อน และก็สามารถยกระดับขึ้นมากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยี และนั่นทำให้ไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 24 ล้านคน สามารถสร้างเศรษฐกิจและบริษัทที่มีขนาดใหญ่ “ระดับโลก” ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น เทียบกับมาเลเซียที่มีประชากร 34 ล้านคน และนั่นทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไต้หวันในรอบ 10 ปีปรับตัวขึ้นพอ ๆ กับเวียดนามที่ 115%
ดัชนีหุ้นจีนที่เซี่ยงไฮ้ในรอบ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 40% หรือ 3.4% ต่อปี แบบทบต้น เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเสิ่นเจิ้นที่เป็นหุ้นไฮเทคที่ปรับขึ้น 43% หรือ 3.6% ต่อปี นั่นสะท้อนภาพของจีนที่น่าจะกำลัง “อิ่มตัว” ทางเศรษฐกิจ อานิสงส์อาจจะมาจากประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและคนทำงานก็กำลังลดลงซึ่งทำให้เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลงมากอย่างรวดเร็วหลังจากนี้
แต่อีกประเด็นหนึ่งอาจจะมาจากนโยบายของสีจิ้นผิงที่ขึ้นสู่อำนาจเมื่อ 11 ปีก่อนที่ พยายามนำจีนกลับไปสู่ “สังคมนิยม” ที่เคยทำให้จีนยากแค้นมากในยุคเหมาเจ๋อต๋ง ซึ่งทำให้ธุรกิจโดยเฉพาะขนาดใหญ่และเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล “ปั่นป่วน” ทำรายได้และกำไรถดถอยลง ซึ่งนั่นก็นำมาสู่ปัญหาของตลาดหุ้นฮ่องกงด้วยที่ “เจ็บปางตาย”
ดัชนีฮั่งเส็งในรอบ 10 ปีที่ผ่านลดลงถึง 28% เลวร้ายที่สุดในเอเชีย เศรษฐกิจยากลำบาก การเมืองมีการประท้วงโดยคนรุ่นใหม่อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ระบบ “เสรี” ในฮ่องกงถูกลดทอนลงอย่างต่อเนื่อง สถานะของฮ่องกงในฐานะของศูนย์กลางทางการค้าและการเงินของจีนตกต่ำลงอย่างมาก ดังนั้น นักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นฮ่องกงก็ทยอยถอนการลงทุนไปเรื่อย ๆ
ตลาดหุ้นไทยในรอบ 10 ปี ดัชนีเพิ่มขึ้นเพียง 6% หรือเท่ากับ 0.6% ต่อปีแบบทบต้น และอยู่ในกลุ่มที่ “แย่ที่สุด” ของเอเชีย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจของไทยเป็น “ดารา” เป็น “ศูนย์กลางของอาเซียน” แต่เมื่อ 10 ปีก่อน ประเทศไทยที่ค่อนข้างก้าวหน้าทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านก็เกิด “รัฐประหาร” อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” ในยามที่ประเทศที่เจริญพอสมควรทั้งโลกเลิกทำ “รัฐประหาร” กันแล้ว ผลก็คือ ประเทศถดถอยลงทุกด้านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ตลาดหุ้นเกาหลีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโตขึ้น 34% หรือปีละ 3% แบบทบต้นรวมปันผลอาจจะเป็น 5-6% ก็ต้องถือว่าสมเหตุผลและ “อิ่มตัว” ว่าที่จริงเกาหลีไม่ได้มีอะไรใหม่หรือโดดเด่นยกเว้นเรื่องของธุรกิจบันเทิง ส่วนญี่ปุ่นที่อิ่มตัวมา 2 ทศวรรษก่อนหน้านั้น ดูเหมือนว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอานิสงส์จากการปฏิรูปของนายกชินโสะอาเบะ ดัชนีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโตขึ้นถึง 170% หรือปีละ 10.4% แบบทบต้นไม่รวมปันผล
ข้อสรุปสำคัญของข้อมูลทั้งหมดนี้สำหรับผมก็คือ ตลาดหุ้นไทยและจีนส่วนที่เป็นฮ่องกงดูเหมือนว่าจะมีปัญหาระยะยาวที่ยังแก้ไม่ตกคล้าย ๆ กับคนป่วย โดยเหตุมาจากการที่คนแก่ตัวลงและมีปัญหาในเรื่องของการเมืองที่ขัดขวาง “การปฏิรูป” ที่จะเปลี่ยนให้เกิดการพัฒนาและหลุดพ้นจากสถานะ “อิ่มตัว” ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นไม่ไปไหนเพราะนักลงทุนต่างประเทศถอนทุนออกตลอดเวลา