Anchoring Effect กับการประเมินราคาหุ้น
ศาสตราจารย์ ดร. นภดล ร่มโพธิ์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เวลาเราเล่นหุ้นเคยเจอสถานการณ์นี้ไหมครับ ราคาหุ้นมันเคยวิ่งอยู่แถว ๆ 10 บาทแล้วอยู่ดี ๆ วันหนึ่งมันกระโดดมันขึ้นไปไม่หยุด กลายเป็น 20 บาทต่อหุ้นซะอย่างนั้น
พอเห็นราคาหุ้นแบบนี้หลายคนที่เคยติดตามหุ้นนี้อาจมีความรู้สึกว่า “หุ้นนี้แพงเกินไป” แล้วถ้าถามว่า ทำไมถึงว่าแพงเกินไป คำตอบก็อาจจะเป็นว่า “ก็มันเคยมีราคาอยู่ที่ 10 บาท ตอนนี้มันตั้ง 20 บาทแล้วจะบอกว่าไม่แพง ได้ยังไง”
แต่แปลกนะครับว่า ถ้าไปถามคนที่เพิ่งเข้ามาศึกษาหุ้นนี้ เขาอาจจะบอกตรงกันข้ามเลยว่า ไม่เห็นแพงเลย อนาคตน่าจะดี ราคานี้มันน่าจะถูกซะด้วยซ้ำ
ทำไมคน 2 คนนี้ถึงได้มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เราลองมาวิเคราะห์กันดูครับ การที่คนแรก “รู้สึก” ว่าหุ้นมันแพง เป็นเพราะว่าเขา “เคย” เห็นราคาหุ้นที่มันต่ำกว่านี้มาก่อน กลับเป็นว่า หุ้นจะแพงหรือไม่แพง มันขึ้นอยู่กับว่าเราเคยเห็นหุ้นนี้ซื้อขายกันมาที่ราคาที่เท่าไร แต่คนที่สอง ที่เพิ่งเข้ามาศึกษา เขาอาจจะยังไม่เคยเห็นราคาหุ้นที่ต่ำมาก่อน เขาศึกษามองถึงอนาคต เขาเลยคิดว่า มันก็น่าจะใช่
แล้วจริง ๆ ควรคิดอย่างไร ผมขออนุญาตยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นนะครับ สมมุติว่าตอนนี้ร้านหนึ่งขาย IPhone รุ่นใหม่ล่าสุดที่ไม่ใช่ของปลอมนะครับ ในราคาเพียง 100 บาท ซึ่งคนส่วนใหญ่คงต้องบอกว่าราคาถูกเพราะ IPhone ควรมีมูลค่าเป็นหลักหลายหมื่น แล้วถ้าต่อมาร้านนี้ ขึ้นราคา IPhone จาก 100 เป็น 200 บาท แสดงว่า IPhone นี้ ราคาแพงหรือเปล่าครับเพราะราคาขึ้นมาตั้งเท่านึง ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงไม่เห็นด้วย
แปลกไหมครับ ถ้าเป็นตัวอย่างนี้ผมว่าคนส่วนใหญ่เห็นตรงกัน แต่กลับเรื่องหุ้น บางทีเราไปเห็นอีกแบบหนึ่ง จริง ๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราคิดแบบนั้น มีชื่อเรียกว่า Anchoring Effect ครับ Anchor นั้นตามรากศัพท์แปลว่าสมอเรือ ที่ยึดติดเรือไม่ให้ลอยไปไหน แต่ในที่นี้ Anchoring คือการที่เราไปให้ความสำคัญกับข้อมูลแรกที่เราได้รับมากจนเกินไป
อย่างราคาหุ้นที่ผมยกตัวอย่าง คือ แทนที่เราจะประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและประมาณการอนาคตของบริษัท เรากลับเอาราคาเดิมมาเป็นหลักในการประเมินว่าหุ้นถูกหรือแพง
Amos Tversky และ Daniel Kahneman ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความลำเอียงในการตัดสินใจ ได้เคยทำการทดลอง โดยให้ลองคำนวณค่าผลคูณ ภายใน 5 วินาที ดังต่อไปนี้
-
1 x 2 x 3 x 4 x 5 x 6 x 7 x 8
-
8 x 7 x 6 x 5 x 4 x 3 x 2 x 1
ซึ่งเราเห็นชัดเจนว่า ทั้งข้อที่ 1 หรือ 2 ควรจะได้คำตอบที่เท่ากัน แต่เนื่องจากผู้เข้าร่วมการทดลองมีเวลาแค่ 5 วินาที เขาจึงต้องใช้การประมาณการ และผลที่ได้รับออกมาว่า ค่าประมาณการของผลคูณในข้อที่ 1 นั้น มีค่ามัธยฐาน (Median) เท่ากับ 512 ในขณะที่ค่าประมาณการของผลคูณในข้อที่ 2 นั้น มีค่ามัธยฐาน (Median) สูงถึง 2,250
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเนื่องจากเวลาที่ให้มีเพียง 5 วินาทีผู้ร่วมการทดลองมีเวลาในการคำนวณได้เฉพาะผลคูณ 3-4 ตัวแรกเท่านั้น
ดังนั้นในข้อที่ 1 การประมาณการจะทำขึ้นหลังจาก การคำนวณผลคูณ 3-4 ตัวแรกเสร็จสิ้น เช่น 1 x 2 = 2 แล้ว 2 x 3 = 6 แล้ว 6 x 4 = 24 แล้วก็หมดเวลา เราจึงต้องเริ่มประมาณการจากเลข 24
ซึ่งไม่เหมือนกรณีที่ 2 ที่เราเริ่มจาก 8 x 7 = 56 แล้ว 56 x 6 = 336 แล้วก็หมดเวลา เราจะเห็นว่ากรณีที่ 2 นี้ เราจะเริ่มประมาณการจากเลข 336 (หรือเลขหลักร้อย เพราะหลายคนคงไม่ได้คูณออกมาจริง ๆ ) ผลลัพธ์จึงเป็นอย่างที่เห็นครับ
ดังนั้นเวลาเราจะดูราคาหุ้นว่ามันถูกหรือแพง มันควรจะดูเทียบกับผลประกอบการของบริษัทในขณะนั้นและในอนาคต (ที่เกิดจากการประมาณการ ภายใต้ข้อมูลที่เรามี) ไม่ใช่ดูจากราคาในอดีตแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ หุ้นที่เคยขายกันสูง ๆ ตอนนี้ราคาต่ำลงมากก็ไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นที่ถูก ที่น่าซื้อ ในขณะเดียวกันหุ้นที่เคยขายกันราคาต่ำ ๆ แต่ตอนนี้ราคาสูงขึ้นไปมาก ก็อาจจะไม่ได้เป็นหุ้นที่แพงเสมอไป
ระวังกันดี ๆ ครับ