efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน บล็อกเชน (Blockchain) เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเรา โดย คุณวรพจน์ ธาราศิริสกุล

โดย
คุณวรพจน์ ธาราศิริสกุล

:CTO บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด
.

บล็อกเชน (Blockchain) เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเรา

 

สวัสดีปีใหม่ 2020 ครับ ในปี 2019 ที่ผ่านมาเชื่อว่าพวกเราจะเคยได้ยินหลายคนพูดกันมากมายเกี่ยวกับการที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไป หรือที่เรียกว่า Technology Disruption และเทคโนโลยีบล็อกเชน ก็เป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่คนพูดถึงกันมากมายว่า คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโลกของเราได้

 

แต่หลายๆ คนก็ยังสงสัยและยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร จะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรายังไง ปีใหม่นี้เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังครับ
 

“บล็อกเชน” คือเทคโนโลยีเบื้องหลังของบิตคอยน์ (Bitcoin) เงินดิจิทัลที่โด่งดังนั่นเองครับ

“บิตคอยน์” คือเงินสกุลดิจิทัลเหรียญแรกของโลกที่ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหรือธนาคารกลางของประเทศใดประเทศหนึ่ง จุดสำคัญของบิตคอยน์ คือ คนเชื่อว่ามันจะไม่หายไป สามารถส่งต่อกันได้ และไม่มีใครที่จะมาแก้ไขตัวเลขในกระเป๋าดิจิทัลได้ จึงทำให้เกิดมูลค่าได้จริงตามอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งบล็อกเชนคือเทคโนโลยีที่ทำให้ความน่าเชื่อถือนี้เกิดขึ้นได้

 

Introduction to Blockchain

 

บล็อกเชน ถ้าแปลแบบตรงๆ บล็อก (Block) คือ การเก็บข้อมูลแบบนึงที่เก็บเป็นส่วนๆ และนำมาร้อยต่อกันเรื่อยๆ เหมือนโซ่คล้องกัน (Chain) โดยมีวิธีเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์เพื่อความปลอดภัย ที่ทำให้รู้ว่าข้อมูลถูกเก็บ ณ เวลาใด มีการแก้ไขหรือเปล่า โดยข้อมูลทั้งหมดจะส่งและกระจายเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่ในเครือข่าย

 

ดังนั้น ข้อมูลที่ถูกเขียนลงไปแล้ว จึงมีความน่าเชือถือเพราะทุกคนในเครือข่ายจะเห็นการเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กัน ถ้าใครอยากจะแก้ไขก็มีทางเดียวคือต้องไปแก้ในเครื่องของทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายนั้นๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ยากมากเมื่อเครือข่ายนั้นๆ ใหญ่พอ
 

ดังนั้น เมื่อเรานำเอาบล็อกเชนมาใช้ในเงินดิจิทัล โดยเก็บข้อมูลจำนวนเงินที่ทุกคนมี จำนวนการโอนทุกครั้งของทุกๆ คน เข้าไปในบล็อกแต่ละบล็อกต่อกันไปเรื่อยๆ และกระจายไปให้ทุกคนรับรู้ ก็ทำให้เงินดิจิทัลนั้นมีความโปร่งใส ปลอดภัยจากการแก้ไขโดยคนใดคนหนึ่ง และที่สำคัญเมื่อเรากระจายไปให้ทุกคนแล้ว จึงลดความเสี่ยงว่าระบบจะล่มพร้อมกันทั้งหมดทำให้ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้หายไปได้ด้วย

 

บิตคอยน์ ที่มีเครือข่ายทั่วโลกจากการให้ผลตอบแทนแก่คนที่เข้ามาช่วยกันในเครือข่าย จึงเป็นเงินดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถส่งเงินดิจิทัลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้กับใครก็ได้ในเครือข่ายในระยะเวลาอันสั้น เพียงแค่เก็บข้อมูลการโอนนั้นๆ ลงในบล็อก โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีคนกลางอีกต่อไป

 

ที่สำคัญมีค่าธรรมเนียมการโอนหรือส่งเงินต่ำมากเมื่อเทียบกับการส่งเงินจริงในปัจจุบัน จากคุณสมบัติเหล่านี้นี่เองทำให้บิตคอยน์ประสบความสำเร็จในการทำให้คนทั่วโลกยอมรับ

 

หลังจากบิตคอยน์เกิดขึ้นพร้อมกับเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถแก้โจทย์หลายๆ ข้อที่ไม่เคยทำได้ทางเทคโนโลยีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยของข้อมูลที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ความโปร่งใสของข้อมูลที่ทุกฝ่ายสามารถเห็นข้อมูลเดียวกันได้ การเพิ่มประสิทธิภาพในการลดคนกลาง ปัจจุบันบล็อกเชนจึงได้ถูกนำมาใช้ในหลายๆ รูปแบบ ในหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เงินดิจิทัลเพียงอย่างเดียว

 

บล็อกเชน ถูกใช้ในหลายอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่วงการเงินดิจิทัล

 

ธุรกิจการเงิน - ซึ่งเป็นธุรกิจแรกๆ ที่บล็อคเชนถูกพัฒนาขึ้นมาใช้ ตัวอย่างชัดๆ ก็คือ โครงการอินทนนท์ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะใช้บล็อกเชนมาแทนเครือข่ายบาทเน็ตที่ใช้ระหว่างธนาคาร หรือโครงการ JFIN ของทางเจมาร์ท (JMART) นำบล็อกเชนมาจัดการเรื่อง ข้อมูลลูกค้าและ Credit Score บนระบบกู้ยืมทางออนไลน์ เป็นโอกาสใหม่ของคนไทยส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันยังไม่มีทางเลือกมากนักในการรับบริการทางการเงิน ต้องไปกู้เงินนอกระบบ หรือไปจนถึงการใช้ Token ในการระดมทุนต่างๆ ทั้ง ICO IEO หรือ STO ที่ได้เคยกล่าวมาในบทความก่อนหน้า

บทความที่เกี่ยวข้อง : เปรียบเทียบ ICO / STO / IEO กันแบบชัดชัด!

 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ - ในหลายๆ ประเทศ เช่น มอลต้า อังกฤษ UAE มีการนำบล็อกเชนมาเก็บข้อมูลแทนโฉนด (Land Registry) หรือการนำบล็อกเชนมาช่วยในการแบ่งการเป็นเจ้าของ (Asset Tokenization)
 

ธุรกิจโรงพยาบาล - โครงการ Medrec ของทาง MIT หรือ SimplyVital นำบล็อกเชนมาเก็บข้อมูลการรักษาของคนไข้ เพิ่มความโปร่งใส และความปลอดภัย ซึ่งในเมืองไทยก็จะมีโครงการ Block M.D. ของบริษัท Smart Contract Thailand ที่ทำเรื่องนี้ หรือ FarmaTrust การนำบล็อกเชนมาช่วยตรวจสอบที่มาของยาแต่ละชนิด ป้องกันการปลอมแปลง

 

ธุรกิจค้าปลีก - Wallmart ได้มีโครงการนำข้อมูลอาหารที่ขายมาเก็บเพื่อดูสายการผลิตจากโรงงานมาถึงชั้นวางของ หรือ Singapore Airline ก็ได้นำบล็อกเชนมาใช้บน loyalty point KrisFlyer เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสามารถแลกเปลี่ยนกันได้

 

ธุรกิจพลังงาน - Power Ledger ธุรกิจ Startup จากออสเตรเลีย ก็ได้ขยายมาที่เมืองไทยเพื่อพัฒนาการซื้อขายพลังงานแบบ Peer to peer โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ WePower บริษัทจาก Estonia ก็ทำเรื่องคล้ายๆ กันแต่เน้นไปทางพลังงานทดแทนเป็นหลัก

 

ธุรกิจการศึกษา - MIT Media Lab และประเทศมอลต้า ได้มีการออกปริญญาบัตร Certificate และก็ Transcript บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเรียบร้อยแล้ว
 

นอกจากนี้ ยังมีการใช้บล็อกเชนในอีกหลายเรื่อง เช่น การจดสิทธิบัตร การทำ eVoting การตรวจสอบ การทำดิจิทัลไอดีแทนบัตรประชาชน ซึ่งการใช้งานเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เพียงบางส่วน สำหรับการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เพื่อนๆ เห็นภาพว่า บล็อกเชนได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะค่อยๆ เข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ แบบที่เราไม่รู้ตัว

บทความต่อไป ผมจะสรุปแนวโน้มสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซีในปี2020 นะครับ
 

สวัสดีปีใหม่ 2020 ครับ.







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh