Crowd Funding ทางเลือกการระดมทุนยุคอินเทอร์เน็ต
โดย วรพจน์ ธาราศิริสกุล CTO บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด
จากสถานการณ์ Covid ที่ถึงแม้จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่หลายธุรกิจและกิจการ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) หรือกิจการที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น (startup) ก็ต่างประสบปัญหาสภาพคล่อง และต่างก็มีปัญหาในการระดมทุนเสมอ เพราะการจะกู้เงินทุนจากธนาคาร ธนาคารก็อาจจะปฏิเสธ เนื่องจากกิจการยังไม่มีรายได้ที่แน่นอน สินทรัพย์ที่จะมาใช้เป็นหลักประกันก็อาจจะน้อย วันนี้จึงอยากจะขออนุญาตมาเล่าถึงทางเลือกในการระดมทุนอีกหนึ่งรูปแบบ ที่ได้เริ่มเกิดขึ้นในเมืองไทย เป็นการระดมทุนที่เรียกว่า คราวด์ฟันดิง (Crowd Funding) กันครับ
“คราวด์ฟันดิง” ถ้าแปลตรงๆ ตัวก็คือการระดมทุนจากบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติ เพื่อนและกระจายต่อไป เป็นการยืมเงินจากหลายๆ คนในจำนวนเงินที่ไม่มากนักมารวมๆ กันเป็นเงินทุนก้อนใหญ่ เพื่อให้สามารถสนับสนุนกิจกรรม โครงการหรือธุรกิจต่างๆ ได้ โดยจะให้ผลตอบแทนหรือไม่ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งการระดมทุนแบบนี้ทำได้ไม่ยากเหมาะสำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ จึงเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ
การระดมทุนคราวด์ฟันดิง ส่วนใหญ่จะทำผ่านคนกลางผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง โดยผู้ที่ต้องการระดมทุนจะต้องนำเสนอโครงการหรือธุรกิจของตน ผ่าน Platform ของผู้ให้บริการ ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดนั้นๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีของระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจ สามารถมาลงทุนโดยการโอนเงินได้ผ่าน Platform นั้นได้ทันที ซึ่งโดยทั่วไปคราวด์ฟันดิง มี 4 แบบ คือ
1.Donation-based
การระดมทุนในรูปแบบของการบริจาคเงิน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นองค์กรการกุศล มูลนิธิต่าง ๆ ที่มีโครงการที่ต้องการทำให้สำเร็จในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้ เป็นการระดมทุนแบบให้เปล่า ไม่มีสิ่งตอบแทนให้กับนักลงทุน ตัวอย่างที่ชัดเจนของการระดมทุนประเภทนี้ คือ โครงการ “ตลาดใจ” ของพี่โน้ต อุดม หรือ โครงการ “ก้าว” ของพี่ตูน เพื่อนำเงินไปมอบให้โรงพยาบาล เป็นต้น ปัจจุบันในเมืองไทยก็มี Platform แบบ Donation Based เช่นกัน ที่เป็นที่รู้จักก็คือ เทใจดอทคอม (taejai.com) ซึ่งถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 มียอดบริจาคทั้งหมด 142,827,086 บาท จำนวนผู้บริจาคทั้งหมด 72,472 คน และโครงการที่ระดมทุนสำเร็จกว่า 355 โครงการแล้ว ถือเป็น Platform แบบ Donation Based ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง Platform หนึ่ง
2.Reward-based
การระดมทุนอีกรูปแบบ ที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนในรูปของตัวเงิน แต่จะได้รับผลตอบแทนเป็นสิ่งของ หรือสิทธิพิเศษตามที่เจ้าของโครงการกำหนด การระดมทุนประเภทนี้มีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การระดมทุนผลิตสินค้า เมื่อเราให้เงินไป จะได้สินค้านั้นๆ เป็นของตอบแทน เหมือนกับเว็บไซต์ Kickstarter.com ในต่างประเทศ หรือจะเป็นการสั่งของแบบ Pre-Order ก็สามารถนับรวมเป็นการระดมทุนประเภทนี้เช่นกัน
3.Peer-to-peer lending
เป็นการระดมทุนแบบกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลกันโดยตรง โดยผู้ให้กู้กับผู้กู้มาเจอกันบน Platform กลาง โดย Platform กลางส่วนใหญ่จะเป็นผู้รวบรวมเงินทุนจากผู้ให้ยืมตามจำนวนที่ผู้กู้ต้องการส่งให้ผู้กู้ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบจ่ายเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันล่วงหน้า โดยการกู้เงินในลักษณะนี้จะมีความเสี่ยงที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ได้ แต่จุดเด่นของการกู้ยืมเงินประเภทนี้คือ เป็นการกู้ยืมเงินโดยไม่มีคนกลาง เหมือนกับที่กู้กับธนาคาร จึงสามารถให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าการลงทุนแบบอื่นๆ สำหรับผู้ให้ยืม และได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสำหรับผู้อยากกู้เงิน
การระดมทุนแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างสูงในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง Lendingclub.com ในอเมริกา สำหรับในประเทศไทย ก็ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวแล้วโดย บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด จะเป็น Peer-to-Peer Platform รายแรก ที่ได้เข้าทดสอบการให้บริการในวงจำกัด ภายใต้ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 นั่นหมายถึง คนไทยเราจะได้ลองใช้งานได้จริงกับ Peer-to-Peer Lending อย่างถูกกฎหมาย ได้เร็วๆ นี้
4.Investment-based
การระดมทุนในรูปแบบนี้จะเป็นการลงทุนที่เป็นที่นิยมที่สุด เพราะมีผลตอบแทนที่จับต้องได้มากที่สุด โดยผู้ลงทุนจะได้รับหุ้นและได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้นนั้นแทน ซึ่งจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบย่อย คือ
Equity crowdfunding การระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้น (equity-based) ที่ผู้ลงทุนได้ร่วมเป็นเจ้าของกิจการในฐานะ ผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นกำไร เป็นเงินปันผล ก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการและนโยบายของบริษัทนั้นๆ เป็นตัวกำหนด
Debt crowdfunding การระดมทุนคราวด์ฟันดิงด้วยการออกหุ้นกู้ (debt-based หรือ) ที่ผู้ลงทุนจะเป็นผู้ถือหุ้นกู้ที่ได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นสิ่งตอบแทน การระดมทุนรูปแบบนี้จะเป็นที่นิยม เพราะผู้ระดมทุน หรือ เจ้าของกิจการยังสามารถรักษาความเป็นเจ้าของได้ จ่ายเพียงผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนเป็นดอกเบี้ยเหมือนกับการกู้เงิน เพียงแต่ Debt Crowdfunding จะเป็นการยืมเงินจากผู้ลงทุนหลาย ๆ คน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลางอย่างธนาคาร ที่ต้องใช้เอกสาร และมีกฏข้อบังคับต่างๆ
“อ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีความสงสัยว่า Debt Crowdfunding มีความคล้ายคลึงกับ Peer-to-Peer Lending แต่ยังมีข้อที่แตกต่างกันคือ Debt Crowdfunding นั้นผู้ที่เสนอขายหุ้นกู้จะเป็นบริษัทหรือธุรกิจที่อาจเรียกได้ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่าแบบ Peer-to-Peer Lending ที่ผู้ปล่อยกู้นั้นเป็นระหว่างบุคคลกับบุคคล”
การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง ที่ให้หุ้นหรือหุ้นกู้เป็นสิ่งตอบแทน ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่ง จึงอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งกำกับดูแลโดย ก.ล.ต. ซึ่งในปัจจุบัน ก.ล.ต.ได้มีการกำหนดประกาศเพื่อรองรับการเสนอขายหุ้นกู้ผ่านผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แบบคราวด์ฟันดิง โดยจะทำผ่านผู้ให้บริการระบบที่เรียกว่า funding portal (FP) ภายใต้การกำกับดูแลโดย ก.ล.ต. ซึ่ง FP จะมีหน้าที่สำคัญ 4 ข้อ ก็คือ
-
การคัดกรองคุณสมบัติของบริษัทและการเปิดเผยข้อมูล
-
เปิดเผยข้อมูลการเสนอขาย
-
ให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน
-
ประเมินความหน้าเชื่อถือและระดับความเสี่ยง (ในกรณีเสนอขายหุ้นกู้)
ในปัจจุบันก็ได้มีคนที่สมัครที่จะเสนอตัวเป็น FP หลายบริษัท และก็ได้มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และโทเคนดิจิทัล มาเป็นตัวกลางในการใช้แทนหุ้นที่ผู้ลงทุนได้รับ โดยใช้ประโยชน์จากความโปร่งใสของบล็อกเชน ซึ่งสามารถช่วยให้การได้รับสิทธิ และการโอนสิทธิทำได้อย่างปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่ากระบวนการแบบเดิม ซึ่งเราจะได้เห็นและใช้ในเร็วๆ นี้
โดยสรุปแล้ว การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง เป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้กิจการขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) หรือกิจการที่เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น (startup) ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ภาคธนาคารมักมองข้าม เช่น เป็นธุรกิจที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจใหม่ๆ ไอเดียดีๆ ได้อีกมากมายในอนาคต
“แต่ในอีกมุมการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นไปในตัวเช่นกัน ซึ่งการระดมทุนแต่ละแบบก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป ผู้ลงทุนจึงควรต้องศึกษาในรายละเอียดอย่างชัดแจ้งก่อนที่จะตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิงจะเริ่มมามีบทบาทในเมืองไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน”
มาลงทุนกันครับ.