กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน “พลังงานหมุนเวียน” เทรนด์พลังงานแห่งอนาคต โดย PWC .

โดย
PWC .

:PWC
.

“พลังงานหมุนเวียน” เทรนด์พลังงานแห่งอนาคต

โดย อมรรัตน์ เพิ่มพูนวัฒนาสุข
หัวหน้าสายงานธุรกิจพลังงาน และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี
บริษัท PwC ประเทศไทย

  
แม้ไม่อยากเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง แต่ทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานที่กำลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดน้ำมันหยุดชะงัก เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม โรคระบาดนี้เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น กระแสพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้นำในธุรกิจพลังงานจะขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์แบบเดิมที่เคยใช้ในอดีตมารับมือกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไปไม่ได้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและมองหาโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ไปพร้อมกัน

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพลังงานเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตในทุกมุมโลก จากไฮโดรคาร์บอนไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน คือพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ที่เริ่มมีบาทบาทมากขึ้นทั่วโลก นอกจากนั้น เรายังเห็นพลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย รวมทั้งยังมีพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพลังงานหมุนเวียน บทความ ‘The energy future has arrived’1 ของ Strategy& ส่วนหนึ่งของ PwC บ่งชี้ว่ากระแสพลังงานหมุนเวียนมีผลกระทบต่อธุรกิจภาคพลังงานอย่างมาก รวมถึงส่งผลต่อบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Companies - NOCs) และบริษัทน้ำมันข้ามชาติ (International Oil Companies - IOC) ด้วย

เมื่อทางเลือกในพลังงานหมุนเวียนมีมากขึ้น ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้ใช้พลังงานจากแหล่งที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเอง เพื่อใช้ในบ้าน รถยนต์ หรือที่ทำงานได้อย่างราบรื่น ในขณะเดียวกัน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมก็มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมพลังงาน เห็นได้จากผู้นำธุรกิจน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของโลกหลายรายให้คำมั่นกับผู้ถือหุ้นว่าจะค่อย ๆ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจและการลงทุนของบริษัท

เทรนด์ของพลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติจำเป็นต้องรับบทผู้นำในการลดคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษต่าง ๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มปริมาณไฮโดรคาร์บอนให้มากขึ้นสำหรับการส่งออก ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทน้ำมันแห่งชาติควรเพิ่มการลงทุนในการค้าเชื้อเพลิง การจัดจำหน่าย การค้าปลีก และส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ห่วงโซ่คุณค่าของปิโตรเคมี ทั้งหมดนี้ เพื่อปกป้องรายได้ในอนาคตของบริษัทน้ำมันแห่งชาตินั่นเอง

ในระหว่างที่เส้นแบ่งระหว่างภาคพลังงานและภาคพลังงานไฟฟ้ายังไม่ชัดเจน บริษัทน้ำมันแห่งชาติควรลงทุนในด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม พร้อมผลักดันให้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่สำหรับการขนส่งด้วย ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันแห่งชาติควรหลีกเลี่ยงการเป็นพันธมิตรกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติ แต่ร่วมมือกับบริษัทผลิตไฟฟ้าและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างทักษะใหม่ให้แก่พนักงาน ซึ่งจะทำให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายและครบวงจร

นอกจากนี้ บริษัทน้ำมันข้ามชาติ ต้องเลือกระหว่างการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันและก๊าซ หรือเป็นผู้นำด้านพลังงานเนื่องจากผลประกอบการในภาคธุรกิจน้ำมันและก๊าซลดลงอย่างเห็นได้ชัด หากเลือกที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันและก๊าซ บริษัทน้ำมันข้ามชาติต้องลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการสร้างรายได้จากพลังงานไฮโดรคาร์บอน โดยบริษัทที่รักษาวินัยทางการเงินอย่างจริงจังเท่านั้นที่จะอยู่รอดในเส้นทางนี้ แต่หากบริษัทน้ำมันข้ามชาติต้องการเป็นผู้นำด้านพลังงานสามารถเพิ่มสินทรัพย์ในด้านพลังงานหมุนเวียนได้ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจผลิตพลังงานขนาดใหญ่ และมุ่งเน้นไปที่การสร้างทักษะใหม่และลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ

พลังงานหมุนเวียนกำลังก้าวเข้ามาเป็นพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมพลังงานอย่างสิ้นเชิง คำถามสำคัญสำหรับผู้นำในธุรกิจพลังงานคือ จะยอมให้การเปลี่ยนแปลงนี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตน หรือจะเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนธุรกิจของตนให้พร้อมก่อน พร้อม ๆ กับมองหาโอกาสทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์และการเติบโตกับธุรกิจในอนาคต







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh