กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน “ปฏิรูปโครงสร้างภาษี” ทางออกในการจัดการภาระหนี้ในยุคโควิด-19 โดย PWC .

โดย
PWC .

:PWC
.

“ปฏิรูปโครงสร้างภาษี” ทางออกในการจัดการภาระหนี้ในยุคโควิด-19

โดย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย
หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย
บริษัท PwC ประเทศไทย

    ในบทความเดือนที่ผ่านมา ผมนำเรื่องทิศทางเศรษฐกิจของไทยมาแลกปลี่ยนกับผู้อ่านเพื่อให้ท่านเห็นถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมต่าง ๆ และนำไปปรับใช้ในธุรกิจของท่าน สำหรับเดือนนี้ ผมได้อ่านบทความ ‘Taxing times require new era of compromise’ โดย PwC ประเทศสหราชอาณาจักร1 ที่ได้วิเคราะห์เรื่องระบบและโครงสร้างภาษีในยุคโควิด-19 ไว้อย่างน่าสนใจมาก ผมจึงขอสรุปประเด็นที่สำคัญบางส่วนมาแบ่งปันให้ทุกท่านใช้เป็นข้อมูล และจะได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวทางด้านภาษีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศกันครับ


    ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลในแต่ละประเทศต่างต้องทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อช่วยพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจของตนไปพร้อม ๆ กัน เห็นได้จากมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ 


    นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องเตรียมงบไว้ส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รองรับในวันที่เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย การที่รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ ส่งผลให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เกิดเป็นคำถามสำคัญที่ตามมาว่า ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ รัฐฯ ควรเก็บภาษีอย่างไรจึงจะเกิดความเหมาะสม ซึ่งในบทความระบุว่า ระบบการจัดเก็บภาษี จะต้องยึดหลักประนีประนอม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ

    หลักประนีประนอมที่ว่านี้ จะเป็นทางออกของการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยประกอบไปด้วยสามแนวทาง ได้แก่ การสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศและภายในประเทศ (Global vs Local) การมีโครงสร้างและระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม (A fairness agenda) และการมีระบบภาษีที่รองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล (The digital effect)     


    เริ่มกันที่ การสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์จากต่างประเทศและภายในประเทศ เราทราบดีว่า ระบบภาษีภายในประเทศ ประกอบไปด้วยกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และสนับสนุนการค้าขายระหว่างพรมแดน 

    แต่ในช่วงที่ผ่านมา การจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ยังทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงแม้จะผ่านการหารือเพื่อปรับโครงสร้างภาษีระหว่างประเทศกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะติดประเด็นปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของโครงสร้างภาษีในแต่ละประเทศ และการค้าขายข้ามพรมแดนของบริษัทอยู่ในเขตอำนาจรัฐที่ต่างกัน เป็นต้น 

    ในขณะที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี่จะเป็นโอกาสที่ดีในการกลับมาเจรจาโครงสร้างระบบภาษีระหว่างประเทศอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจและความชัดเจนในแง่ข้อกฎหมายให้กับนักลงทุนต่างชาติ

    สำหรับ การมีโครงสร้างและระบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม ถือได้ว่า มีความสำคัญในการออกแบบระบบภาษีในอนาคตไม่แพ้กัน เพราะหากผู้เสียภาษีมองว่า การจัดเก็บภาษีมีความไม่ยุติธรรม พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีในหลาย ๆ ประเทศยังคงถูกมองว่า มีความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 

    ดังนั้น ภาระหนี้ที่รัฐบาลต้องแบกรับจากวิกฤตโควิด-19 จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีอย่างมีนัยสำคัญ โดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ สามารถใช้โอกาสนี้ ในการจัดการระบบโครงสร้างภาษีใหม่ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยผ่อนคลายแรงกดดันจากสังคมและสร้างศรัทธาต่อระบบการจัดเก็บภาษีในอนาคตได้

    สุดท้าย การมีระบบจัดการภาษีที่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกกำลังหาข้อสรุปร่วมกันโดยสมาชิกในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) จำนวนกว่า 135 ประเทศทั่วโลก ได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาษีเงินได้นิติบุคคลระหว่างประเทศ แต่ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีอีกหลายประเด็นที่ต้องมีการเจรจาและทำความตกลงร่วมกัน


    จะเห็นได้ว่า ประเด็นเรื่องของภาษีนั้นมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันทั่วโลก การสร้างสมดุลระหว่างการแข่งขันและการตกลงร่วมกันทางด้านภาษีจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก นี่จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลในแต่ละประเทศจะต้องศึกษาและจัดการระบบโครงสร้างภาษีของตนอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของการเสียภาษี เพราะประเทศใดก็ตามที่ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนไม่สามารถประนีประนอมเพื่อหาจุดสมดุลของการปฏิบัติทางภาษีระหว่างกันได้ การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ก็อาจจะทำได้ช้า และนำไปสู่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต
 

ข้อมูลอ้างอิง 

1Taxing time requires a new compromise, PwC ประเทศสหราชอาณาจักร







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh