ทำความเข้าใจกับการลงทุน ผ่านสมการทางการเงิน
ดร. ณัฐวุฒิ เจนวิทยาโรจน์
ขอเขียนแนวคิดการลงทุน โดยผ่านสมการทางการเงินที่คนที่เรียนไฟแนนซ์มาน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นคือสมการ Future Value ดังนี้
FV = PV(1+r)^n
FV = Future Value หรือจำนวนเงินในอนาคต,
PV = Present Value หรือจำนวนเงินในปัจจุบัน,
r = ผลตอบแทนของเงินลงทุน,
n = จำนวนปีของการลงทุน
ลองตั้งโจทย์ดูนะครับว่า ถ้าเรามีจุดประสงค์ทางการเงินคือการออมและลงทุนเพื่อการเกษียณ (ซึ่งสามารถใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นก็ได้ครับ เช่น เพื่อค่ารักษาพยาบาลในอนาคต เพื่อค่าการศึกษาบุตรในอนาคต หรือแม้กระทั่งเก็บเงินเพื่อแต่งงาน เป็นต้น) เราสามารถใช้ประโยชน์สมการข้างต้นเพื่อบ่งบอกถึงปัจจัยที่มีผลการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง
สมมุติว่า เราต้องการมีเงินตอนที่เราเกษียณ 20 ล้านบาท ดังนั้น เงิน 20 ล้านในอนาคต ก็คือค่า FV ในสมการนั่นเอง
ดังนั้น การจะได้ FV หรือเงินในอนาคตที่เราต้องการตอนเกษียณ จึงขึ้นอยู่กับตัวแปร 3 ตัวหลักในสมการดังนี้
1. PV หรือ Present Value ซึ่งในบริบทนี้ก็คือเงินออมและนำไปลงทุนนั่นเอง ซึ่งมักจะเป็นกระแสเงินลงทุนที่เราลงไปในแต่ละเดือน ไตรมาสหรือปี ก็ได้ ดังนั้น การจะลงทุนให้ได้เงินในอนาคตที่เราต้องการตอนเกษียณ (หรือได้ FV ที่ต้องการ) จึงขึ้นกับจำนวนเงินที่ออมและนำไปลงทุน ซึ่งจะขึ้นกับรายได้และรายจ่ายของเรานั่นเอง (ออม = รายได้ - รายจ่าย) การลดรายจ่ายที่จำเป็น ย่อมส่งผลให้เงินออมและลงทุนมากขึ้น (a dollar saved is a dollar earned) และส่งผลให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จในการได้เงินไว้ใช้ตอนเกษียณที่สูงขึ้น
2. r หรือผลตอบแทนของเงินลงทุน การจะลงทุนให้ได้เงินในอนาคตที่เราต้องการตอนเกษียณ (หรือได้ FV ที่ต้องการ) จึงขึ้นกับผลตอบแทน(คาดหวัง)ของการลงทุน (ค่า r ในสมการ) ซึ่งโดยทฤษฎีแล้วผลตอบแทนคาดหวังของการลงทุนจะขึ้นกับความเสี่ยงของการลงทุนนั้นเป็นสำคัญ หรือ High Risk, High Return กล่าวคือ การลงทุนใดที่เสี่ยงก็ควรจะให้ผลตอบแทน(คาดหวัง)ที่สูงตามไป โดยมักจะเรียงสินทรัพย์เสี่ยงจากสูงไปต่ำประมาณนี้ ตราสารทางการเงินที่มีตราสารอนุพันธ์แฝงอยู่, หุ้นรายตัว, สินค้าโภคภัณฑ์, การลงทุนตามดัชนีหุ้น, หุ้นกู้เอกชน (ซึ่งขึ้นกับ credit rating เป็นสำคัญ), พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว, พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น และเงินฝาก
แต่แน่นอนว่าการจะจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) ไปในสินทรัพย์เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยง (Risk Tolerance) ของผู้ลงทุนเป็นหลัก เช่น ถ้าเรารับความเสี่ยงได้น้อย แต่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูง (เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูง) เราจะเครียดและวิตกกังวลกับความผันผวนอย่างมากของราคาสินทรัพย์เสี่ยงนั้นตลอดระยะเวลาการลงทุน เป็นต้น
3. n หรือจำนวนปีของการลงทุน การลงทุนที่ยาวนานขึ้น ด้วยปัจจัยอื่นที่เท่ากัน ย่อมสร้างโอกาสที่สูงขึ้นที่จะได้เงินในอนาคตตามที่เราต้องการตอนเกษียณ (หรือได้ FV ตามที่ต้องการ) นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราควรรีบออมรีบลงทุนแต่เนิ่นๆ แม้จะออมหรือลงทุนด้วยเงินไม่มากก็ตาม เพราะเราจะได้ประโยชน์จากระยะเวลาที่ยาวนานกว่า (เพราะเงินมันมีเวลาในการทำงานมากขึ้นนั่นเอง) ซึ่งคนหนุ่มสาวได้เปรียบคนที่อายุเยอะอย่างผม เพราะเค้ามีระยะเวลาลงทุนจนถึงเกษียณที่ยาวนานกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ใกล้เกษียณแล้ว
ดังนั้น การจะลงทุนให้ได้เงินในอนาคตที่เราต้องการตอนเกษียณดังคาด ระยะเวลาการลงทุนจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมากๆ ทีเดียว การลงทุนก่อนย่อมได้เปรียบครับ ดังคำที่ว่า “ออมก่อนก็(มีโอกาส)รวยก่อน”
ท้ายที่สุดนี้ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างที่หวังตามสมควรนะครับ
Disclaimer (คำเตือน): บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลข่าวสารและเพื่อการศึกษาเท่านั้น มิใช่การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนหรือซื้อขายแต่อย่างใด การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน