ปรับอุปสงค์ด้านพลังงานของธุรกิจในยุคเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือก
อมรรัตน์ เพิ่มพูนวัฒนาสุข
หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชี
และหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจพลังงาน
บริษัท PwC ประเทศไทย
พลวัตใหม่ที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจพลังงานเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การผลิตพลังงานแบบกระจายตัวไม่รวมศูนย์ และการเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัลได้เปลี่ยนบทบาทของธุรกิจจากที่เคยเป็น ‘ผู้ใช้พลังงาน’ ให้กลายเป็น ‘ผู้บริโภคที่สามารถผลิตพลังงานสำหรับใช้งาน เก็บ และขายต่อ’ โดยพลวัตรใหม่เหล่านี้ยังส่งผลให้ธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการใช้พลังงานทั้งในส่วนของต้นทุน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และความไม่แน่นอนด้านอุปทาน
ทั้งนี้ บทความ ‘The energy-demand opportunity: How companies can thrive in the energy transition’ ของ strategy+business ระบุว่า องค์กรทั่วโลกมีการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานสูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งหากธุรกิจสามารถจัดการกับความท้าทายทั้งสามด้านนี้ได้ ก็จะนำไปสู่การสร้างสมดุลด้านพลังงานในที่สุด โดยบทความฉบับนี้ยังได้นำเสนอสี่แนวทางในการจัดการความต้องการด้านพลังงานที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้แก่บริษัทต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้
1. ปรับอุปสงค์ด้านพลังงานให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน แน่นอนว่าเมื่อองค์กรลดการใช้พลังงาน ก็จะลดต้นทุน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัญหาต่าง ๆ ทั้งนี้ การติดตั้งอุปกรณ์และระบบดิจิทัลที่ช่วยตรวจสอบและควบคุมการใช้ไฟฟ้าในเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กภายในอาคาร และโรงงาน จะช่วยให้ธุรกิจสามารถคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานของตน เช่น อัปเกรดอุปกรณ์ไฟฟ้า และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ รวมไปถึงซ่อมแซม ปรับปรุงระบบอากาศ หรือระบบไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนขั้นพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถประหยัดการใช้พลังงานได้สูงสุดถึง 40% โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีเลย
2. แสวงหาความเป็นอิสระด้านพลังงานด้วยพลังงานหมุนเวียนและการจัดเก็บ การลดการพึ่งพาพลังงานจากโครงข่าย ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านพลังงาน เช่น ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ไฟฟ้าดับ และการหยุดชะงักของบริการ นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดเงิน เนื่องจากการซื้อกิโลวัตต์-ชั่วโมงจากโครงข่ายน้อยลงส่งผลให้ค่าบริการเครือข่ายลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ การแสวงหาความเป็นอิสระด้านพลังงานยังช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ลดการจัดเก็บและภาษีด้านสิ่งแวดล้อมได้ เช่น การจัดเก็บภาษีและภาษีที่ใช้ภายใต้กลไกการปรับขอบเขตคาร์บอน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) และระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading System: ETS) ของสหภาพยุโรป โดยศักยภาพขององค์กรในการผลิตพลังงานนอกสถานที่ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพของสถานที่เป็นส่วนใหญ่ ตลอดจนรูปแบบสภาพอากาศที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณแสงแดดและลมที่มี ศักยภาพยังขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่ที่องค์กรมีอยู่ ทั้งนี้ การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ผลิตและจัดเก็บพลังงานเอง เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม หรือการติดตั้งแบตเตอรี่ จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่นำไปสู่ความเป็นอิสระด้านพลังงาน โดยจากข้อมูลของสมาคมพลังงานหมุนเวียนโลก (RE100) พบว่า ปัจจุบันองค์กรสมาชิกเกือบ 60% ของสมาคมผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนเพื่อการบริโภคของตนเอง ส่วนใหญ่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์
3. เพิ่มปฏิสัมพันธ์ในตลาดผ่านการซื้อขายพลังงาน การตอบสนองความต้องการ และการขายผลิตภัณฑ์ องค์กรที่เข้าร่วมในตลาดผลิตภัณฑ์และบริการด้านพลังงานสามารถลดต้นทุนและสร้างรายได้ เช่น การกำหนดเวลาการซื้อและขายไฟฟ้าจะช่วยให้พวกเขาได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของราคาไฟฟ้าจากโครงข่าย นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ ยังสามารถพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น พลังงานที่ผ่านมาตรฐานการรับรองคุณลักษณะทางพลังงาน (Energy Attribute Certificate: EAC) และคาร์บอนเครดิต แต่หากต้องการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ ธุรกิจจะต้องนำความสามารถพื้นฐานมาใช้ เช่น ปรับการดำเนินการสินทรัพย์พลังงานหมุนเวียนของตนให้ได้มาตรฐาน EAC รวมถึงใช้เครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการโหลดพลังงาน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านราคา เป็นต้น
4. ปรับสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจควรทดแทนสินทรัพย์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงยานพาหนะ ด้วยการใช้พลังงาน หรือเทคโนโลยีไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยตรง ทั้งนี้ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะไฟฟ้าหมุนเวียน เป็นวิธีโดยตรงในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นอกจากนี้ การใช้พลังงานไฟฟ้าจะช่วยสร้างผลประโยชน์ทางการเงิน เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่าอุปกรณ์ทั่วไป อย่างไรก็ดี การผลักดันให้เกิดการใช้งานพลังงานไฟฟ้าจะยิ่งส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้าขององค์กรสูงขึ้นและอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจมหภาค การใช้งานพลังงานสูง หรือแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีการผลิตไฟฟ้าต่ำ ดังนั้น องค์กรจึงจำเป็นต้องปรับอุปสงค์และต้นทุน หรือติดตั้งแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่พร้อมปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจด้วยพลังงานไฟฟ้าควบคู่กันไปด้วย