efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน เศรษฐกิจจีน: ความเสี่ยง & โอกาส ปี 2024 โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

เศรษฐกิจจีน: ความเสี่ยง & โอกาส ปี 2024

 

ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

เศรษฐกิจจีน: ความเสี่ยง & โอกาส ปี 2024

คงต้องยอมรับว่าสำหรับเศรษฐกิจจีน หลังจากเกิดวิกฤตโควิดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แทบจะยังไม่ได้ไปไหนอย่างชัดเจน หรืออาจจะเรียกได้ว่าหยุดอยู่กับที่ ก็พอจะพูดได้

 

จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนที่แล้ว เราเริ่มจะเห็นถึงแนวทางของทางการจีนชัดเจนมากขึ้นพอสมควรแม้จะยังไม่ทั้งหมด ซึ่งหากจะกล่าวในภาพรวมคือ หนึ่ง เน้นการส่งออกทั้งสินค้าและบริการ เนื่องจากปริมาณการผลิตสินค้าของจีนมีมากกว่าอุปสงค์ในประเทศจากการที่ชาวจีนเน้นการออมมากกว่าการบริโภค อันเป็นผลมาจากการขาดระบบบำนาญและประกันสุขภาพที่ดีพอ สอง เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มพลังงานสีเขียวและยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการให้ subsidies หรือเงินอุดหนุน เพื่อให้มีราคาที่ต่ำที่สุด โดยคุณภาพยังดีพอจะชนะคู่แข่งได้ และ ท้ายสุด การเอาจริงเอาจังในการแก้หรือบรรเทาปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความรุนแรงเนื่องจากเกิดขึ้นมานาน ด้วยการทุ่มเงินก้อนใหญ่พอสมควรให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไปซื้อหนี้เสียซึ่งประเมินว่ายังพอมีศักยภาพ เพื่อต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ

 

บทความนี้ จะขอกล่าวถึงโอกาสและความเสี่ยงของทางการจีนที่พยายามสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจจีน ดังนี้

 

1. (โอกาส) ความหวังที่จะเป็น New Engine of growth ประกอบด้วย 2 ปัจจัย ได้แก่

หนึ่ง การส่งออก version 2.0: คงต้องบอกว่าไม่ว่าจีนจะย่ำแย่หรือซึมเซามากขนาดไหนในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่ยังไว้ใจได้เสมอ นั่นคือการส่งออกที่ยังคงเป็นที่หนึ่งหากเทียบกับยักษ์ใหญ่ของในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยดุลการค้ากับสหรัฐ ถือว่ายังคงเกินดุลเป็นอย่างมาก ซึ่งเกินดุลในปีล่าสุดมากสุดเป็นประวัติการณ์เสียด้วยซ้ำ จนสหรัฐต้องตัดสินใจขึ้นกำแพงภาษีต่อจีนในกลุ่มสินค้าพลังงานสีเขียวและยานยนต์ไฟฟ้า แถมยังเรียกร้องให้ประเทศในยุโรปขึ้นภาษีตาม ทว่าได้รับการตอบรับที่ไม่ดีนัก

 

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลจีนเน้นการส่งออกดังกล่าว ได้สร้างประโยชน์ต่อประเทศจีน ใน 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติเศรษฐกิจ นั่นคือ การส่งออกที่เติบโตช่วยชดเชยการบริโภคของจีนที่ต่ำเพียง 35% เมื่อเทียบกับจีดีพี หรือเป็นแค่เพียงครึ่งหนึ่งของสัดส่วนการบริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว และนั่นเป็นเหตุผลที่อัตราการเติบโตของจีดีพีของจีนยังสามารถโตได้ 5% ในช่วงเวลานี้ 2. มิติสังคม ทำให้จีนสามารถแก้ปัญหาการบริโภคที่มีน้อยกว่าขนาดประเทศ จะไปส่งผลให้ภาคการผลิตหดตัวลงผ่านการส่งออกไปต่างประเทศ นั่นจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานซึ่งมีสูงค่อนข้างมากในกลุ่มคนเพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ และ 3. มิติการเมือง โดยการส่งออกจีน ซึ่งเป็นที่หนึ่งในกลุ่มพลังงานสีเขียวและกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าในเวทีโลก ช่วยสร้างภาพลักษณ์ในแง่การเมืองระหว่างประเทศว่าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในสาขาดังกล่าว

 

สอง การที่จะสามารถมีสินค้าด้านอุตสาหกรรมที่มีราคาถูกกว่าประเทศคู่แข่งในเวทีโลกได้ย่อมจะต้องมีการให้เงินหรือข้อได้เปรียบด้านต่างๆ อาทิ ด้านภาษีและกฎเกณฑ์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ต่อบริษัทของจีนเอง แน่นอนว่าสหรัฐและยุโรปเองก็ได้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทของตนเองเช่นกัน อย่างไรก็ดี ระบบและความลึกของการให้ความช่วยเหลือต่อบริษัทของตนเอง ยังถือว่ายังห่างชั้นกับจีน นั่นจึงทำให้ทางการสหรัฐหันมา ขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าหมวดเด่นๆ ของจีน พร้อมกับพยายามโน้มน้าวพันธมิตร อย่างยุโรป ให้ขึ้นกำแพงภาษีตามตนเอง

 

หันมาพิจารณาสิ่งที่ทางการจีนพยายามจะแก้ปัญหา ได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการใช้กลไกการซื้อหนี้เสียที่มีศักยภาพโดยตรงจากตลาด แม้จะเป็นการแก้ปัญหาตรงจุด ทว่าต้องใช้ทรัพยากรที่มากมายและเวลาที่ค่อนข้างนาน กว่าที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรมเกือบทั้งระบบ

 

2. ด้านปัญหา (ความเสี่ยง) ที่ยังมีอยู่ในระยะยาว คือ การบริโภคในประเทศที่มีน้อยไป และการออมที่มากไป ซึ่งทางการจีนรู้ดีว่า หากทำให้การบริโภคสูงขึ้น ผ่านการให้ค่าจ้างของชาวจีนสูงขึ้น จะเกิดความวุ่นวายทั้งในส่วนของการแก่งแย่งระหว่างกันของคนจีนด้วยกันเอง และทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของจีนย่ำแย่ลง จากต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้ จีนก็มีปัญหาต้นทุนสินค้าที่สูงกว่าคู่แข่งรายใหม่ๆ อย่างอินเดียและเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งจีนสามารถยังยิ่งใหญ่ด้านการส่งออกในทุกวันนี้ ก็จากอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการเป็นหลัก

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ปัญหาดังกล่าวแก้ได้ยาก เพราะจะทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมในระยะต่อไปตามมาด้วยนอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ

 

ท้ายสุด ปัญหาใหญ่ของจีนอยู่ตรงที่ ผลเชิงบวกจากการส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี อาจจะไม่มีพลังมากพอที่จะประคองเศรษฐกิจจีนได้ดีและนานพอ ก่อนที่จะรอจนการบริโภคสามารถขยับเพิ่มขึ้นมาทดแทน เนื่องจากมาตรการ Protectionism ด้านการส่งออกของสหรัฐและประเทศอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตร อาทิ ญี่ปุ่นและอินเดีย จะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงคู่แข่งด้านอุตสาหกรรมก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh