efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน 5 คำถามสำคัญที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวต้องถามตัวเองในปี 2565 โดย PWC .

โดย
PWC .

:PWC
.

5 คำถามสำคัญที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวต้องถามตัวเองในปี 2565

โดย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย

หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจครอบครัว  และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย

บริษัท PwC ประเทศไทย

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านดิจิทัล แรงงาน ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) ซึ่งปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้ธุรกิจครอบครัว (Family business) ต้องรู้จักที่จะดำเนินกิจการในรูปแบบใหม่อย่างรวดเร็วเพื่อฟันฝ่าวิกฤตในครั้งนี้

 

    นอกจากนี้  ผลกระทบจากปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ กระแสการลาออกครั้งใหญ่ของแรงงาน ความเสี่ยงจากการละเมิดความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน ยังถือเป็นความท้าทายที่บรรดาผู้นำธุรกิจครอบครัวจะต้องมีกลยุทธ์ในการรับมือและหาทางแก้ไขในเวลานี้ด้วย 

    ล่าสุด PwC ได้จัดทำบทความเรื่อง ‘Five questions private business leaders need to ask themselves in 2022’ โดยชูประเด็นคำถาม 5 ข้อที่เจ้าของกิจการธุรกิจครอบครัวจะต้องถามตนเอง รวมทั้งหาคำตอบให้กับองค์กรไปพร้อม ๆ กัน ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ โดยผมจะขอนำเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

 

1. ธุรกิจของตนมีแนวทางในการรับมือกับปัญหาเร่งด่วน โดยที่ยังคำนึงถึงสิ่งสำคัญที่จะมีผลต่อธุรกิจในระยะยาวได้ดีแค่ไหน?
    
    ขอยกตัวอย่าง ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นจากการลาออกครั้งใหญ่ของแรงงานและการกำหนดอัตรากำลังคนในระยะยาว ในปีที่ผ่านมา เราประเมินว่า การวางแผนกำลังคน จะเป็นวาระที่สำคัญในระยะยาว โดยการเข้ามาของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ทำให้เราแนะนำผู้นำธุรกิจครอบครัวให้กลับไปทบทวนขนาดของกำลังคนที่มีอยู่ว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์ในระยะยาวหรือไม่ 

    แต่หลังจากนั้นมา เกิดกระแสการลาออกครั้งใหญ่ ที่ส่งผลให้องค์กรทั่วโลกต้องรีบจ้างงานพนักงานใหม่มาทดแทน แต่แทนที่ผู้ประกอบการจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหาระยะสั้น ควรจะใช้เวลานี้ในการมองภาพใหญ่ เพื่อวางแผนกำลังคนของตนในระยะยาว โดยคิดล่วงหน้าถึงทักษะที่บริษัทต้องการในอนาคต แล้วเริ่มหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะที่ตอบโจทย์ธุรกิจมาทดแทนพนักงานเดิมที่ลาออกไป หรืออาจใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาทักษะเดิมและเพิ่มทักษะใหม่ให้แก่พนักงานปัจจุบัน

 

2. ใครในธุรกิจครอบครัวจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึง ESG?

    ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากยังคงประสบปัญหาในการระบุว่า ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลประเด็นที่มีความสำคัญต่าง ๆ ภายในองค์กร ต่างกับบริษัทจดทะเบียนที่มีการแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความยั่งยืน (Chief Sustainability Officer: CSO) เพื่อกำหนดกลยุทธ์ด้านอีเอสจีของบริษัท หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer: CTO) ที่คอยกำกับดูแลการลงทุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ยังอาจจะมองว่า ไม่มีความจำเป็น หรือมีงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดตั้งตำแหน่งดังกล่าวเหล่านี้

    ในส่วนของการวางแผนกำลังคน เราทราบกันดีว่า องค์กรส่วนใหญ่มีผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบฝ่ายงานอย่างชัดเจน แต่ในประเด็นอื่น ๆ เช่น ESG ที่ยังถือว่า เป็นเรื่องใหม่ จึงทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายงานนี้ ฉะนั้น ธุรกิจครอบครัวสามารถใช้โอกาสนี้ในการเปิดให้บุคลากรภายในองค์กรได้รับผิดชอบหน้าที่ใหม่ที่ต่างไปจากเดิม เช่น อาจแต่งตั้งให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) มาทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านอีเอสจี เพราะพวกเขามีประสบการณ์ในการวางระบบ กระบวนการตรวจสอบ ติดตามและรายงานผล แถมยังมีความเชี่ยวชาญในการบริหารต้นทุนและมีอำนาจในการบริหารเพียงพอที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

 

3. ธุรกิจครอบครัวจะหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้จากที่ไหน?

    หนึ่งในข้อเสียเปรียบของธุรกิจครอบครัวเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนทั่วไปคือ การเข้าถึงแหล่งผู้เชี่ยวชาญ ยกตัวอย่าง เช่น การจัดการผลกระทบของเงินเฟ้อ บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง มีนักเศรษฐศาสตร์ประจำองค์กร ไว้คอยช่วยศึกษาหาข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนากลยุทธ์ให้ธุรกิจสามารถรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ แตกต่างจากธุรกิจครอบครัวที่อาจจะประสบปัญหาในการหาวิธีรับมือ หรือแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเพราะขาดผู้เชี่ยวชาญ

    สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วธุรกิจครอบครัวจะหาข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญได้จากที่ไหน เพื่อมาช่วยในการตัดสินใจแบบเรียลไทม์ เราเชื่อว่า บทความชี้ว่า นี่คือโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในการสรรหาและจ้างบุคลากรที่มีทักษะใหม่ ๆ โดยวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนแรงงานอิสระที่พร้อมรับงานตามสัญญาเพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกิจครอบครัวสามารถใช้โอกาสนี้ในการจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะได้ง่ายกว่าในอดีต
นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวยังสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่ตนดำเนินกิจการอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สมาคมธุรกิจระดับท้องถิ่น หรือสถาบันการศึกษา ในการเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะตามความต้องการ หรือ อาจพิจารณาบุคลากรกลุ่ม NextGen หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่สำหรับทักษะด้านดิจิทัล (Digital native) เนื่องจากคนรุ่นนี้เติบโตมาในยุคดิจิทัลและมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ประเมินค่าไม่ได้

 

4. ธุรกิจครอบครัวจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การลงทุนในเทคโนโลยีจะสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ?
    
    แม้กระแสการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน และสกุลเงินดิจิทัล จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่ก็มาพร้อม ๆ กับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ความเร็ว ความสามารถในการปรับขนาด และการใช้พลังงาน  เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า และการทำธุรกิจบนระบบคลาวด์ ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีจำนวนมหาศาลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา 

    ธุรกิจครอบครัว มีข้อได้เปรียบในเรื่องของความคล่องตัวในการตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งต่างจากบริษัทจดทะเบียนที่ต้องชี้แจงเหตุผลของการลงทุนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว จึงมีความสามารถในการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในระยะยาวได้ง่ายกว่า โดยไม่ต้องชี้แจงผลตอบแทนจากการลงทุนในทันที

 

5. ธุรกิจครอบครัวจะหาผู้นำที่มีความหลากหลายเพื่อรับมือกับความท้าทายได้ที่ไหน และอย่างไร? 
    
    ธุรกิจครอบครัวจำเป็นที่จะต้องรูปแบบของความเป็นผู้นำในอดีตให้เข้ากับความต้องการที่ต่างไปจากเดิมในปัจจุบัน PwC ได้ระบุ รูปแบบของความเป็นผู้นำไว้ด้วยกันทั้งหมด 6 ประเภท โดยเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท หรือทีมผู้บริหารขององค์กร ธุรกิจครอบครัวจะต้องทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละบุคคล และหาส่วนผสมที่มาเสริมกันให้ได้อย่างลงตัว

 

    สุดท้าย หากธุรกิจครอบครัวสามารถหาคำตอบให้กับคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ได้ ก็จะช่วยให้ธุรกิจค้นพบแนวทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ได้อย่างยั่งยืนขึ้น เพราะคำถามเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการบริหารธุรกิจครอบครัวในยุคของการเปลี่ยนแปลง และยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสฉุกคิดและทบทวนธุรกิจของตนว่า จะต้องปรับปรุงในจุดใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล การวางแผนกำลังคนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การดึงมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจ ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืน รวมถึงพัฒนามุมมองใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคตและรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น

    

    
 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh