มหัศจรรย์ตลาดหุ้นอินเดีย
โลกในมุมมองของ Value Investor
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
มหัศจรรย์ตลาดหุ้นอินเดีย
ถ้าจะหาตลาดหุ้นที่มีโอกาสเติบโตระยะยาวเป็น 10 ปี ขึ้นไป นอกจากตลาดหุ้นเวียดนามที่ผมพูดและลงทุนมานานแล้วก็คือ ตลาดหุ้นอินเดียเพราะประเทศอินเดียนั้น มีองค์ประกอบทุกอย่างที่จะทำให้ตลาดหุ้นเติบโตระยะยาว
เรื่องแรกก็คือ อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก คือเป็นอันดับ 5 รองจากสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น และดังนั้น จึงมีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากที่จะมีความสามารถและมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างน้อยก็ในประเทศ ซึ่งทำให้เราสามารถเลือกลงทุนในบริษัทเหล่านั้นได้
ข้อสอง เศรษฐกิจอินเดียกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและก็เติบโตมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้วและก็จะเติบโตต่อไปอีกเป็นสิบ ๆ ปี เหตุก็เพราะว่าอินเดียมีปัจจัยหรือทรัพยากรในการเติบโตที่ครบถ้วนและจะอยู่ต่อไปอย่างน้อยสิบปีขึ้นไปนั่นก็คือ
1 อินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และการเพิ่มของประชากรก็ยังค่อนข้างจะสูงมาก และคนอินเดียโดยเฉลี่ยก็ยังอายุน้อยมาก ดังนั้น กำลังแรงงานของอินเดียที่จะเป็นคนทำงานเพิ่มการผลิตหรือเพิ่ม GDP ก็จะสูงมาก ว่าที่จริงถ้ามองย้อนหลังไป 20 ปี เศรษฐกิจอินเดียเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 6.4% ซึ่งรวมถึงปีซับไพร์มและช่วงปีโควิด 19 แล้ว
2 แม้ว่าคุณภาพของคนอินเดียโดยเฉลี่ยนน่าจะเป็นรองประเทศในย่านเอเชียตะวันออกอย่างจีนเกาหลีและญี่ปุ่น แต่การเพิ่มผลิตภาพหรือความสามารถในการทำงานโดยเฉพาะในช่วงที่รายได้ต่อหัวของคนยังน้อยก็น่าจะทำได้ดี เฉพาะอย่างยิ่งโดยการเพิ่ม “ทุน” เช่นเครื่องจักรและอุปกรณ์เข้าไปในการผลิตก็จะสามารถเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพของคนได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเติบโตของ GDP ก็จะเป็น “สองเด้ง” คือเพิ่มทั้งคนและประสิทธิภาพไปได้อีกนาน
3 ระบบการปกครองและด้านการบริหารเศรษฐกิจของอินเดียนั้น เอื้ออำนวยกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ข้อแรกก็คือ ประเทศเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมืองสูงมานานพอสมควร ที่สำคัญอินเดียเริ่มเปิดกว้างหรือปฏิรูปทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1991 โดยที่ก่อนหน้านั้นอินเดียจะใช้หลักการผลิตเองและใช้เองในประเทศเป็นหลักซึ่งก็ทำให้ประเทศไม่สามารถพัฒนาไปได้
หลังจากปี 1991 เศรษฐกิจของอินเดียก็เริ่มเติบโตดีขึ้นในระดับประมาณปีละ 4-5% และก็เร่งตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 2003 ที่น่าจะถึง “ยุคทองของอินเดีย” เศรษฐกิจเริ่มปรับฐานเป็นโตปีละประมาณ 8% ไม่นับปีวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดบ้าง แต่หลังจากนั้น ส่วนใหญ่ก็แค่ปีสองปี ก็จะกลับมาโตระดับ 7-8% ขึ้นไปตลอดจนถึงนาทีนี้ที่อินเดียอาจจะกำลัง “ท้าทายจีน” โดยเฉพาะเมื่อจีนก็เริ่มจะถึงจุด “อิ่มตัว” จากการที่คน “แก่ตัว” และมีจำนวนลดลงในช่วงเร็ว ๆ นี้
ดัชนีตลาดหุ้นอินเดียซึ่งก่อตั้งมานานมากแล้วนั้น หลังจากที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2003 ดัชนีตลาดหุ้นอินเดียก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับประมาณ 3,200 จุดที่นิ่งมา 5-6 ปี ก็วิ่งขึ้นแบบ “ติดจรวด” ถึงประมาณ 20,000 จุด ในช่วงเวลาประมาณ 4-5 ปีในช่วงปลายปี 2007 ก่อนที่จะร่วงลงมาอย่างแรงในช่วงวิกฤติซับไพร์ม ปี 2008 เหลือประมาณ 9,000 จุด หรือลดลง 55% ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากหุ้นโลกมากนัก อย่างไรก็ตาม ภายในเวลาเพียงปีเดียว ดัชนีก็กลับไปที่เดิม
และหลังจากนั้น หุ้นก็แทบจะวิ่งขึ้นไปแบบ “ม้วนเดียวจบ” เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 15 ปีเต็มที่ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นไปถึงประมาณ 71,600 จุดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในช่วงเวลานั้นรวมถึงวิกฤติโควิด 19 ที่ทำให้หุ้นตกลงมา 33% ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ถึงปีด้วย
โดยสรุปแล้ว ตั้งแต่ปี 2003 ที่เป็นจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงของอินเดียจากเศรษฐกิจปิดเป็นเศรษฐกิจเปิดและถือเป็นการเริ่ม “ยุคทอง” ของอินเดียคิดเป็นเวลาประมาณ 20 ปี ดัชนีหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นจาก 3,200 จุด เป็น71,600 จุด เพิ่มขึ้น 21 เท่าตัว หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้น 16.2% ต่อปี ถ้ารวมปันผลที่สมมุติว่า 3% ก็เท่ากับประมาณ 19% ต่อปีแบบทบต้น และน่าจะเป็นผลตอบแทนที่ดีระดับต้น ๆ ของโลกที่น่าจะหาได้ยากมาก
และถ้านับตั้งแต่ต้นปี 2009 คือช่วงที่เกิดซับไพร์มและดัชนีหุ้นตกลงมาเหลือ 8,300 จุด จนถึงวันนี้ที่ 71,600 จุด ดัชนีก็ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 15.3% หรือถ้ารวมปันผลก็ปีละไม่ต่ำกว่า 18% ซึ่งก็เป็นผลตอบแทนระดับโลกเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงตลาดหุ้นอินเดีย บางคนก็อาจจะดูว่าอินเดียทั้งประเทศนั้น “ใหญ่เกินไป” ในขณะที่หุ้นทั้งตลาดของอินเดียนั้นอาจจะมีขนาดเล็กและมีสภาพคล่องน้อยเกินไป การลงทุนทั้งตลาดน่าจะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น เราคงต้องมาดูเฉพาะกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดียที่มีสภาพคล่องสูงเช่นเดียวกับการบริหารงานของบริษัทที่มีมาตรฐาน และนั่นนำมาสู่การสร้างและลงทุนในดัชนีหุ้นเฉพาะกลุ่มที่รู้จักกันในนามของหุ้น “NIFTY 50” ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 50 ตัวของตลาดหุ้นอินเดียที่มีการปรับน้ำหนักตาม Free Float หรือสภาพคล่องของการซื้อขายหุ้นด้วย
ดัชนี NIFTY 50 ในวันหลังจากปีซับไพร์มคือต้นปี 2009 อยู่ที่จุดต่ำสุดประมาณ 2,620 จุด แต่หลังจากนั้นมันก็ปรับตัวขึ้นแบบ “ม้วนเดียวจบ” จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2524 ขึ้นไปเป็น ประมาณ 21,700 จุด ปรับขึ้นไปประมาณ 7 เท่า หรือขึ้นไป 15.1% ต่อปีแบบทบต้น ซึ่งถ้ารวมปันผลซัก 3% ต่อปีก็จะเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่ปีละ 18% เป็นเวลาติดต่อกันถึง 15 ปี นับว่าเป็นผลตอบแทนที่ “ดีสุดยอด” ระดับต้น ๆ ของโลก
ที่ยอดเยี่ยมกว่าตลาดหรือดัชนีอื่นนั้น ผมคิดว่ายังอยู่ที่ความสม่ำเสมอของผลตอบแทนที่จะเป็นตัวบอกถึงความเสี่ยงของการลงทุนก็คือ ผลตอบแทนรายปีของ NIFTY 50 นั้น มีความผันผวนน้อยมากและปีที่ติดลบหรือขาดทุนตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบันจำนวน 15 ปีนั้น มีเพียง 2 ปี และปีที่ขาดทุนสูงสุดนั้นก็เพียง 24.6% ในปี 2011 ขณะที่อีกปีที่ขาดทุนในปี 2015 ก็ติดลบเพียง 3.8% ว่าที่จริงถ้ามองย้อนหลังไปไกลถึงปี 2003 ที่เริ่ม “ยุคทองของตลาดหุ้นอินเดีย” นั้น จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 21 ปี ดัชนี NIFTY 50 ติดลบเพียง 3 ปี เท่านั้น คือเพิ่มปีวิกฤตซับไพร์ม 2008 เข้าไปอีกปีหนึ่ง
ทั้งหมดนั้นก็เป็น “ข้อมูลใหม่” ของผมที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยสนใจตลาดหุ้นอินเดีย เพราะผมคิดว่าอินเดียยัง “ยากจนเกินไป” ที่จะเหมาะสมกับการลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งเป็นโลกของประเทศที่ต้อง “ร่ำรวยระดับหนึ่ง” ก่อนที่ตลาดหุ้นจะพัฒนาขึ้นถึงระดับที่ลงทุนได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ คนจะต้องรวยพอที่จะมีเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องเป็นราว อย่างสำนวนไทยที่ว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น”
อย่างไรก็ตาม อินเดียอาจจะเป็นประเทศที่มีความแตกต่างของความมั่งคั่งของคนมาก และเนื่องจากมีประชากรมาก ดังนั้น คงจะมีคนอินเดียที่ร่ำรวยพอที่จะลงทุนจำนวนเป็นล้าน ๆ หรือเป็นหลายร้อยล้านคนที่เรียกว่าเป็น “คนชั้นกลาง” ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ตลาดหุ้นคึกคักอย่างที่กำลังเป็นอยู่ ดังนั้น ผมอาจจะต้องเริ่มคิดว่า อินเดียอาจจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่เป็นเป้าหมายให้เข้าไปลงทุนได้เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ผมกำลังศึกษาอยู่
สุดท้ายก็คือ ผมก็คงไม่รีบร้อนหรือกลัวว่าจะ “ตกรถ” ขบวนอินเดียที่วิ่งมาอย่างเร็วมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ เพราะถ้าตัดสินใจผิด ก็อาจจะหกล้มถลอกปอกเปิกได้ ผมชอบลงทุนเวลาที่ทุกอย่างเย็นลงและคนไม่สนใจจะไปหรือกำลังกลัวว่ารถจะตกเหว เพราะในเวลาอย่างนั้น “ตั๋วชั้นหนึ่ง” ที่จะไปก็จะลดราคาและถูกลงมาก