แนวทางการรับมือและผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีสำหรับนิติบุคคล
"นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย" หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย PwC ประเทศไทย
"วริษฐา นามศิริพงศ์พันธุ์" ผู้จัดการอาวุโส PwC ประเทศไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่า กรมสรรพากรไทยใช้วิธีการจัดเก็บภาษีแบบประเมินตนเอง (self-assessment) โดยนิติบุคคลในฐานะผู้เสียภาษี มีหน้าที่ในการประเมินภาระภาษีของตนเอง และยื่นแบบแสดงรายการภาษีแต่ละประเภทต่อกรมสรรพากรตามกำหนดเวลา ด้วยเหตุนี้ ทางกรมสรรพากรจึงต้องมีการตรวจสอบและกำกับดูแลกระบวนการดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยปัจจุบันกรมสรรพากรได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการคัดเลือกนิติบุคคลที่จะถูกตรวจสอบ ส่งผลให้ผู้เสียภาษีมีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบภาษีมากกว่าที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
* ความท้าทายในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านภาษี
จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการให้คำปรึกษาทางภาษีแก่ผู้ประกอบการ พบว่า นิติบุคคลในประเทศไทย มักเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง เนื่องมาจากสาเหตุหลักดังต่อไปนี้
1. ขาดระบบควบคุมภายในที่ดี
โดยทั่วไป บริษัทมักมอบหมายให้แผนกบัญชีรวบรวมข้อมูลจากแผนกต่าง ๆ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการคำนวณและนำส่งภาษีของบริษัท อย่างไรก็ดี เมื่อขาดระบบควบคุมภายในที่ดี ข้อมูลที่แผนกบัญชีได้รับอาจไม่ครบถ้วน หรือไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ส่งผลให้แผนกบัญชีหรือภาษี หรือผู้บริหารของบริษัท ไม่อาจสามารถตัดสินใจและเลือกใช้วิธีปฏิบัติทางภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในท้ายที่สุด อาจส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดด้านภาษีได้
สำหรับประเด็นความผิดพลาดทางภาษีซึ่งเกิดจากการควบคุมภายในไม่เพียงพอที่มักพบบ่อยมีดังต่อไปนี้
- การเฉลี่ยรายได้และรายจ่ายสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ไม่เป็นไปตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากร
- การไม่จำแนกประเภทรายได้ออกเป็นรายได้ที่อยู่ในบังคับ และไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเรียกเก็บ มาใช้เป็นภาษีซื้อของกิจการ โดยไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย เช่น นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกี่ยวกับค่ารับรอง หรือรถยนต์นั่ง มาใช้เป็นภาษีซื้อ
- การไม่หักนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินได้ไปยังต่างประเทศ หรือหักนำส่งแล้ว แต่หักไว้ในอัตราที่ไม่ถูกต้อง
- การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือผู้ใช้บริการ โดยมิได้พิจารณาว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีหรือไม่ ส่งผลให้ผู้ออกใบกำกับภาษีเองมีความเสี่ยงในการกระทำความผิดฐานออก
- ใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก และผู้รับใบกำกับภาษีไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มบนใบกำกับภาษีดังกล่าวไปใช้เป็นภาษีซื้อได้
- การนำรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี มาใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีเงินได้นิติบุคคล
การไม่ติดอากรแสตมป์บนตราสารที่อยู่ในบังคับต้องติดอากร เช่น สัญญาจ้างทำของเนื่องจากบริษัทไม่มีระบบในการตรวจสอบควบคุมว่า มีสัญญาที่บริษัททำขึ้นระหว่างปีซึ่งเข้าข่ายเป็นตราสารที่ต้องติดอากรแสตมป์หรือไม่ และมูลค่าสินจ้างที่จะได้รับ หรือคาดว่าจะได้รับจากตราสารมีจำนวนเท่าใด รวมไปถึงการติดอากรแสตมป์ขาดไป เนื่องจากไม่มีระบบการตรวจสอบควบคุมว่า เมื่อติดอากรบนตราสารแล้ว มีการรับเงินค่าจ้างจริงเกินกว่าประมาณการค่าสินจ้างที่เคยเสียอากรแสตมป์แล้ว ซึ่งต้องเสียอากรเพิ่มหรือไม่
2. ขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานด้านภาษีอากร เนื่องจากเปลี่ยนแปลงพนักงาน
การเปลี่ยนแปลงพนักงานที่รับผิดชอบส่วนงานด้านภาษีอากรในแต่ละครั้ง อาจส่งผลให้การปฏิบัติงานด้านภาษีอากรขาดความต่อเนื่อง และแนวปฏิบัติทางภาษีของบริษัทอาจไม่มีความสอดคล้องหรือเกิดความผิดพลาด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบและตั้งคำถามจากกรมสรรพากรได้
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทสามารถใช้วิธีการ ดังต่อไปนี้
- จัดทำคู่มือทางภาษี (tax manual) ที่ครอบคลุม: คู่มือนี้ควรกำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติทางด้านภาษีอากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของบริษัทอย่างชัดเจน
- กำหนดให้มีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายงาน (transition period) สำหรับพนักงานใหม่: วิธีการนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่า พนักงานใหม่จะสามารถเรียนรู้แนวทางปฏิบัติด้านภาษีของบริษัท หน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ได้อย่างราบรื่น
ด้วยการใช้วิธีการดังกล่าวนี้ จะช่วยให้การดำเนินการด้านภาษีของบริษัทมีความสอดคล้อง ต่อเนื่อง และถูกต้องมากยิ่งขึ้น แม้ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากร
3. ขาดการจัดเก็บข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำกระดาษทำการกระทบยอดและเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นภาษี
นอกเหนือจากความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านภาษีแล้ว บริษัทหลายแห่งยังประสบปัญหาในการจัดเตรียมกระดาษทำการกระทบยอดและเอกสารประกอบการยื่นภาษี เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรร้องขอระหว่างการตรวจสอบภาษีหรือตรวจเยี่ยมกิจการ เนื่องจากการจัดทำกระดาษทำการกระทบยอดส่วนใหญ่ ต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ในการจัดเตรียมกระดาษทำการกระทบยอดรายได้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) บริษัทจะต้องกระทบยอดระหว่างรายได้ที่บันทึกในระบบบัญชี กับรายได้ที่ยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือบริษัทอาจต้องดึงข้อมูลจากใบขนสินค้าขาออกมาใช้ในการกระทบยอดมูลค่าสินค้าส่งออกตามระบบกรมศุลกากร กับรายได้ที่บริษัทยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.ง.ด. 50 และ ภ.พ. 30
ดังนั้น การออกแบบแผนผังทางบัญชี หรือกระบวนการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพเพื่อตรวจสอบติดตามรายการที่เป็นรายการกระทบยอด (reconciling items) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถอธิบายถึงที่มาหรือสาเหตุของผลแตกต่างใด ๆ ที่เกิดขึ้นในรายการกระทบยอดได้ และลดความเสี่ยงในการถูกประเมินภาษีเพิ่มเติมเนื่องจากผลแตกต่างที่ไม่สามารถอธิบายได้
* บทลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษี
หากผู้เสียภาษีถูกตรวจสอบและพบว่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอย่างถูกต้อง ผู้เสียภาษีอาจถูกกรมสรรพากรประเมินภาษีที่ชำระขาดไป พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามอัตราที่กำหนดไว้ของภาษีแต่ละประเภท รวมไปถึงประเด็นความผิดที่ถูกตรวจพบ โดยอัตราสูงสุดของเบี้ยปรับทางภาษีเริ่มต้นตั้งแต่ 1 เท่าไปจนถึง 2 เท่าของภาษีที่ชำระขาด ส่วนเงินเพิ่มในกรณีทั่วไปนั้นจะอยู่ที่อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ชำระขาดไปและต้องนำส่งต่อกรมสรรพากร
นอกเหนือจากเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว บางประเด็นความผิดอาจมีโทษปรับทางอาญาตามมาด้วย เช่น กรณีออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก อาจมีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท หรือต้องระวางโทษจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ
*อายุความในการประเมินภาษี
อย่างไรก็ดี เจ้าพนักงานสามารถออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของภาษี โดยทั่วไปอายุความในการประเมินภาษีมีกำหนดเวลา 10 ปี เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น การออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต้องกระทำภายใน 2 ปีนับจากวันยื่นแบบ (ขยายเวลาได้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี เมื่อมีเหตุอันสมควร) ส่วนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จะต้องดำเนินการภายใน 2 ปี, 5 ปี หรือ 10 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด
คุณผู้อ่านจะเห็นได้ว่า การกระทำความผิดทางภาษีอาจส่งผลให้ผู้เสียภาษีถูกประเมินภาษีย้อนหลัง พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในจำนวนที่สูงกว่าจำนวนภาษีที่ชำระขาดไปในตอนแรกเสียอีก และจำนวนภาษีที่ถูกประเมินเพิ่มในบางครั้ง ก็อาจจะมากเสียจนผู้เสียภาษีนั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการแสดงแบบรายการและชำระภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายภาษีอากร (tax compliance) รวมไปถึงการจัดเตรียมเอกสารประกอบการยื่นภาษีที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อการยื่นแบบที่ราบรื่นและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบของกรมสรรพากรเมื่อมีการร้องขอ
สำหรับบทความในครั้งต่อไป เราจะขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกำกับดูแลทางภาษี (tax governance) รวมไปถึงการรวบรวมข้อมูล และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติทางภาษีของผู้ประกอบการ