efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน ความเสี่ยงการลงทุน ครึ่งหลังปี 2024 โดย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

โดย
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

:.
.

ความเสี่ยงการลงทุน ครึ่งหลังปี 2024


ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

 

ในครึ่งหลังของปี 2024 ผมมองว่าโลกแห่งการลงทุนถือว่ามีความเสี่ยงที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยผมแบ่งออกเป็น 5 ความเสี่ยง ดังนี้

 

1.โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ

ดูเหมือนว่าโอกาสที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งใหญ่สหรัฐในช่วงปลายปีนี้จะมีสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ถือว่าทำผลงานได้ย่ำแย่มากในการดีเบตครั้งแรกกับทรัมป์ และศาลสหรัฐได้ลดโทนความเข้มข้นของคำตัดสินต่อคดีด้านความมั่นคงสำหรับเหตุการณ์ความวุ่นวายกลาง Capitol Hills ของผู้ประท้วงที่หนุนทรัมป์เมื่อเดือนมกราคม 2021 โดยความเสี่ยงของการที่ทรัมป์จะกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง มีอยู่ 3 มิติ ได้แก่

 

หนึ่ง เพิ่มความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกให้มีสูงขึ้น จากการที่ทรัมป์มีความใกล้ชิดกับวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งจะทำให้สงครามในยูเครนมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดความไม่แน่นอนต่อจุดยืนของสหรัฐในสงครามตะวันออกกลาง รวมถึงมีความห่างเหินกับเหล่าพันธมิตรเดิมของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป

 

สอง ความไม่แน่นอนสำหรับความเป็นอิสระของธนาคารกลางสหรัฐ

แม้ว่าเจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะได้รับการแต่งตั้งจากโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศสหรัฐ ทว่าสำหรับท่าทีล่าสุดของทรัมป์ คือการหาช่องทางที่จะปลดพาวเวลออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่าพาวเวลได้ดำเนินนโยบายการเงินในช่วงปีนี้ เพื่อช่วยให้ไบเดนมีคะแนนเสียงเยอะขึ้น นอกจากนี้ ยังเห็นว่าเฟดควรจะภายใต้คำสั่งของรัฐบาลมากกว่ามีความเป็นอิสระ เนื่องจากจะทำให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ดีกว่า แน่นอนว่าความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจย่อมจะมีสูงขึ้นจากจุดนี้

 

สาม ความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของเสถียรภาพด้านการคลังสหรัฐในระยะยาว

จุดเด่นของนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์คือการลดภาษีให้กับภาคธุรกิจ โดยที่แทบจะไม่ตัดลดงบประมาณการใช้จ่ายลง ซึ่งนั่นจะทำให้อัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีของสหรัฐที่ตอนนี้ ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้วให้มีความเสี่ยงด้านการคลังสูงขึ้นไปอีก โดยสิ่งนี้จะเป็นการสร้างความกดดันให้กับเฟดที่จะไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยให้สูงอย่างที่ต้องการได้ เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยจ่ายของรัฐบาลสูงเกินกว่าที่เศรษฐกิจจะรองรับได้ในอนาคต

 

2. เศรษฐกิจสหรัฐเกิด No Landing

ในขณะนี้ มุมมองของตลาดต่อการปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดคือการลดดอกเบี้ยในปีนี้ที่ 1-2 ครั้ง โดย Timing ของการเริ่มลดครั้งแรกนั้น อาจจะมีแค่ความเห็นที่แตกต่างกันว่าจะเป็นระหว่างก่อนหรือหลังเลือกตั้งผู้นำสหรัฐเท่านั้น โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะมีอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงจากระดับปัจจุบันที่ราว 3% ต่ออีก รวมถึงตลาดแรงงานกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐจะลดความร้อนแรงลงจากในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้เป็นลำดับ หรือที่เรียกกันว่า Soft Landing

 

อย่างไรก็ดี หากว่าทั้งอัตราเงินเฟ้อและตลาดแรงงานยังคงทรงๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ หรือเรียกกันว่าเกิด No Landing นั่นจะทำให้เฟดชะลอการลดดอกเบี้ยออกไปจากปีนี้อีก ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดความเสี่ยงต่อทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ทั่วโลกที่จะไม่สามารถคาดเดาช็อตถัดไปของเฟดว่าจะเอายังไงต่อสำหรับแนวโน้มของนโยบายการเงินสหรัฐในอนาคต

 

3. แบงก์ชาติญี่ปุ่นมีโอกาสสะดุดสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไป

หลังจากที่คาซึโอะ อูเอดะ ผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นได้ทำการปิดยุคแห่งอัตราดอกเบี้ยติดลบ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีเมื่อช่วงต้นปีนี้ คงต้องยอมรับว่าสิ่งที่คาดไม่ถึง คือค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึงกว่า 7% นับตั้งแต่การประกาศขึ้นดอกเบี้ย โดยส่วนหนึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของตลาดต่อแนวทางการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของญี่ปุ่นว่าจะดำเนินไปอย่างราบรื่นแบบตลอดรอดฝั่งหรือไม่

 

ทว่าในอีกมุมหนึ่ง คือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นกับประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ อาทิ สหรัฐ และยุโรป ถือว่ายังคงกว้างอยู่ จึงน่าจะทำให้แบงก์ชาติญี่ปุ่นต้องการจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนเองต่อไปในปีนี้ เพื่อลดขนาดของช่องว่างดังกล่าว รวมถึงเป็นการสกัดอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่ถือว่ายังสูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า แม้ว่ายังคงมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นมีโอกาสจะลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ก็ตามที

นั่นจึงทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติญี่ปุ่น ดูจะมีความเสี่ยงอยู่ในระดับหนึ่งหากเกิดขึ้นจริงในปีนี้

 

4. รัฐบาลจีนไม่ออกนโยบายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและตลาดทุนจีนดังที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราได้เห็นสัญญาณจากทั้งผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน พาน กง เซิน และ นายกรัฐมนตรีจีน หลี เฉียง ว่าในอนาคตอันใกล้จะมีการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ตามลำดับ เพื่อให้เศรษฐกิจจีนคึกคักขึ้น ทว่าหลังจากนั้น ข่าวดังกล่าวก็ค่อยๆ ซาลง โดยที่ไม่มีการขานรับคอนเฟิร์มแบบชัดเจนจากผู้นำจีน สี จิ้น ผิง แต่อย่างใด แม้ว่าจะมีข่าวว่าทางการจีนโดยธนาคารกลางจีนเตรียมจะกู้เงินเพื่อทำการซื้อพันธบัตรระยะยาวโดยหวังกดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของจีนให้ต่ำลง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะที่คล้ายคลึงกับมาตรการ QE ของเฟดในอดีต ซึ่งตรงนี้ คงต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่

 

5. สหภาพยุโรปเสี่ยงว่าจะป่วนหรือไม่? จากการที่พรรคแนวคิดฝ่ายซ้ายและขวาจัดขึ้นมาสู่การมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้น

โดยกระแสการเมืองของประเทศต่างๆ ในยุโรป ดูเหมือนจะค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่ในแบบที่ออกแนวที่ไม่เอาการรวมศูนย์เป็นสหภาพยุโรปมากขึ้นอย่างชัดเจนมาก โดยเห็นได้้จากการเลือกตั้งใหญ่ฝรั่งเศสในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า พันธมิตรกลุ่มพรรคฝ่ายซ้ายภายใต้ชื่อใหม่ NFP ของ ฌอง ลุค เมเลนคอนได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจนมีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภาของฝรั่งเศส หรือ พรรคแนวขวาจัดของนายกรัฐมนตรีอิตาลี จิโอเจีย เมโลนี ที่กำลังจะมีอำนาจในสภายุโรปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ล้วนก่อความเสี่ยงต่อความเป็นเอกภาพในการดำเนินนโยบายของสภาของยุโรป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงต่อการลงทุนในครึ่งหลังของปีนี้เช่นกัน







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh