3 ทหารเสือการเงินแห่งเมืองผู้ดี
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
[email protected]
3 ทหารเสือการเงินแห่งเมืองผู้ดี
สัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวใหญ่จากอังกฤษว่าด้วยการจากไปของไนเจล ลอว์สัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคลัง สมัยอดีตผู้นำมาร์กาเร็ต แธชเชอร์ โดยลอว์สันอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวนานที่สุดเป็นอันดับสอง รองจาก กอร์ดอน บราวน์ โดยในยุคนั้น ว่ากันว่ามี 3 ทหารเสือการเงินเมืองผู้ดี ยุค Iron lady ดังนี้
เริ่มจาก ไนเจล ลอว์สันเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคลังในปี 1983 และสามารถลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาลงจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 25 รวมถึงลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดจากร้อยละ 60 เหลือร้อยละ 40
ที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดง ได้แก่ สิ่งที่เรียกกันว่า Big Bang ในปี 1986 ด้วยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ของตลาดการเงินและตลาดทุนในลอนดอน จนทำให้ลอนดอนได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลก ทว่าในปี 2010 เขาก็ได้ยอมรับเองว่า Big Bang มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008
โดยลอว์สัน มีฉายาว่า Lawson Boom เนื่องจากนโยบาย Big Bang ของเขาในปี 1986 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษเติบโตได้ดีในปี 1987 รวมถึงอัตราการว่างงานลดลงกว่าครึ่ง ทว่าช่วงฮันนีมูนดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อในปี 1988 อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8 และอัตราดอกเบี้ยทะยานขึ้นถึงร้อยละ 15 โดยมีกล่าวกันว่า Big Bang ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้
มาถึงเสือตัวที่สอง ได้แก่ อลัน วอล์เตอร์ส อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของแธชเชอร์ ว่ากันว่านักเศรษฐศาสตร์ฝั่งอังกฤษที่ดีที่สุดในยุค 70 ต้องมีชื่อของวอล์เตอร์สปรากฎอยู่ในลิสต์เสมอ ว่ากันว่า หากอเมริกามีมิวตัน ฟรีดแมน ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดเศรษฐกิจของริชาร์ด นิกสันแล้ว อังกฤษก็มี อลัน วอล์เตอร์ส ที่อยู่เบื้องหลังแนวทางเศรษฐกิจของมาร์กาเร็ต แธชเชอร์
แม้วอล์เตอร์สจะไม่ได้มาทางสายเศรษฐศาสตร์การเงินตั้งแต่แรก ทว่าเขาได้นำแนวทางเศรษฐศาสตร์จุลภาคและขนส่งไปประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์สาขาอื่นๆ ตลอดชีวิตการทำงาน โดยผลงานและความสนใจของวอล์เตอร์สเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเงินแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก เขามีผลงานด้าน Empirical เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ของเงินกับตัวทวีคูณของเงิน ช่วงที่สอง เกี่ยวกับบทบาทของเงินต่อวัฏจักรธุรกิจ และท้ายสุดในช่วงที่เขามาช่วยรัฐบาลอังกฤษ เกี่ยวกับนโยบายการเงินกับเศรษฐศาสตร์ฝั่งอุปทาน
โดยในช่วงที่แธชเชอร์เข้ามารับตำแหน่งผู้นำอังกฤษในปี 1979 นั้น เศรษฐกิจอังกฤษขับเคลื่อนด้วยแนวทางการอุดหนุนของรัฐต่ออุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาทิ เหมืองถ่านหิน ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของเคนส์ ที่เชื่อว่ารัฐรู้ดีกว่าภาคเอกชนในการที่จะนำประเทศเดินหน้าทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งมีสหภาพแรงงานจากอุตสาหกรรมต่างๆ ออกมาประท้วงอย่างมากมายในช่วงนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำและเกิดภาวะเงินเฟ้อ
เมื่อวอล์เตอร์สเข้ามาแนะนำแนวทางเศรษฐกิจต่อแธชเชอร์ เขาเสนอให้เศรษฐกิจเป็นไปแบบกลไกเสรี ให้มีการแข่งขันในภาคเอกชน โดยพยายามให้บทบาทของรัฐที่จะเข้าไปแทรกแซงเศรษฐกิจให้มีน้อยที่สุด จึงทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 1979 ของแธชเชอร์ มีการลดค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจต่างๆ จนกระทั่งมีการขายกิจการของรัฐในหลายภาคส่วนให้เป็นของเอกชน (Privatization) รวมถึงมีการลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในเวลาต่อมา โดยหันไปขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชดเชยแทน
นอกจากนี้ มีการนำแนวคิดการเงินนิยม หรือ Monetarism หรือใช้ปริมาณเงินเป็นเครื่องมือหลักเพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจ โดยในช่วงแรก เขาแนะนำให้ใช้ปริมาณเงิน M3 หรือเงินสดและเงินฝากทุกประเภทของธนาคารเป็นตัวปริมาณเงินที่ควรติดตาม
โดยในช่วงแรก ด้วยนโยบายของวอล์เตอร์สในยุคนางสิงห์เหล็กแธชเชอร์ ได้ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษกลับมาเติบโตได้ดี ทว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายของทศวรรษ 80 ปรากฏว่าเกิดภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอีกครั้ง โดยวอล์เตอร์สพยายามโน้มน้าวให้ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางอังกฤษใช้ฐานเงิน (Monetary Base) หรือเงินสดนอกธนาคาร และเงินสำรองของสถาบันการเงิน มาเป็นเครื่องมือแทน M3 ทว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐเท่าที่ควร อันนำมาซึ่งความตกต่ำของความนิยมของรัฐบาลแธชเชอร์ในเวลาต่อมา
สำหรับไฮไลท์ของวอล์เตอร์สในยุคแธชเชอร์ คือ แนวคิด Walters Critique ที่ได้ระบุว่าหากประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงใช้เงินตราแบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นสกุลร่วมกับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ จะทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นสำหรับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงอยู่แล้ว และจะเกิดภาวะเงินฝืดสำหรับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และด้วยทิศทางเงินเฟ้อที่ตรงกันข้ามกันของทั้ง 2 ประเทศ จะส่งผลให้การใช้เงินสกุลร่วมกันดังกล่าวต้องยุติลง โดยทางที่ดีกว่า คือทั้ง 2 ประเทศ ควรจะมีอิสระในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของตนเอง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้มาร์กาเร็ต แธชเชอร์ ผู้นำอังกฤษตัดสินใจชะลอการเข้าร่วม Exchange Rate Mechanism (ERM) ที่จะใช้เงินสกุลร่วมกันกับยุโรปในปี 1987 เนื่องจากอังกฤษในยุคนั้นมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าประเทศในยุโรปโดยส่วนใหญ่ และด้วยเหตุการณ์นี้ ที่ส่งผลให้ ไนเจล ลอว์สัน ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในเดือนตุลาคม 1989 จากนั้นอีกไม่นาน ตัววอล์เตอร์สเองก็ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของแธชเชอร์เช่นกัน
แล้วก็มาถึงเสือตัวที่สาม ได้แก่ เจฟฟรีย์ ฮาว อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคลังและกระทรวงต่างประเทศ
โดยฮาวมีส่วนเป็นอย่างมากที่มำให้แธชเชอร์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1979 และเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ในปี 1983 จนทำให้ฮาวขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ทว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดกับแธชเชอร์ในการนำอังกฤษเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป โดยฮาวต้องการให้อังกฤษเป็นสมาชิก ทว่าแธชเชอร์อยากให้อังกฤษอยู่นอกสหภาพยุโรป ได้ส่งผลให้ฮาวไม่กินเส้นกับอดีตผู้นำอังกฤษในช่วง 2 ปีสุดท้ายในวาระผู้นำของนางสิงห์เหล็กแห่งเมืองผู้ดี
โดยว่ากันว่า ฮาวเป็นทั้งผู้ที่กรุยทางให้แธชเชอร์ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ และได้ทำให้เธอต้องลงจากตำแหน่งผู้นำเช่นกัน หลังจากที่ฮาวลาออกจากตำแหน่ง ต่อจากลอว์สันและวอล์เตอร์สนั่นเอง